fbpx

ยามีล๊ะ หะยี ศิลปินนราธิวาส ที่บอกเล่าศรัทธาผ่านฝีเข็มและเส้นด้าย

ขณะที่ก้าวเท้าลงบันไดไปยังห้องแสดงงานศิลปะจากบรรดาศิลปินชาวไทยที่มากความสามารถ ณ หอศิลป์แห่งชาติ เรารู้สึกเหมือนกับหลุดเข้าไปในโลกอีกใบหนึ่ง ที่ใช้เพียงสายตา ความรู้สึก และจินตนาการ

ขณะที่ปล่อยให้ความคิดโลดแล่นไปกับผลงานต่างๆ เรามาหยุดอยู่ที่ห้องห้องหนึ่ง เพราะผลงานที่อยู่ตรงหน้านั้นคุ้นตา เป็นสิ่งที่เราพบเจอประจำในทุกๆ วัน คือภาพคล้ายผู้หญิงที่กำลังทำการละหมาด ที่ถูกถ่ายทอดผ่านเส้นด้ายสลับซับซ้อน จนเกิดเป็นความงดงามและลึกลับน่าค้นหาอย่างยิ่ง

นี่คือผลงานของ ยามีล๊ะ หะยี ศิลปินมุสลิมะห์จากนราธิวาส ที่มีโอกาสได้แสดงงานศิลปะของเธอในหอศิลป์แห่งชาตินี้

“งานแบบนี้เขาเรียกว่าอะไรค่ะ” เราถามเจ้าของผลงานด้วยความสงสัย

“เป็นการเย็บปักถักร้อย โดยการนำหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลามมาสร้างสรรค์” เธออธิบายพร้อมรอยยิ้มที่ดูอบอุ่น

เราค่อยๆ เดินชมผลงานในนิทรรศการของเธอช้าๆ โดยให้เธอเล่าถึงความเป็นมาของงานชุดนี้

นิทรรศการ “โลกของสตรีมุสลิม” เป็นการแสดงผลงานจิตรกรรมในรูปแบบใหม่ นำเสนอในลักษณะเฉพาะตน โดยใช้กรรมวิธีและวัสดุในการสร้างงานจิตรกรรม ซึ่งได้ถ่ายทอดด้วยกระบวนการเย็บปักผ้า มาผสานกับสื่อวัสดุ มีเนื้อหาแฝงความหมายของการเป็นสตรีที่ดีตามทัศนะของอิสลาม โดยอาศัยแรงบันดาลใจจากหลักคำสอนของศาสนาในบทบาทและหน้าที่ของการเป็นสตรีที่ดี ถ่ายทอดด้วยด้วยเทคนิคเย็บปักถักร้อยในรูปแบบจิตรกรรม 2 มิติ ศิลปะสื่อผสม และศิลปะจัดวาง”

ผลงานชุดนี้ของเธอถูกจัดแสดงในห้องนิทรรศการขนาดกลางสองห้อง

“เริ่มต้นจากการมองเรื่องใกล้ตัว เรื่องที่พบเจอในชีวิตประจำวัน ซึ่งการละหมาดเป็นหลักปฏิบัติของอิสลามที่มุสลิมเราปฏิบัติทุกวัน เราจึงลึกซึ้งกับมันได้ง่าย การทำตรงนี้นอกจากเราจะได้ขัดเกลาตัวเองแล้ว ยังสามารถเผยแพร่คำสอนอิสลามให้ผู้อื่นด้วย”

“ผลงานทุกชิ้นที่เป็นผู้หญิง เราพยายามคลี่คลายรูปทรงไม่ให้เห็นใบหน้า เพราะหลักศาสนาให้เราหลีกเลี่ยง แต่เราตั้งเจตนาไว้แล้ว ว่าไม่ได้อยากโชว์ หรือล้อเลียนสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา แต่ตั้งเจตนาว่าเราอยากดะอฺวะห์หรือเผยแพร่อิสลามผ่านสื่อศิลปะที่เราถนัด” เธออธิบายถึงผลงานในกรอบสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่อยู่ตรงหน้า

ยามีล๊ะ หลงใหลในงานศิลปะตั้งแต่เด็ก และได้เลือกเส้นทางการเรียนในสายศิลปะมาตลอด เธอจบการศึกษาจากสาขาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และปริญญาโท สาขาศิลปะไทย คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

“เราชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก และชอบการเย็บปักถักร้อยด้วย เพราะที่บ้านก็ทำอาชีพเกี่ยวกับผ้า พอได้เรียนสูงขึ้นเรื่อยๆ เราได้รู้ว่า “ศิลปะ” ไม่ใช่แค่การวาดรูป มันสามารถแสดงออกด้วยกระบวนการต่างๆ ตามที่ศิลปินแต่ละท่านถนัด”

ยามีล๊ะ ได้ส่งผลงานของเธอเข้าร่วมประกวดในเวทีต่างๆ และได้รับรางวัลกลับมากมาย นอกจากนี้เธอยังได้รับโอกาสไปแสดงผลงานของเธอที่สถานกงสุล นครลอสแองเจอลิส

 

ปัจจุบันเธอเป็นคุณครูสอนศิลปะระดับมัธยม และยังคงตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานออกมาเรื่อยๆ โดยความฝันของเธอ คืออยากมีสตูดิโอสำหรับสร้างสรรค์งาน และมีแกลอรี่เล็กๆ ให้เด็กๆ ในชุมชนได้มีโอกาสเข้าถึงงานศิลปะ

“อยากให้คนในพื้นที่ได้เรียนรู้ศิลปะ หลายคนมองว่าการเย็บปักถักร้อยเป็นเพียงงานหัตถกรรมหรืองานบ้าน งานผู้หญิง ความจริงมันคือศิลปะร่วมสมัยชนิดหนึ่ง เป็นเทคนิคที่สามารถนำมาสร้างสรรค์ผลงานได้ เราอยากให้คนอื่นๆ ได้มีโอกาสเข้าถึง”

และนี่คือนิทรรศการเดี่ยวที่แสดงผลงานของเธออย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก ซึ่งเธอบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับศิลปินที่จะนำผลงานเข้ามาจัดแสดงในหอศิลป์แห่งนี้ นับเป็นตัวแทนของมุสลิมะห์ที่ได้มาแสดงความสามารถพร้อมเผยแพร่อัตลักษณ์ของอิสลามไปในคราวเดียวกัน

 

เพราะงานศิลปะจากศิลปินมุสลิมนั้นไม่ได้หาดูได้ง่ายๆ ในเมืองหลวงแห่งนี้ นี่จึงเป็นเหตุผลดีๆ ที่คุณไม่ควรพลาดนิทรรศการนี้

นิทรรศการ “โลกของสตรีมุสลิม” จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลป์  ถนนเจ้าฟ้า แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพ  ระหว่างวันที่ 5-30 พฤศจิกายน 2560  เวลา 9.00-16.00 น. (หยุดจันทร์-อังคาร)

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Azlan

กองบรรณาธิการรุ่นเล็ก