fbpx

ยูซุฟ สุขถาวร : เกษตรกรเปี่ยมศรัทธา

yusuf

ฉากหน้าของกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่ไม่เคยหลับใหล เราอาจมองเห็นแค่เพียงเมืองที่เต็มไปด้วยตึกระฟ้า ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ รวมไปถึงธุรกิจร้านค้าน้อยใหญ่

อาจมองเห็นแค่เพียงถนนหนทางและรถราที่ขวักไขว่จอแจ เราอาจมองเห็นเมืองที่ผู้คนที่เร่งรีบและเบียดเสียด เมืองที่ผู้คนบริโภคกันอย่างบ้าคลั่ง แก่งแย่งชิงดี เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งชีวิตที่ดีกว่าตามนิยามของโลกสมัยใหม่ที่ถูกครอบด้วยแนวคิดบริโภคนิยม

ขณะที่คนไม่มีดิ้นรนเพื่อที่จะมี คนมีน้อยต่อสู้เพื่อให้มีมากขึ้น คนที่มีมากแล้วกลับยังไม่เคยรู้จักคำว่าพอ ทุกคนต่างดิ้นรนเพื่อครอบครองจนอาจหลงลืมไปแล้วว่า อะไรคือความต้องการที่แท้จริงของชีวิต

ท่ามกลางความเจริญเติบโตของกรุงเทพมหานคร เมืองที่กระแสทุนนิยมเข้ายึดกุมพื้นที่แทบทุกตารางเมตรเช่นนี้ แทบไม่น่าเชื่อว่า ในมุมหนึ่งของเมืองหลวงแห่งนี้ยังคงมีเกษตรกรที่ใช้ชีวิตเรียบง่ายอย่างมีความสุขซุกซ่อนอยู่

ลุงยูซุฟ หรือประเสริฐ สุขถาวร เกษตรกรวัย 60 ปีเศษ มุ่งมั่นในการทำเกษตรอินทรีย์ที่สอดคล้องตามหลักศาสนาอิสลามมากว่าสิบปี จนได้รับการแต้งตั้งให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย สาขาการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จากกระทรวงศึกษาธิการ

ลุงยูซุฟเป็นคนพระรามเก้าโดยกำเนิด แต่มาทำสวนเกษตรอยู่ที่หนองจอกด้วยเหตุผลเพราะความอบอุ่นของพี่น้องมุสลิมที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่แห่งนี้

ปัจจุบันลุงยูซุฟยังคงมีที่ดินย่านพระรามเก้าอีกหลายไร่ หากนับเป็นมูลค่าคงเรียกแกว่าเศรษฐีได้อย่างไม่เคอะเขิน แต่อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ลุงยูซุฟยังคงเลือกดำเนินชีวิตในวิถีเรียบง่ายเช่นนี้อยู่ ย่อหน้าถัดไปมีคำตอบครับ

 

ลุงทำเกษตรมากี่ปีแล้ว

ทำเกษตรมาตั้งแต่เกิด เดิมอยู่ที่พระรามเก้าตรงด่านเก็บเงิน ตอนนี้พื้นที่แถวนั้นก็เป็นทำเลทองหมดแล้ว เดิมผมทำนาอยู่ พอไม่ดีแล้วก็เปลี่ยนมาทำบ่อเลี้ยงปลาเมื่อตอนปี 2525 ตอนนั้นยังไม่มีถนนพระรามเก้าเลย เป็นที่ตาบอดทั้งหมด พอปี 2526 ก็เกิดน้ำท่วม ปลาที่เลี้ยงไว้ก็ไหลไปตามน้ำ เข้าตามบ้านในหมู่บ้านบ้านเสรี เหตุเพราะเราจัดการอะไรไม่ทัน น้ำมาเร็วมากเราเตรียมตัวอะไรไม่ทัน น้ำเริ่มมาทางศรีนครินทร์ก่อน หน้ารามนี่เขากันเอาไว้ พอมากๆ ขึ้นเริ่มข้ามทางรถไฟ เข้าศรีนครินทร์ แล้วทางหน้ารามก็พังมา ภายใน 2 วัน จมลึกเป็นเมตรเลย แล้วปลาที่มีอยู่ในบ่อก็ไปหมดเลย ตอนนั้นเลี้ยงปลานิลได้สัก 7 เดือนแล้ว ใกล้จะขายได้แล้ว เรียกได้ว่าเสียหายทั้งหมด ชาวบ้านแถวนั้นเอาตาข่ายมาดักหน้าบ่อเลย เราก็ทำอะไรไม่ได้ แต่อีกบ่อตรงหมู่บ้านพลเทพ ซ.พัฒนาการ 54 ที่นั่นไม่ได้รับความเสียหายเลย เพราะน้ำค่อยๆ มา เราเตรียมรับมือทัน เราก็กั้นได้ คือเราคาดการณ์ได้ว่าเมื่อไหร่น้ำจะขึ้นมาท่วม เราก็กั้นบ่อก่อนที่น้ำจะท่วม เทคนิควิธีการกั้นเราก็จะมีวิธีของเรา คือเจาะร่องไปแล้วเอาดินมาทับ เหยียบให้แน่นใช้มุ้งเขียวนี่แหละกั้น น้ำผ่านได้แต่ปลาออกไม่ได้ เป็นวิธีที่เราทำไว้ที่หมู่บ้านพลเทพ

 

ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง

พอผมย้ายมาที่นี่ก็ทำหลายๆ เรื่อง เดิมก็ทำกึ่งๆ ธุรกิจด้วย ทำบ่อตกปลา พอเลิก ก็ทำเกษตรโดยเปิดพื้นที่กว่า 30 ไร่ ให้เป็นโรงเรียน เป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยของคนทั่วไป ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการเกษตรสามารถเรียนรู้ได้ที่นี่ ภาคการเกษตรมันอ่อนแอมาตลอด ไม่เคยพึ่งตัวเองได้เลย สมัยก่อนพึ่งตัวเองหมด เค้าทำเกษตรโดยใช้ภูมิปัญญา อาศัยธรรมชาติ สมัยก่อนขนาดไถ คราด ยังทำเอง แม้แต่จะสูบน้ำเข้านายังใช้กังหันลม อาศัยธรรมชาติและภูมิปัญญา และอาศัยความร่วมมือจะเกี่ยวข้าว โดยการลงแขกกัน เดี๋ยวนี้ ไม่มีแล้ว จ้างรถเอา ทำให้ต้นทุนสูง เพราะตอนนี้ชาวนาไม่ได้เป็นชาวนาอย่างแท้จริง แต่เป็นนักธุรกิจ จะทำอะไรก็ใช้โทรศัพท์โทรจ้างรถมาทำ จะหว่านข้าว จะเพาะข้าว จะโยนข้าว มีคนอื่นทำให้เสร็จ โทรจ้างอย่างเดียว พอเกี่ยวข้าวเสร็จชาวนาก็จะติดรถขนข้าวเปลือกไปโรงสี ไปดูกิโลที่โรงสีรับเงินแล้วกลับบ้าน มันง่ายเหลือเกิน ตอนนี้ทำนาปรังมันมีซังกับหนี้ พอทำนาปี ก็มีหนี้กับซัง เพราะฉะนั้นทำทั้งนาปีและนาปรังก็เลยมีหนี้สินรุงรัง

 

“พื้นที่ตั้งแต่บ้านดอน ริมคลองแสนแสบส่วนมาก เป็นพื้นที่ของมุสลิมหมด ตั้งกี่หมื่นกี่แสนไร่ และพื้นที่เหล่านั้นก็เรียกว่าเป็นพื้นที่สุดยอดที่ใครๆ ก็อยากได้เพราะติดคลองติดถนน สองฝากฝั่งตั้งแต่บ้านดอนถึงหนองจอก ถามว่าทุกวันนี้เหลือเป็นพื้นที่ของมุสลิมกี่เปอร์เซ็นต์ มันหายไปไหน ทำไมมันหายไป”

ในเมื่อทำแล้วเป็นหนี้เขาจะทำไปทำไม

ก็มันเป็นอาชีพที่เขาทำอยู่ สมัยนี้วิทยาการมันก้าวไกล สมัยก่อนบรรพบุรุษรุ่นพ่อรุ่นแม่ผมเขาทำนาซื้อนา รุ่นผมทำนาขายนา มารุ่นหลังจากนี้ เขาก็เช่านาทำ เช่านาที่ตัวเองขายให้กับนายทุนไปแล้วนั่นแหละ เมื่อก่อนเราจะเห็นได้ว่าหนองจอกเป็นพื้นที่มุสลิมเป็นพื้นที่ของเกษตรกร แต่ปัจจุบันมันเป็นพื้นที่ของนายทุนหมด ชาวนาที่เป็นเกษตรกรก็ต้องเช่าที่ทำนาที่ขายให้กับนายทุนไปแล้ว มันไม่ใช่เฉพาะแค่คนหนองจอกนะที่เป็นแบบนี้ มุสลิมเราในหลายพื้นที่ก็เป็น พื้นที่ตั้งแต่บ้านดอน ริมคลองแสนแสบส่วนมาก เป็นพื้นที่ของมุสลิมหมด ตั้งกี่หมื่นกี่แสนไร่ และพื้นที่เหล่านั้นก็เรียกว่าเป็นพื้นที่สุดยอดที่ใครๆ ก็อยากได้เพราะติดคลองติดถนน สองฝากฝั่งตั้งแต่บ้านดอนถึงหนองจอก ถามว่าทุกวันนี้เหลือเป็นพื้นที่ของมุสลิมกี่เปอร์เซ็นต์ มันหายไปไหน ทำไมมันหายไป อย่างผมอยู่พัฒนาการ 54 ตั้งแต่คลองตันถึงอ่อนนุช ผมจะรู้หมดว่าที่ของใครเป็นของใคร เป็นที่ดินของมุสลิมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่พอเจริญแล้ว มีเหลือของมุสลิมอยู่กี่ส่วนกี่เจ้ากี่เปอร์เซ็นต์ ที่ดินที่เจริญแล้วคนอื่นมาอยู่ทำมา หากิน ทำไมลูกหลานที่เป็นเจ้าของที่ดินเดิมเขาไม่ออกมาทำมาหากิน เขาไม่อยากเป็นเจ้าของกิจการเจ้าของธุรกิจกันบ้างเหรอ ไม่อยากค้าขายที่เป็นอิสระบ้างเหรอ ทำไมต้องไปทำงานโรงงานอุตสาหกรรม เข้าไปเป็นมนุษย์เงินเดือน แต่งานค้าขายงานอิสระอย่างนี้ ผมว่าทุกคนอยากได้ แต่วันนี้ถ้าเขาอยากได้เขาเป็นได้ไหมล่ะ เป็นไม่ได้ เพราะอะไร เพราะที่ดินเป็นของคนอื่นหมดแล้ว ลูกหลานไม่มีโอกาสแล้ว เรามาดูแถวรามคำแหง พอมหาวิทยาลัยขึ้น ก็หนาแน่นด้วยผู้คน มุสลิมเราก็มีโอกาสได้ขึ้นอพาทเม้นต์ พอมีคนก็มีธุรกิจตามมา โอกาสมีมากแต่ไม่ค่อยมีลูกหลานมุสลิมทำกัน ที่ดินที่พัฒนาการและพระรามเก้ารุ่นๆผมไม่ขายเลย ส่วนหนึ่งเป็นกิจการของครอบครัว แล้วก็ปล่อยให้เช่าบ้าง ส่วนที่ดินที่หนองจอกเราก็ได้เงินเวณคืนที่จากการสร้างถนนและการทางพิเศษ จึงเอามาซื้อที่ดินที่นี่

 

ทำไมถึงเลือกมาอยู่หนองจอก

ที่เลือกหนองจอกเพราะมีมุสลิม 75% มีมัสยิด 44 มัสยิด เหมือนเราอยู่ท่ามกลางญาติพี่น้องของเรา มันเป็นบรรยากาศที่น่าอยู่ อบอุ่น แต่ทุก วันนี้จาก 75% ก็เหลือน้อยลงทุกที เพราะมีหมู่บ้านเกิดเยอะ คนที่มาอยู่ก็ไม่ใช่มุสลิม อีกหน่อยมุสลิมคงเป็นคนส่วนน้อยของพื้นที่เหมือนบ้านดอน เหมือนคลองตัน เพราะเราปล่อยให้ที่ดินตกเป็นของคนอื่น เพราะกาเฟรเขาจะทำทุกอย่างให้ได้กำไรสูงสุด โดยไม่สนใจชุมชน สังคม เพราะเขาเป็นนักธุรกิจ บางทีเขาเข้ามาทำร้านมินิมาร์ท ขายทั้งเหล้าทั้งเบียร์ ขายใกล้มัสยิดเข้าไปทุกที หาซื้อได้ตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าบรรยากาศแบบมุสลิมเรามีลูกมีหลานเราก็สบายใจ

สิ่งที่ผมเริ่มทำวันนี้คือทำให้ตรงนี้ยังเป็นเขตนิเวศของกรุงเทพมหานคร เป็นปอดของคนกรุง เป็นความมั่นคงด้านอาหาร เป็นแหล่งท่องเที่ยวการเกษตร เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางด้านการเกษตร ผมเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามอัธยาศัยในพื้นที่ 30 ไร่ เป็นแหล่งการเรียนรู้ ทำยังไงให้ทุกบ้านปลูกผักกินเอง ปลอดสารพิษ ผักของคนหนองจอก ไม่มี ทุกวันนี้คนหนองจอกกินผักจากตลาดไท ทั้งๆ ที่หนองจอกเป็นพื้นที่ๆ เหมาะกับการเกษตรทุกรูปแบบ แต่ทุกวันนี้ทั้งที่คนมุสลิมทำนา แต่ไม่มีข้าวถุงไหนที่มียี่ห้อของมุสลิม หนองจอกเป็นเพียงเมืองเล็กๆ แต่มีห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ มาขึ้น เพื่อดึงเงินจากคนพื้นที่ เงินไม่ได้หมุนเวียนในชุมชนเลย

ผมเริ่มทำ 3 อย่างก่อน คือให้ทุกบ้านปลูกผักกินเอง ปลอดภัยจากสารเคมี ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ทำที่ดินของตนเองให้เกิดคุณค่าสูงสุด เพราะทุกสิ่งที่มีค่าเจ้าของจะหวง ทุกอย่างที่เจ้าของหวงจะไม่มีทางยอมให้ตกเป็นของคนอื่น ที่นี่ผมปลูกพืช 4 ระดับ ข้างบนเป็นมะพร้าว บนต้นมะพร้าวก็มีพริกไทยเกาะต้นมะพร้าวขึ้นไปด้วย ต่ำลงมาก็จะเป็นมะละกอ ใต้มะละกอก็เป็นกระเพรา บริเวณกระเพราเราก็เว้นจุดไว้ปลูกกระชายก็ได้ ใต้ดินก็มีอีก อย่างรอบบ่อที่นี่ก็มีความหลากหลายมาก เราจะเน้นให้ทุกบ้านใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปลูกผักหลังบ้านไปขายหน้าบ้าน คำถามที่เกษตรกรจะถามบ่อยที่สุดคือ ปลูกแล้วจะไปขายที่ไหน ผมก็บอกว่าไปขายหน้าบ้านเราสิ วันนี้ผมเปิดร้านค้าเป็นศูนย์สินค้าชุมชน หนองจอกมี 88 ชุมชน ถ้าทุกชุมชนมีร้าน ค้ามีสินค้าของชุมชนเราก็มาแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชุมชนไว้ขายให้คนในหนองจอก เงินก็จะไม่หมุนวนไปไหน จะอยู่ภายในชุมชน เราก็มาดูว่า สินค้าไหนที่เราใช้ประจำเช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยา ซักผ้า ผัก ฯลฯ ชุมชนไหนถนัดอันไหนก็ทำอันนั้น เราต้องปลูกจิตสำนึกให้มัสยิด ให้สื่อมุสลิมเข้ามามีบทบาท ทุกวันนี้เราควรจะพูดเรื่องธุรกิจกันบ้าง ทั้งๆ ที่เราเป็นเจ้าของที่ดิน เราควรเป็นคนชั้นหนึ่งของประเทศ ไม่ใช่คนชั้นสอง แต่ทุกวันนี้ลูกหลานมุสลิมกลายเป็นคนไม่ใช่เจ้าของที่ดิน กลายเป็นคนที่ไม่มีข้อต่อรอง คนที่จะมีอำนาจต่อรองคือคนที่มีความรู้และเจ้าของที่ดิน แต่ถ้าความรู้ก็ไม่มี ที่ดินก็ไม่มี ก็ไม่ต่างอะไรกับคนชั้นสองของประเทศ เหมือนคนอยู่ภายใต้อาณานิคม ทุกวันนี้พี่น้องมุสลิมรู้สึกบ้างไหม เจ็บปวดบ้างไหม แล้วเราจะหาทางออกให้ลูกหลานเราอย่างไร แล้วลูกหลานคิดบ้างหรือเปล่า ถ้าคิดจะหาทางออกอย่างไร

IMG_8176

ทั้งๆที่แนวคิดการพึ่งตนเองหรือการใช้ภูมิปัญญาของเรามันดีอยู่แล้ว รากที่เราอยู่สมัยก่อนมันก็ดีอยู่แล้ว เรื่องการกลับคืนสู่ภูมิปัญญาของชุมชนก็ถูกพูดถึงมาหลายปีแล้ว แต่เหมือนกับมันไม่ได้ถูกเอาไปใช้อย่างแพร่หลาย แม้แต่ชาวบ้านหรือเกษตรกรเอง ลุงว่าเป็นเพราะอะไร

ทุกวันนี้กระแสนี้มันถูกกลืนไปหมดแล้ว ตั้งแต่กระแสพัฒนาเศรษฐกิจมันมา อาจมีการถูกพูดถึงแต่ไม่มีการส่งเสริมที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง อย่างโอท็อป ที่มันเกิดขึ้นมันคือกระแส คุณไม่ได้เอาความเป็นจริงของชีวิตมาสร้าง คือชุมชนผลิตสินค้าได้แต่ไม่รู้จะขายที่ไหน รัฐบาลเองก็จัดงานปีละไม่กี่ครั้ง อย่างร้านค้าชุมชน ผมคิดจากชีวิตจริง คุณต้องกินทุกวันต้องใช้ทุกวัน เอาส่วนที่คุณกินทุกวันให้ชุมชนผลิตเอง มีศูนย์สินค้า มีแหล่งขาย แล้วก็ปลุกจิตสำนึกของชุมชนให้คำนึงถึงวิถีชุมชน ให้เงินหมุนเวียนภายในชุมชน ให้ชุมชนดำรงอยู่ได้ อะไรที่ทำใช้เองได้ ทำเอง ทำขายในชุมชนเลย วิธีก็ไม่ยากถ้าจะทำ ถ้าทำไม่ได้มาที่นี่เลย ที่นี่มีสอน สอนฟรีด้วย อะไรที่ผมสอนไม่ได้ผมก็ติดต่อฝ่ายพัฒนาชุมชน จะไปหาวิทยากรมาสอนมาเพิ่มทักษะให้กับชุมชน ให้คนในชุมชนมีความรู้ ผลิตได้ คุณภาพดี ราคาถูก แล้วคนในชุมชนจะยังไม่อุดหนุนคนในชุมชนเดียวกันอีกหรือ ถ้าซื้อในชุมชนเงินก็จะหมุนเวียนในชุมชน ถ้าวันนี้สำนึกอย่างนี้ยังไม่เกิดแล้วจะเกิดเมื่อไหร่ คนรุ่นเก่ายังไม่รู้จักคิด คนรุ่นใหม่ยังไม่รู้จักคิด แล้วจะให้คนรุ่นไหนมาคิด ถ้าคิดไม่ได้มาหาลุงยูซุฟนี่ จะบอกว่าทำไมมันถึงคิดไม่ได้ แล้วคุณลองมาคิดร่วมกันสิ ว่ามันขาดอะไรอยู่มันถึงคิดไม่ได้ จริงไหม เงินก็จะหมุนเวียนในชุมชน ชุมชนหาเงินแทบตาย แต่ไปให้มันหมุนไปสู่ต่างจังหวัด ต่างชาติ สุดท้ายชุมชนก็จะล่มสลาย ใช่ไหม มันล่มสลายกันไปแล้วเท่าไหร่ ผมบอกว่าน้ำท่วมผมไม่กลัว แม้จะภัยพิบัติที่ร้ายแรงมันพัดเอาผลผลิตทางการเกษตรของเราไป ข้าวของในบ้านเราเสียหาย เราปลูกใหม่ เราทำใหม่ เราซื้อใหม่ก็ได้ แต่ที่น่ากลัวคือภัยพิบัติทางเศรษฐกิจ พอเศรษฐกิจโดยเฉพาะที่ดินบูมเมื่อไหร่ นายทุนจะเข้ามาเลย เขาจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อจะมายึดที่ดินของมุสลิมในราคาถูกไปทำธุรกิจให้ได้กำไรราคาแพงๆ เขามีหลากหลายวิธีที่จะมาหว่านล้อม บางทีเขาก็ใช้คนของพวกเราเองที่พูดแล้ว ชาวบ้านเชื่อ หรือซื้อที่ล้อมชาวนาไว้หมดทุกด้าน แล้วบังคับว่าถ้าคุณไม่ขายให้เรา คุณก็ไม่มีโอกาสขายให้ใคร

ชาวบ้านเคยใช้วิถีชีวิตแบบธรรมชาติ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว แต่วันนี้เอาแต่ข้าว วิถีชีวิตมันหายหมด เอาแต่ถนนสวยงาม ทำลายปลาในคลองหมด ชาวนาก็ใช้สารเคมีฉีดลงไปปลาก็ตาย ผมทำเรื่องนี้ตั้งแต่ ปี 43 สิบกว่าปีมาแล้วที่ต่อสู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ จนกระทั่งตอนนี้ปลาในคลองมีเต็มไปหมด และพยายามรณรงค์ให้แต่ละมัสยิดเปิดพื้นที่ให้พ่อแม่พันธุ์ปลาอยู่ อย่าให้คนจับ จัดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ก็เปิดได้ตั้งหลายมัสยิด ปลาก็เริ่มชุกชุม พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นนิเวศของกรุงเทพมหานคร อากาศดี บรรยากาศดี ไม่มีมลภาวะ คนอยู่ที่นี่ก็จะมีสุขภาพที่ดี พอนักลงทุนเห็นอย่างนี้ก็เฮโลเข้ามาสร้างหมู่บ้านกันอย่างบ้าคลั่ง แล้วแต่ละโครงการที่มาสร้างบ้าน 400 – 500 หลัง ไม่มีบ่อบำบัดน้ำเสียสักโครงการเลย ทั้งๆ ที่ตามกฏหมาย ถ้าเกินกว่า 9 หลังต้องมีบ่อบำบัดน้ำเสีย เขาก็ใช้วิธีการไปคุยกับฝ่ายโยธาของเขตแล้วก็ขออนุญาติทีละ 9 หลังๆ โครงการตั้งหลายร้อยหลังก็ไม่ต้องมีบ่อบำบัดน้ำเสีย แล้วน้ำก็ปล่อยลงคลอง ก็กลายเป็นน้ำเน่าเสีย ทีนี้ทางกทม.ก็มาบอกว่าต้องการให้คลองสวยน้ำใส ก็ปล่อยน้ำดิบมาผลักดันน้ำเน่าออกไป แทนที่จะเอาไว้ใช้ในภาคการเกษตร น้ำเน่าที่ถูกผลักดันลงไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ลงสู่ทะเล ทำให้ปลาที่เคยชุกชุมหายหมด ระบบนิเวศเสียหาย ขณะเดียวกัน ประชากรของโลกก็เพิ่มขึ้น แหล่งน้ำถูกทำลายโดยน้ำมือของมนุษย์ ในอดีตที่มีเพลงน้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา ว่ายวนไปมาน่าเอ็นดู เหล่านี้มันเป็นเพลงที่ร้องมาได้ในอดีตเท่านั้น ปัจจุบันเด็กร้องได้แต่จินตนาการไม่ออก ว่าน้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลามันเป็นยังไง ถ้าอยากดูก็ต้องเสียเงิน เยอะๆ ไปดูย่านน้ำตก ตามสถานที่ท่องเที่ยวโน่น ปัจจุบันไม่มีใครต้องการคลองเลยสักคน ทั้งที่มันมีประโยชน์มหาศาล จะเห็นว่าปีนี้น้ำท่วม แต่สูบออกน้ำไม่ไหล เนื่องจากคลองไม่ได้ถูกดูแล ตื้นเขิน น้ำไหลไม่ได้ มันก็เลยเอ่อมาท่วมบ้าน ทุกอย่างมันเป็นเพราะน้ำมือมนุษย์ แหล่งต้นน้ำเอาไปปลูกข้าวโพด ไปทำสนามกอล์ฟ ไปทำรีสอร์ต ป่าไม้ถูกทำลาย น้ำก็เลยไหลบ่ามาท่วมเมือง

มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม การจะมาเรียกร้องให้คนหันกลับมาดูแลสิ่งแวดล้อม ผมว่าควรจะเป็นมุสลิมนะที่เป็นคนเริ่มต้น เพราะอัลกุรอานได้บอกไว้ เรานำหลักการที่บอกไว้ในอัลกุรอานมาปฏิบัติจริงให้เห็นผลเกิดขึ้นมาให้ได้ มันทำได้ ผมทำมาสิบกว่าปีแล้วด้านสิ่งแวดล้อม ผมก็ประกาศยืนหยัดทำบนหลักการอันนี้

อย่างไส้เดือนเขาคือวิศวกรที่พระเจ้าสร้างมา เค้าเจาะไชรู ในขณะเดียวกันพืชก็ต้องการอากาศ ก็ได้ช่องอากาศจากที่ไส้เดือนเจาะ พืชต้องการน้ำ เวลาที่ฝนตกน้ำก็จะไหลไปตามช่องที่ไส้เดือนเจาะไว้ ไส้เดือนสร้างไว้สำหรับต้นไม้ สำหรับพืช แล้วคนไปใช้ต้นไม้ ใช้พืชสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ แล้วเราไปทำลายไส้เดือนเท่ากับเราทำลายอาหารของตัวเอง ไปทำลายระบบนิเวศที่อัลลอฮฺสร้างไว้ ก็เท่ากับทำลายตัวเอง วันหนึ่งก็จะเห็นผล แล้วมันก็จะเห็นผลมากขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าไม่หยุดทำลาย เพราะฉะนั้นคนที่จะหยุดได้ก็คือมือของเรา

 

ที่สวนเกษตรของลุงที่หนองจอกทำอะไรบ้าง

เป็นศูนย์การเรียนรู้ ผลิตของใช้ในครัวเรือน ทำสบู่ ทำน้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน ของใช้ในครัวเรือน การเกษตรเราก็สอน สอนสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เตรียมดิน ดินดีทำยังไง จะปลูกต้นไม้อะไรที่เหมาะสม พื้นดินร่วนซุย ถ้าจะปลูกกล้วยเราต้องปลูกกล้วยหอม แล้วก็กล้วยเล็บมือนางเพราะเป็นกล้วยเศรษฐกิจ สามารถขายได้ แต่ถ้าดินเหนียว ถ้าเราปลูกกล้วยหอม ลูกมันจะแคระแกรน ลูกจะเล็ก เพราะธรรมชาติเค้าจะชอบดินร่วนซุย ส่วนดินเหนียวกล้วยน้ำว้าจะชอบ จะได้ลูกใหญ่ เนื้อดี เราต้องรู้สภาพของดินก่อนเพื่อที่จะทำให้ได้ผลผลิตที่เหมาะสม ใครที่มีที่ดินแล้วไม่รู้จะทำอะไรก็มาคุยกันได้ เราพร้อมจะ    แนะนำการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายแบบธรรมชาติให้ทุกคนอยู่แล้ว ดินอย่างไรควรปลูกต้นอะไร ถ้าจะปลูกผัก ฤดูไหนควรปลูกผักอะไร เราให้คำแนะนำได้ ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ต้องติดต่อเข้ามาก่อน เราจะได้เตรียมข้อมูลที่คุณต้องการไว้ให้

“บรรพบุรุษเราทำงานอย่างหนัก ใช้หยาดเหงื่อแรงกายต่อสู้ทำนาบนผืนดินนั้น เหนื่อยยากกว่าจะได้ที่ดินนั้นมา พอถึงเรา เราจะเอาสบาย ถ้าเราขาย ก็รวยแบบฉับพลัน เราได้เงินมาเราก็ใช้ แล้วหลังจากนี้ล่ะ ลูกผม หลานผม จะอยู่ที่ไหน เขาจะมีรายได้อะไร”

สอนให้ฟรีๆ แบบนี้แล้วที่นี่มีรายได้เลี้ยงตัวเอง อย่างไร

เช้ามาลูกน้องก็จะเข็นรถไปรอบบ่อเจอกล้วยแก่ก็เก็บกล้วย กล้วยหอม ฟักทอง แตงไทย ฟัก มะเขือเทศ มะนาว ทุกอย่างที่มีอยู่รอบบ่อในสวน อันไหนโตพอด็จะเก็บมาขายหน้าบ้าน ถ้ามีคนมาสั่งปลาเราก็จะจับปลาไปขาย ปกติถ้าขายส่งจะ ได้โลละประมาณ 35 บาท ถ้าเราขายปลีกเราขาย 50 บาท ถ้าไปตลาดจะอยู่ที่กิโลละ 65 บาท คนก็จะมาสั่งซื้อเรา บางทีจับไม่ทัน วันนี้เราขายเฉพาะคนกิน ขายให้คนในชุมชน ไม่ขายส่งให้พ่อค้า เพราะเจตนารมย์เราต้องการทำเพื่อชุมชน พวกกล้าไม้เราก็เพาะขายด้วย ลูกปลาเราก็มี ผลผลิตที่อยู่รอบบ่อเราเก็บทุกวัน ในบ่อก็มีทั้งปลาใหญ่และลูกปลา อันนี้คือผลผลิตหลังบ้านที่เราเอามาขายหน้าบ้าน แล้วก็ยังมีน้ำยาต่างๆ ที่เราผลิตเอง รวมทั้งรับมาจากชุมชนโดยรอบเอามาขายด้วย ที่นี่เราอยู่ได้ แต่เราไม่ร่ำรวย เราไม่สามารถจะซื้อรถเบนซ์ขี่ แต่สิ่งทีเราได้มากกว่านั้นคือจิตใจ ไม่มีหนี้เราก็สบาย ที่นี่ถ้าคนเดือดร้อนเค้ามาหาเราได้ เค้าอยากปลูกต้นไม้ มีปัญหาเราแนะนำได้ ว่าจะทำอะไร จะทำอย่างไร จะขายอย่างไร โรงเรียนที่เข้ามาเราก็ให้ความรู้กับเด็กๆ โรงเรียนก็ต้องไปทำโครงการต่อ อย่างร้านสหกรณ์ให้เด็กเป็นผู้ผลิตไปขายกับผู้ปกครอง เด็กก็มีรายได้ ร้านสหกรณ์ก็มี รายได้ เด็กได้ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ โรงเรียนก็มีผลงาน เราให้ความรู้เขาไปในขณะเดียวกันเราก็มีวัตถุดิบสนับสนุนเขาด้วย

 

ทำไมถึงไม่ขายที่ดิน แล้วเอามาสร้างบ้านสวยๆ ซื้อรถดีๆ ขับ แทนการทำงาน ตากแดดอย่างนี้

บรรพบุรุษเราทำงานอย่างหนัก ใช้หยาดเหงื่อแรงกายต่อสู้ทำนาบนผืนดินนั้น เหนื่อยยากกว่าจะได้ที่ดินนั้นมา พอถึงเรา เราจะเอาสบาย ถ้าเราขาย ก็รวยแบบฉับพลัน เราได้เงินมาเราก็ใช้ แล้วหลังจากนี้ล่ะ ลูกผม หลานผม จะอยู่ที่ไหน เขาจะมีรายได้อะไร ทุกวันนี้แทบไม่ต้องทำอะไร ผมมีรายได้ตกเดือนละสามแสนกว่าบาทจากค่าเช่าที่ดิน ค่าเช่าอพาร์ทเม้นท์ ถ้าเราขายที่ดินเราก็รวยแค่ตอนนี้ แล้วถ้าเงินหมดล่ เราจะเหลืออำนาจต่อรองอะไร จะกลายเป็นคนชั้นสอง ไม่มีแผ่นดินอยู่ ต้องไปอยู่ในกล่อง ทั้งๆ ที่เคยมีที่ดินของตนเอง บรรพบุรุษเราเขายอมลำบากเพื่อลูกหลานแล้วเราจะเห็นแก่ตัวเหรอ แต่ถ้าคุณขายที่แล้วเอามาเพื่อสร้างการศึกษาให้ลูกหลานผมเห็นด้วย เพราะเรายังเหลือความรู้เป็นข้อต่อรอง ผมเลยพยายามสร้างกลุ่มเผยแพร่แนวความคิดในชื่อชมรมแผ่นดินทองหนองจอก เพื่อลูกหลานต่อไป สำหรับแนวคิดของกลุ่มก็คือ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในการเป็นคนท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็ง สร้างจิตสำนึกให้กับชุมชน เพื่อรักษาแผ่นดินให้ลูกหลานต่อไป ก็มีการให้ความรู้ในการเกษตร การพึ่งพาตนเอง การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป อย่างเรื่องน้ำท่วม น้ำเสีย อย่างพื้นที่ตอนนี้ของเรากลายเป็นที่รับน้ำ เราก็ต้องวางแผน เพื่อทำการเกษตรให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำ เราต้องปรับตัว อย่างตอนนี้เราก็ทำนาได้ครั้ง เดียวเพราะต้องหลีกเรื่องน้ำ แต่ก็ถือว่าเป็นผลดีกับนาเหมือนกันเพราะได้พักนานขึ้น มีปุ๋ยในดินมากขึ้น ปลูกใหม่ไม่ต้องใช้ปุ๋ย แมลงไม่กวน จากเดิมเคยได้ 80 อาจจะได้ถึง 120 ถังเลยทีเดียว เมื่อเวลาน้อยลงเราก็ต้องหาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับเวลาด้วย ก็หาพันธุ์ในระยะสั้น ถ้าพื้นที่น้ำท่วมก็เอาพันธุ์ที่ต้นสูงหนีน้ำ เราก็เอาองค์ความรู้มาสอนชาวนาเพื่อให้ชาวนาได้คิดและปรับตัว เพื่อประโยชน์กับตัวชาวนาเอง เราจัดเสวนากันทุกปี เพื่อให้ชาวนาได้ปรับตัวรับกับสถานการณ์ และก็จะทำแผนแม่บทที่เกี่ยวกับคูคลองด้วย จะใช้ประโยชน์อย่างไรให้เกิดผลสูงสุด จะรักษาอย่างไร เอาสิ่งที่เป็นประโยชน์เข้ามาเพื่อการเกษตร นำการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเข้ามาทั้งทางเรือทางบก เป็นแหล่งเรียนรู้ มีเวลามากก็ลงปฏิบัติ มีเวลาน้อยก็ฟังบรรยายแล้วก็ซื้อสินค้าชุมชนกลับไป เราสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนรวมทั้งให้คนภายนอกชุมชนด้วย

ที่มา : Halal Life Magazine ฉบับ 8

Cover-08

[bws_related_posts]

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน