fbpx

ดอกไม้กลางสมรภูมิ: บทบาทผู้หญิงในความขัดแย้งบนแผ่นดินปาเลสไตน์

วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ฉนวนกาซ่าดินแดนไม่สิ้นกลิ่นกระสุนได้ปลุกโลกให้ตื่นจากภวังค์อีกครั้ง ด้วยข่าวการจากไปของพยาบาลสาวอาสาสมัคร Razan An-Najjar วัย 21 ปีที่ต้องจบชีวิตจากการถูกยิงอย่างเจตนาโดยทหารอิสราเอลขณะที่เธอกำลังปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ชุมนุมอยู่บริเวณแนวชายแดน

เธอต้องสังเวยชีวิตแม้เธอไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย เธอไม่มีอาวุธหรือมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการชุมนุมประท้วง จุดที่เธอถูกพรากชีวิตอยู่ห่างจากแนวชายแดนที่ทหารอิสราเอลซ่อนอยู่ไม่ถึงร้อยเมตร บ่งบอกถึงความหาญกล้าของเธอในฐานะอาสาพยาบาลหญิง ที่พร้อมจะเผชิญกับอันตรายแม้ฝ่ายตรงข้ามจะอยู่ใกล้เพียงไม่กี่เอื้อมก็ตาม

การเสียชีวิตของเธอได้รับการยกย่องและกล่าวขานไปทั่วโลกถึงความเสียสละและความกล้าหาญที่เธอทำให้โลกได้ประจักษ์ Razan An-Najjar คือผู้หญิงคนแรกที่อาสารับหน้าที่พยาบาลภาคสนามในการชุมนุมครั้งนี้ เธอเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กสาวในปาเลสไตน์อีกหลายคนกล้าที่จะออกมาปกป้องชาติบ้านเมือง ความมุ่งมั่นและแน่วแน่ในจุดยืนของเธอช่วยจุดประกายให้ผู้หญิงมุสลิมในปาเลสไตน์และอีกหลายคนทั่วโลกกล้าที่จะมีตัวตนมากยิ่งขึ้น และการชุมนุม Great March Return ในครั้งนี้ก็ได้สร้างบันทึกใหม่ในประวัติศาสตร์ปาเลสไตน์ เมื่อผู้หญิงออกมามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกป้องประเทศชาติบ้านเมืองมากยิ่งขึ้น

แม้ Razan An-Najjar จะเป็นพยาบาลหญิงภาคสนามคนแรกของการชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ แต่เธอไม่ใช่ผู้หญิงคนเดียวที่ออกมารับหน้าที่เป็นฮีโร่พิทักษ์ธรรมให้กับประเทศที่ตนรัก การชุมนุมประท้วง Great March Return ทำให้โลกได้เห็นว่า ยังมีหญิงสาวปาเลสไตน์อีกจำนวนอีกไม่น้อยที่พร้อมออกมาเผชิญโลกเพื่อต่อสู้กับความจริง บ้างก็ออกมาพร้อมจิตวิญญาณนักสู้ผู้กล้ายืนอยู่แนวหน้าในการชุมนุม คอยประชันกับฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่คิดเสียดายชีวิต บ้างก็อาสาออกแรงกายอุทิศตนทำหน้าที่หุงอาหารเตรียมน้ำเตรียมข้าวให้กับเหล่านักสู้อยู่เบื้องหลัง บ้างที่ถนัดด้านการบำบัดรักษาอย่าง Razan ก็รับหน้าที่คอยดูแลปฐมพยาบาลให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บ เพราะทุกๆ เบื้องหลังความสำเร็จของชาติบ้านเมืองคือประชาชนที่เสียสละเพื่อส่วนรวม และเบื้องหลังความเสียสละของประชาชนเหล่านั้นล้วนมีสตรีคอยหนุนนำ

[Mohammed Salem/Reuters]

ประวัติศาสตร์แห่งดอกไม้ในสมรภูมิ

การเข้ามามีส่วนร่วมของผู้หญิงในสมรภูมิรบที่ได้เห็นจากการชุมนุมประท้วง Great March Return ในปาเลสไตน์ครั้งนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับมุสลิม เพราะหากย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์ในสมัยท่านนบีมุฮัมหมัด(ซ.ล.) เมื่อ 1400 กว่าปีที่แล้ว เราจะพบว่าผู้หญิงก็มีบทบาทและร่วมออกสมรภูมิรบพร้อมกับท่านนบีเพื่อปกป้องชาติบ้านเมืองและศาสนาด้วยเช่นกัน แต่ละครั้งที่ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) ออกสงครามมักจะมีบรรดาผู้หญิงรวมไปถึงภรรยาและลูกสาวของท่านร่วมขบวนไปด้วย

อูฮุดคือสงครามแรกที่ถูกบันทึกว่ามีผู้หญิงเข้าร่วมแสดงบทบาทสำคัญในสมรภูมิ เช่นท่านหญิงฟาติมะฮ์ เป็นลูกสาวของท่านนบีก็เคยเข้าร่วมสงครามรับหน้าที่เป็นพยาบาลรักษาทหารที่ได้รับบาดเจ็บ หรือแม้แต่ภรรยาของท่านนบีอย่างท่านหญิงอาอิชะฮ์ และบรรดาศอฮาบียะห์อีกหลายท่านอย่าง วีรสตรีเหล่านี้ล้วนถูกบันทึกว่าเคยเข้าร่วมมีบทบาทปกป้องบ้านเมืองและศาสนาในสมรภูมิรบด้วยกันทั้งสิ้น บางศอฮาบียะห์ก็ร่วมลงสนามรบพร้อมกับเหล่าบรรดาเหล่ามุญาฮิดีน บ้างก็ทำหน้าที่คอยเสริฟน้ำจัดหาอาหารให้กับเหล่านักรบในค่าย ในขณะที่ส่วนหนึ่งรับหน้าที่เป็นพยาบาลคอยเยียวยาทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากภัยสงคราม การเข้ามามีบทบาทของผู้หญิงในสมรภูมิที่เห็นกันในปาเลสไตน์จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ หากแต่เป็นการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ คือการดำเนินตามรอยความดีงามดั้งเดิมที่อาจหล่นหายหรือเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

Iltizam Morrar [Mersiha Gadzo/Al Jazeera]

ดอกไม้กลางสมรภูมิกาซ่าเบ่งบานมาช้านาน  

เมื่อศึกษาย้อนกลับไปในบันทึกประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในปาเลสไตน์ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาจะพบว่า หลายครั้งที่ผ่านมาผู้หญิงชาวปาเลสไตน์ก็มีบทบาทในการปกป้องชาติบ้านเมืองด้วยเช่นเดียวกัน แต่โดยส่วนใหญ่ในอดีตจะเป็นการขับเคลื่อนในลักษณะคลื่นใต้น้ำที่สร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านการยึดครองของอิสราเอลจากเบื้องหลังเสียมากกว่า ด้วยลักษณะทางสังคมในอดีตที่ยังไม่เปิดกว้างเท่ากับปัจจุบัน บทบาทหน้าที่ของผู้หญิงในสมรภูมิจึงเป็นงานเบื้องหลังที่เป็นไปในลักษณะที่ไม่โจ่งแจ้งเช่นทุกวันนี้

ดังเช่นในตัวอย่างของ Naila Ayyash ผู้หญิงที่ถูกบันทึกว่ามีบทบาทสำคัญในการปลุกระดมให้สตรีปาเลสไตน์มีส่วนร่วมในการก่อปฏิวัติครั้งแรก (first intifada) หรือในกรณีของ Iltizam Morrar ผู้หญิงที่ปลุกให้สตรีชาวปาเลสไตน์ร่วมแคมเปญต่อต้านการสร้างกำแพงของชาวอิสราเอลในหมู่บ้านของเธอที่ Budrus ในเขตเวสต์แบ็งก์ในช่วงเกิดการปฏิวัติครั้งที่สอง (second intifada) แม้การเคลื่อนไหวเพื่อชาติของทั้งสองวีรสตรีแห่งปาเลสไตน์นี้จะไม่ได้เป็นการออกมาประจันหน้าลุกขึ้นสู้อย่างเห็นได้ชัด แต่นั่นก็เป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอกได้ถึงสปิริตความรักชาติและจิตวิญญาณนักสู้เพื่อบ้านเมืองของชาวปาเลสไตน์ที่ไม่เคยจำกัดเพศและวัย

Razan al-Najjar [Ashraf Amra / APA images]

ดอกไม้กลางสมรภูมิกาซ่า: Razan An-Najjar นางฟ้าแห่งความเมตตา  

Razan An-Najjar เด็กสาวรุ่นใหม่ไฟแรงอายุ 21 ปีผู้ปลุกโลกให้หันมามองวิกฤติกาซ่าที่เรื้อรังมา 70 ปีอีกครั้ง เธอถูกทหารอิสราเอลยิงด้วยปืนสไนเปอร์เข้ากลางอกเสียชีวิตขณะปฏิบัติภารกิจในฐานะพยาบาลอาสาสมัครในเมือง Khan Younis ที่กำลังเกิดการประท้วงประจำปี Great March Return ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา

Razan เป็นผู้หญิงคนแรกที่กล้าก้าวข้ามผ่านความอนุรักษ์นิยมของชาวปาเลสไตน์ ด้วยการอาสารับหน้าที่เป็นพยาบาลภาคสนามดูแลกลุ่มผู้ประท้วงที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณแนวชายแดน ครั้งหนึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์ต่อกรณีบทบาทของผู้หญิงในสมรภูมิให้กับสำนักข่าวหนึ่งว่า “ผู้หญิงในสังคมของเรามักจะถูกตัดสินกัน… แต่ในที่สุดแล้วสังคมก็ต้องยอมรับเรา หากพวกเขาไม่ยอมรับผู้หญิงเราด้วยทางเลือก พวกเขาคงต้องยอมรับในเชิงบังคับ เพราะเอาเข้าจริงผู้หญิงเรานั้นแกร่ง แกร่งยิ่งกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ … ความแกร่งของฉันในวันแรกที่เข้าทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ประท้วงในวันนั้น ฉันกล้าท้าเลยว่าคุณคงไม่มีวันเจอจากใครคนอื่นอีกแน่นอน”

Razan คือตัวแทนแห่งสัญลักษณ์ของความเป็นผู้หญิงชาวปาเลสไตน์ทั้งประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ความกล้าหาญของเธอได้จุดประกายให้หญิงชาวปาเลสไตน์อีกหลายคนเริ่มกล้าที่จะออกมาร่วมปกป้องบ้านเมืองโดยไม่ใช้ความรุนแรง หลังจากหลายสิบปีที่ผ่านมาพวกเขาเคยถูกสั่งสอนมาโดยตลอดว่าผู้หญิงควรอยู่แต่ในบ้านเท่านั้น เพราะดินแดนกาซ่ามันเต็มไปด้วยภยันตรายเกินที่ผู้หญิงจะรับมือได้ โดยเฉพาะบริเวณชายแดนของเมืองราฟาห์ แต่ Razan ทำให้ทัศนคติของชาวปาเลสไตน์เริ่มเปลี่ยนไป

Razan เคยพูดถึงบทบาทของผู้หญิงในฐานะพยาบาลอาสาสมัครว่า “การเป็นพยาบาลอาสาสมัครนั้นไม่ใช่หน้าที่ของผู้ชายอย่างเดียว มันคือหน้าที่ของผู้หญิงด้วย เพราะบางครั้งก็มีผู้ได้รับบาดเจ็บที่เป็นผู้หญิงด้วยเช่นกัน”

และแน่นอนว่าการเป็นพยาบาลอาสาสมัครภาคสนามนั้นย่อมเสี่ยงต่อการต้องแลกด้วยชีวิต Razan เคยได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่มานับไม่ถ้วนครั้ง เธอเคยเป็นลมหมดสติด้วยฤทธิ์แก๊สน้ำตาที่ทหารอิสราเอลยิงสลายผู้ชุมนุมถึงสามครั้ง เธอเคยข้อมือหักขณะวิ่งออกไปรับผู้ประท้วงที่ได้รับบาดเจ็บ หลายคนบอกให้เธอรีบขึ้นรถไปโรงพยาบาล แต่เธอกลับไม่ทิ้งผู้ป่วย เพราะเธอคิดว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลือมากกว่าเธอ

“พวกทหารอิสราเอลมีเป้าหมายจะยิงคนทิ้งให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มันช่างบ้าระห่ำมาก และฉันจะรู้สึกผิดและอายมากหากฉันไม่ได้อยู่ดูแลช่วยเหลือผู้คนเหล่านั้น มันคือหน้าที่และความรับผิดชอบของฉันที่จะต้องอยู่ที่นั่นและคอยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บ”

Razan ให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำเสียงจริงจัง

ในแต่ละวันเธอปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยอาสาในค่ายนานตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 2 ทุ่มติดต่อกัน 12 ชั่วโมงไม่หยุดพัก โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือสินน้ำใจเป็นเงินใดๆ ทั้งสิ้น

“เรามีเป้าหมายเพียงอย่างเดียว เพื่อช่วยเหลือชีวิตและอพยพผู้ได้รับบาดเจ็บ และสื่อให้โลกรู้ว่า แม้จะไม่มีอาวุธ แต่พวกเราก็สามารถทำได้ … เราทำงานตรงนี้เพราะความรักที่เรามีต่อประเทศชาติ มันคืองานเพื่อมนุษยธรรม เราไม่ได้ทำเพื่อเงิน แต่เราทำเพื่อพระเจ้า”

“หลายคนชอบถามพ่อของฉันว่า ฉันมาทำอะไรที่นี่ ค่าตอบแทนก็ไม่มี เงินเดือนก็ไม่ได้ พ่อของฉันมักจะตอบกลับไปว่า พ่อภูมิใจในตัวลูกสาวคนนี้มาก ที่เธอได้ทำหน้าที่ดูแลเด็กๆ ของประเทศชาติ…”

และในที่สุดวันที่ 1 มิถุนายน 2018 โลกก็ต้องบันทึกการจากไปของ Razan An-Najjar ดอกไม้เหล็กแห่งกาซ่าที่พร้อมยอมสละทุกอย่างในชีวิตเพื่อยืนหยัดเคียงข้างสันติภาพของประเทศชาติบ้านเมืองอย่างน่าเสียดาย

ดอกไม้กลางสมรภูมิกาซ่า: Hind Abu Ola เยาวชนแห่งความกล้า

ภาพถ่ายเด็กสาววิ่งหนีเอาชีวิตรอดพร้อมชายหนุ่มอีกสี่คนที่วิ่งล้อมเพื่อปกป้องเธอจากห่ากระสุนของทหารอิสราเอลถูกแชร์กระหน่ำโซเชียลเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา เด็กผู้หญิงในภาพนั้นคือ Hind Abu Ola เด็กสาวชาวปาเลสไตน์อายุ 16 ปี วีรกรรมของเธอในครั้งนั้นทำให้คณะกรรมการฝ่ายสตรีของกลุ่มผู้ประท้วงต่างให้เกียรติยกย่อง และยกให้เธอเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของผู้หญิงในกาซ่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เธอเล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นว่า ตอนแรกเธอเห็นเด็กหนุ่มสี่คนนั้นมีอาการหายใจไม่ออกจนหมดสติด้วยพิษแก๊สน้ำตา เมื่อนึกขึ้นได้ว่าตนเองมีหอมหัวใหญ่และน้ำหอมหนึ่งขวดในกระเป๋า เธอจึงไม่รอช้ารีบเข้าไปช่วยเหลือเด็กหนุ่มสี่คนนั้นด้วยอุปกรณ์พื้นฐานเท่าที่เธอมี จนเมื่อทั้งสี่เริ่มรู้สึกตัวและห่ากระสุนจากทหารอิสราเอลเริ่มจู่โจม ทั้งหมดจึงรีบหนีออกจากที่เกิดเหตุด้วยการวิ่งล้อมปกป้องเด็กสาวที่ได้ช่วยชีวิตพวกเขาไว้ จนทุกคนรอดมาได้อย่างปลอดภัยในที่สุด

การช่วยเหลือด้วยภูมิปัญญาพื้นฐานและความกล้าหาญของ Hind ทำให้โลกได้เห็นถึงจิตวิญญาณความเป็นเด็กปาเลสไตน์ที่ต้องคุ้นเคยกับภาวะสงครามมาทั้งชีวิต มันคือจิตสำนึกในการช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่พร้อมยอมเสี่ยงแม้กระทั่งกับชีวิตของตนเอง Hind ทำให้โลกได้ประจักษ์ถึงสปิริตความแกร่งของหญิงปาเลสไตน์ที่ไม่มีอายุเป็นข้อจำกัด ทุกคนพร้อมเอาชีวิตเข้าแลกและยอมเสียสละเพื่อปกป้องบ้านเมืองและเพื่อนร่วมชาติ

Taghreed al-Barawi [Mohammed Salem/Reuters]

ดอกไม้กลางสมรภูมิกาซ่า: Taghreed al-Barawi สตรีแห่งจิตวิญญาณนักรบ

ฟากหนึ่งของแนวชายแดนเป็นภาพกลุ่มทหารอิสราเอลนอนหมอบราบประจำตำแหน่งอยู่ด้านหลังเนินทราย มือหนึ่งพร้อมลั่นไกปืน อีกฟากหนึ่งของแนวชายแดนเดียวกันเป็นภาพของกลุ่มผู้ชุมนุมหญิงคลุมฮิญาบปิดหน้าด้วยผ้าขาวลายดำปกป้องตนเองจากพิษแก๊สน้ำตา พวกเธอกำลังยืนอยู่แนวหน้าเพื่อช่วยป้องกันอีกหลายชีวิตด้านหลัง แม้พวกเธอจะเชื่อว่าผู้หญิงมีโอกาสตกเป็นเป้าโจมตีได้น้อยกว่า แต่ในความเป็นจริงทุกคนต่างรู้ดีว่าทหารอิสราเอลนั้นเคยปราณีใคร พวกเธอเกิดมาพร้อมกับจิตวิญญาณนักสู้ผู้กล้าที่ฝังมากับดีเอ็นเอของความเป็นชาวปาเลสไตน์ การเกิดมาเป็นผู้หญิงไม่ได้ทำให้เลือดรักชาติในตัวเธอลดน้อยลงแต่อย่างใด

Taghreed al-Barawi หญิงสาววัย 26 ปีเป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมหญิงที่ร่วมประท้วงใน Great March Return ครั้งนี้ เธอเข้าร่วมการประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมพร้อมกับน้องสาวและเพื่อนหญิงอีกกลุ่มหนึ่ง Barawi เล่าว่า “เราอยู่ในสังคมที่ผู้ชายถืออำนาจเหนือกว่า การที่ผู้หญิงเข้าร่วมชุมนุมประท้วงจึงอาจเป็นภาพที่ดูแปลกตาสำหรับบางคนในกาซ่า แต่การประท้วงในครั้งนี้เราเห็นว่าผู้ชายเริ่มเปิดใจยอมรับและส่งเสริมพวกเรากันมากขึ้น มันเหมือนกับว่าพวกเขาเริ่มมองเห็นเสียทีว่า ในที่สุดแล้วพวกเราทุกคนล้วนต่างเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ทั้งนั้น และผู้หญิงควรจะยืนอยู่ตรงนี้ด้วยเช่นกัน”

การเป็นสตรีเพศไม่ได้การันตีว่าจะได้รับความคุ้มครองสำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยเช่นนี้ ในบรรดาผู้ประท้วงที่ได้รับบาดเจ็บกว่าหลายพันชีวิตมีจำนวนผู้หญิงรวมอยู่ในนั้นกว่าร้อยคน และอีกหลายสิบชีวิตต้องถูกสังเวยด้วยปืนสไนเปอร์จากทหารอิสราเอลนับตั้งแต่วันที่เริ่มการประท้วงเมื่อ 30 มีนาคมที่ผ่านมา

แม้ว่า Barawi จะถูกแก๊สน้ำตาเล่นงานนับครั้งไม่ถ้วนจนเธอแทบเป็นลมหมดสติ แต่ความคิดที่จะล้มเลิกการประท้วงก็ไม่เคยมีในหัวของเธอแม้ซักนิด “ฉันมีความรู้สึกกล้าหาญอย่างประหลาด หรืออะไรสักอย่างที่ฉันเองก็ไม่รู้จะอธิบายมันยังไง มันรู้สึกเหมือนกับว่า ยิ่งฉันเข้าใกล้ชายแดนนั้นมากเท่าไหร่ ฉันกลับยิ่งมีความปรารถนาที่จะก้าวไปข้างหน้ามากขึ้นเท่านั้น บางทีมันอาจจะเป็นเพราะแรงกระตุ้นจากการยิ่งได้เข้าใกล้บ้านของเราและความอยากจะไปที่นั่นด้วยกระมัง” (บ้านเรือนของชาวปาเลสไตน์บริเวณชายแดนถูกอิสราเอลยึดครองไปตั้งแต่ปี 1948)

โดยปกติชาวปาเลสไตน์จะมาชุมนุมประท้วงตามแนวชายแดนกาซ่าในทุกบ่ายวันศุกร์มาเป็นเวลาหลายปี แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดในครั้งนี้คือจำนวนผู้หญิงและเด็กสาวที่มาเข้าร่วมชุมนุมและมีบทบาทในการประท้วงมากขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีให้เห็นมาก่อน จึงทำให้การประท้วงในวันศุกร์ของปีนี้ถูกเรียกขานว่าเป็น “ขบวนประท้วงของเหล่าสตรีกาซ่า”

Barawi ให้เหตุผลว่าการเข้าร่วมมีบทบาทของเหล่าสตรีในการชุมนุมนั้นช่วยสร้างความสามัคคีกลมเกลียวให้กับชาวปาเลสไตน์มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยทำให้การเคลื่อนไหวแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นด้วย “ต่อให้ผู้ตายเป็นชะฮีดจากกลุ่มฮะมาสหรือจากกลุ่มฟาตะห์ก็ไม่มีอะไรต่างกัน ผู้หญิงในปาเลสไตน์ก็โศกเศร้าเสียใจเท่ากันทั้งนั้น การเคลื่อนไหวในครั้งนี้มันดูแล้วช่างยิ่งใหญ่ เพราะมันทำให้โลกได้เห็นถึงความสามัคคีกลมเกลียวกัน ฉันไม่เห็นธงอื่นใดเลยนอกจากธงของปาเลสไตน์เพียงอย่างเดียว….”

“ฉันชอบความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวที่เราทุกคนรู้สึกร่วมกัน เมื่อเยาวชนทั้งชายและหญิงต่างคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างนี้”

[Ibraheem Abu Mustafa/Reuters]

คือพลังแห่งมวลดอกไม้

มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า การเคลื่อนไหวใดก็ตามที่ต้อนรับผู้หญิงให้เข้ามามีบทบาทในตำแหน่งแนวหน้ามักจะมีแนวโน้มบรรลุเป้าหมายได้มากกว่า ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการใช้ยุทธศาสตร์ที่ไร้ความรุนแรงของผู้หญิงที่สามารถทำให้สังคมดำรงอยู่ได้อย่างสันติและเกิดความเป็นประชาธิปไตย

“ผู้หญิงชาวปาเลสไตน์คือเสาหลักสำคัญของสังคมและการเคลื่อนไหวระดับชาติ พวกเธอเหล่านี้คือบรรดาแม่ พี่สาว น้องสาวและลูกสาวที่มีจิตใจดี มีความอดทน และต่อสู้ดิ้นรนมาโดยตลอด” Ektimal Hamad หัวหน้ากลุ่มเคลื่อนไหวฝ่ายสตรีอธิบายให้ Al-Jazeera ฟัง

“การปรากฏตัวของผู้หญิงในพื้นที่การชุมนุมถือเป็นการส่งสารให้โลกได้รับรู้ว่า การประท้วงของเรานั้นเน้นความสันติและไร้ความรุนแรง สตรีชาวปาเลสไตน์คือผู้หญิงที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน แต่พร้อมจะอยู่แนวหน้าเสมอ โดยเฉพาะเมื่อเป็นภารกิจระดับชาติเช่นนี้”

บรรยากาศรอบๆ เต็นท์การชุมนุมทำให้ได้เห็นถึงบทบาทของผู้หญิงที่พร้อมรับหน้าที่เป็นกองหนุน ผู้หญิงบางส่วนรับหน้าที่จัดเตรียมอาหารให้กลุ่มผู้ชุมนุมและคนในเต็นท์ บ้างที่ถนัดด้านการแพทย์ก็ลงภาคสนามรับหน้าที่เป็นหน่วยพยาบาลอาสาคอยเยียวยาผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บ ในขณะเดียวกันกรรมการกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายสตรีก็จัดกิจกรรมปลุกจิตสำนึกและเปิดเวทีแห่งการเรียนรู้วัฒนธรรมขึ้นภายในเต็นท์ให้กับผู้มาร่วมชุมนุม มีการเชิญหญิงวัยชรารุ่นอาวุโสมาตั้งวงเล่านิทานตำนานแห่ง Nakba (ตำนานแห่งการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นกับชาวปาเลสไตน์เมื่อปี 1948) ให้ชนรุ่นหลังฟัง มีการทำอาหารพื้นเมืองร่วมกัน และให้ลูกหลานรุ่นเยาวชนมาทำการแสดงพื้นเมืองให้ความบันเทิงแก่เด็กๆ และกลุ่มผู้ชุมนุม แม่บ้านชาวปาเลสไตน์บางคนก็พาลูกๆ ของเธอมาร่วมกิจกรรมในเต็นท์ชุมนุมบ่อยครั้ง ด้วยหวังอยากให้เด็กๆ ได้มีโอกาสซึมซับและเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์บ้านเกิดเมืองนอนที่แท้จริงของตนเอง

“ในฐานะที่เป็นชาวปาเลสไตน์ ฉันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนทุกส่วนในประเทศนี้ และฉันก็มีสิทธิ์ที่จะเยี่ยมเยือนเมืองของปาเลสไตน์ที่ใดก็ได้ ฉันอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมประท้วงครั้งนี้ เพื่อร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ฉันเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าเสมอมา” ความในใจของ Rana Shubair แม่บ้านชาวปาเลสไตน์คนหนึ่ง

จริงอย่างที่ Hamad หัวหน้ากลุ่มเคลื่อนไหวฝ่ายสตรีบอกกับ Al-Jazeera ไว้ ว่าทั้งหมดนี้คือ “การปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งจิตสำนึกให้กับเยาวชนหญิงรุ่นใหม่” นั่นเอง

เพราะจิตวิญญาณความรักชาติบ้านเมืองมันถูกฝังลึกในจิตใจ…โดยไม่จำกัดเพศและวัย

 

แปลและเรียบเรียง : Andalas Farr
ข้อมูลจาก :

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร