fbpx

ท่ามกลางกระแสหวาดกลัว เหตุใดชาวตะวันตกจำนวนมากจึงเข้ารับอิสลาม?

แม้ว่ากระแสต่อต้านอิสลามในโลกตะวันตกจะยังคงมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง พาดหัวข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์พร้อมภาพประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยืนข้างกล่องที่มีข้อความเขียนกำกับไว้ว่า “ผมเชื่อว่าอิสลามเกลียดพวกเรา” คอยปลุกปั่นให้สังคมตะวันตกตื่นตระหนกหวาดกลัวอิสลามและความเป็นมุสลิม แต่กระนั้นอัตราการเติบโตของประชากรมุสลิมในโลกตะวันตกก็ยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ

ที่ประเทศอังกฤษในแต่ละปีมีรายงานการเปลี่ยนศาสนามาเข้ารับอิสลามกันเป็นจำนวนมาก ดังเช่นงานวิจัยในปี 2011 ได้ระบุว่า จำนวนผู้เข้ารับอิสลามในประเทศอังกฤษมีมากกว่า 100,000 คน โดยร้อยละ 55 ของจำนวนดังกล่าวเป็นชาวอังกฤษผิวขาวจากกลุ่มระดับชนชั้นกลางที่มีการศึกษา และได้ค้นพบอีกว่าผู้เข้ารับอิสลามกว่าครึ่งเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

สถิติดังกล่าวทำให้หลายคนหันมาให้ความสนใจต่อสาเหตุในการตัดสินใจเข้ารับอิสลามของคนเหล่านี้ ในปี 2013 มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จึงได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการเข้ารับอิสลามของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นสุภาพสตรีชาวอังกฤษโดยเฉพาะ ปรากฏว่ามีการดาวน์โหลดงานวิจัยดังกล่าวมากกว่า 150,000 ครั้ง

ในขณะเดียวกันทางศูนย์วิจัย Pews ของสหรัฐอเมริกาได้ระบุในรายงานสถิติชิ้นหนึ่งว่า จากประชากรมุสลิมจำนวน 3.3 ล้านคนในอเมริกาในช่วงปี 2015 ที่ผ่านมา ร้อยละ 23 ของจำนวนนี้เป็นมุสลิมใหม่ที่เพิ่งเข้ารับอิสลาม และในจำนวนมุสลิมใหม่ทั้งหมดนี้ 91% คือประชากรที่ถือกำเนิดในสหรัฐอเมริกาและเป็นชาวอเมริกันผิวดำเกือบ 59% งานวิจัยปี 2001 ของ Ihsan Bagby จากมหาวิทยาลัยเคนตักกี้ยังระบุอีกว่า ประมาณ 27% ของมุสลิมใหม่ที่เข้ารับอิสลามเป็นชนผิวขาว ในขณะที่งานวิจัยอีกหลายชิ้นระบุด้วยว่าผู้หญิงในอเมริกามีอัตราการเข้ารับอิสลามมากกว่าผู้ชายมากถึง 4 ต่อ 1 กันเลยทีเดียว

ทำไมพวกเขาจึงเปลี่ยนศาสนา?

งานวิจัยส่วนใหญ่จำแนกผู้เข้ารับอิสลามออกเป็นสองประเภทหลักด้วยกันคือ กลุ่ม “ผู้เข้ารับอิสลามเพื่อความสะดวก” หรือผู้ที่เข้ารับอิสลามตามคู่สมรสที่เป็นชาวมุสลิมมาแต่ดั้งเดิม กับอีกประเภทหนึ่งคือกลุ่ม “ผู้เข้ารับอิสลามที่เกิดความศรัทธา” อันเนื่องมาจากประสบการณ์ด้านวัฒนธรรมที่เคยได้สัมผัส, การเข้าร่วมกับกลุ่มที่มุ่งเน้นฟื้นฟูด้านจิตวิญญาณ, การได้มีโอกาสรู้จักอิสลามผ่านการเดินทาง, การได้พบปะกับเพื่อนชาวมุสลิม, และการเดินทางค้นพบสัจธรรมและคำตอบของการมีชีวิต สิ่งเหล่านี้คือแรงจูงใจหลักที่คนส่วนใหญ่มักค้นพบจนเกิดการเลื่อมใสศรัทธาและเข้ารับศาสนาอิสลามในที่สุด

คำตอบจากแบบสอบถามใน Faith Matters Survey ได้ระบุว่าร้อยละ 45 ของคนที่เข้ารับอิสลามไม่ได้มีเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงาน มุสลิมใหม่เหล่านี้มักจะเข้ารับอิสลามก่อนที่พวกเขาจะแต่งงาน และการตัดสินใจเลือกคู่ครองจากคนในกลุ่มศรัทธาเดียวกันเกิดขึ้นเองภายหลังจากที่ได้เข้ารับอิสลาม

รายงานจากงานวิจัยเดียวกันยังได้ระบุต่อไปว่า ร้อยละ 86 ของผู้เข้ารับอิสลามได้รับความช่วยเหลือและคำแนะนำจากเพื่อนหรือคนรู้จักในการเปลี่ยนศาสนา ร้อยละ 96 ของมุสลิมใหม่ศึกษาอิสลามจากหนังสือ ร้อยละ 64 ศึกษาอิสลามจากอินเตอร์เน็ต และมีเพียงร้อยละ 52 เท่านั้นที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือคำแนะนำใดๆ จากมัสยิดในการเปลี่ยนแปลงศาสนาสู่อิสลาม ตัวเลขเชิงสถิติเหล่านี้จึงสามารถบ่งบอกได้ว่า คนที่สนใจเข้ารับอิสลามส่วนใหญ่มักจะค้นหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ และศึกษาด้วยตนเองก่อนจะเลื่อมใสศรัทธาและเปลี่ยนศาสนาด้วยความสมัครใจ

แม้งานวิจัยดังกล่าวจะไม่ได้เจาะถึงประเด็นเกี่ยวกับสาเหตุหรือแรงจูงใจที่ทำให้ผู้คนเข้ารับอิสลามโดยตรง แต่ดูเหมือนว่าความเคร่งครัดในหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม ทั้งในด้านคำสั่งห้ามหรือข้อบังคับต่างๆ กลับกลายเป็นจุดดึงดูดให้คนส่วนใหญ่หันมาสนใจอิสลามอย่างไม่น่าเชื่อ โดยร้อยละ 59 ของผู้เข้ารับอิสลามต่างเห็นพ้องและมองในมุมเดียวกันว่า วิถีชีวิตของตนเองก่อนเปลี่ยนศาสนาถือว่าเป็นช่วงชีวิตที่ “เลวร้าย”, “เป็นบาป” และ “หลงผิด” และในขณะเดียวกันผู้เข้ารับอิสลามส่วนใหญ่กลับคิดว่า “การดื่มสุราหรือเสพสิ่งมึนเมา”, “การขาดศีลธรรมจรรยาและการมั่วประเวณี” ตลอดจน “การบริโภคสิ่งต่างๆ อย่างไร้ข้อต้องห้าม” คือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอังกฤษที่พวกเขามองว่าเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดี

Yasir Suleiman ผู้บริหารก่อตั้งศูนย์อิสลามศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าวถึงความน่าหลงใหลของความเคร่งครัดในหลักการของศาสนาอิสลามไว้อย่างน่าสนใจว่า “คำถามหนึ่งที่ผู้หญิงมุสลิมใหม่มักเจออยู่บ่อยๆ คือ: ‘ทำไมผู้หญิงชาวตะวันตกที่มีชีวิตเต็มไปด้วยอิสรภาพจึงหันมาสนใจและศรัทธาต่อศาสนาที่กดขี่ข่มเหงพวกเธอกัน?’ คำตอบที่วา การเข้ารับอิสลามคือตัวเลือกเชิงเหตุผลที่สามารถตอบโจทย์คำถามต่างๆ เกี่ยวกับปรัชญาหรือสัจธรรมของการมีชีวิตที่เราต่างต้องเผชิญในโลกปัจจุบัน คงจะเป็นความคิดต้องห้ามสำหรับใครบางคน…”

งานวิจัยของศาสตราจารย์ Yasir Suleiman ในหัวข้อ Narratives of Conversion to Islam in Britain: Female Perspective ที่ถูกตีพิมพ์เมื่อปี 2013 ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามเมื่อพบว่ามีผู้สนใจเข้าไปดาวน์โหลดบทความดังกล่าวมากถึง 150,000 ครั้ง จนมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ตัดสินใจปล่อยงานวิจัยในลักษณะเดียวกันอีกครั้งในเวลาสามปีต่อมา โดยในครั้งนี้เป็นเนื้อหาภายใต้กรณีศึกษาจากมุมมองของกลุ่มผู้เข้ารับอิสลามเพศชาย  รายงานการวิจัยทั้งสองจึงสามารถเป็นตัวชี้วัดที่ยืนยันได้ดีว่า กลุ่มชนชั้นกลางในหมู่ชาวผิวขาวนิยมหันมารับอิสลามเพราะต้องการรับมือกับความกดดันจากสังคมสมัยใหม่ในยุคปัจจุบันนั่นเอง

นอกจากนี้ นิตยสารชื่อดังอย่าง The Economist ยังได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่า “ไม่ว่าจะเป็นแนวทางหรือรูปแบบใด ตั้งแต่สินค้าบริโภคไปจนถึงคุณค่าทางศีลธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เราจะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมตะวันตกในศตวรรษที่ 21 มักให้ความสนใจและยกย่องความหลากหลาย, ทางเลือก, และการได้ลองทำ ชาวตะวันตกที่หันไปเข้ารับอิสลามคือกลุ่มคนที่กำลังพยายามเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกของตนเองไปสู่มุมตรงข้ามที่มีทิศทางแตกต่างออกไป กล่าวคือ การยอมรับและพร้อมเคารพทำตามเงื่อนไขชีวิตที่ไม่สามารถผ่อนปรนได้ ทั้งในแง่ของการบริโภค การแต่งกาย ตลอดจนพฤติกรรมทางเพศและทางสังคมที่แตกต่างกันนั้น อาจเป็นไปได้ว่าความยืดเยื้อของวัฒนธรรมกระแสหลักในปัจจุบันได้ทำให้ความเคร่งครัดของหลักการอิสลามที่เคร่งครัดกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจต่อชนกลุ่มเล็กที่สำคัญกลุ่มหนึ่งของสังคมไปแล้ว”

ด้วยกระแสที่เปลี่ยนไป

หากเราศึกษาการเปลี่ยนศาสนาของผู้เข้ารับอิสลามและเปรียบเทียบระหว่างอดีตกับปัจจุบันจะพบว่า แนวโน้มและแรงจูงใจในการเข้ารับอิสลามของผู้คนในโลกเมื่อหลายสิบปีก่อนนั้นแตกต่างกับปัจจุบันเป็นอย่างมาก ในอดีตการเข้ารับอิสลามของสังคมตะวันตกส่วนใหญ่เกิดจากกระแสการประท้วงแสดงความไม่พอใจของชาวอเมริกันผิวดำที่มีต่อพฤติกรรมการเหยียดสีผิวของชาวผิวขาว ในขณะเดียวกัน การเข้ารับอิสลามของชาวฮินดูในอินเดียเกิดจากกระแสต่อต้านความไม่ทัดเทียมกันของระบบชนชั้นวรรณะที่สังคมอินเดียปฏิบัติสืบทอดกันมา แต่ในปัจจุบันเรากลับมองเห็นว่า การเลือกเข้ารับอิสลามของผู้คนในสังคมส่วนใหญ่มักเกิดจากความสมัครใจและการเลื่อมใสศรัทธาหลังจากที่ได้ศึกษาศาสนาอิสลามมาเป็นระยะหนึ่งแล้ว

จุดเปลี่ยนแห่งศรัทธา

ในบางครั้งการเข้ารับอิสลามของมุสลิมใหม่กลับกลายเป็นกระจกเงาที่สามารถสะท้อนให้มุสลิมดั้งเดิมได้เห็นถึงศรัทธาในจิตวิญญาณของตนเอง ดังเช่นกรณีของ Eve Ahmed นักข่าวประจำสำนัก Daily Mail แห่งอังกฤษที่เธอได้เล่าให้ฟังว่า การได้มีโอกาสสัมภาษณ์มุสลิมใหม่หลายคนทำให้เธอค้นพบคำตอบต่อมุมมองในศาสนาที่เธอได้ทำหล่นหายไปด้วยตัวเธอเอง

Eve Ahmed มีแม่เป็นชาวอังกฤษ พ่อเป็นชาวปากีสถาน เธอเกิดมาในครอบครัวมุสลิมที่มีความอนุรักษ์นิยมและเคร่งครัดในหลักการศาสนามาก “เท่าที่ฉันจำความได้ การเป็นมุสลิมคือการที่ชีวิตต้องคุ้นชินกับคำว่า ‘ไม่ได้’ อยู่ตลอดเวลา” เธอเล่าให้ฟัง ด้วยเหตุนี้เธอจึงตัดสินใจทิ้งศาสนาอิสลามไปอย่างไม่เหลือเยื่อใยทันทีที่เธอได้รับอิสรภาพและพร้อมจะก้าวออกไปเจอโลกภายนอกด้วยตัวเธอเอง

แต่แล้วเธอกลับต้องประหลาดใจเมื่อชีวิตพาเธอมาพบเจอกับกระแสที่ชนชั้นกลางของชาวตะวันตกเลือกเข้ารับอิสลาม ศาสนาที่เธอเคยเดินหนีออกมา ด้วยความฉงนสงสัยเธอจึงพยายามพบเจอกับคนเหล่านี้เพื่อทำความเข้าใจกับทางเลือกที่พวกเขาตัดสินใจ และหนึ่งในนั้นคือ Lauren Booth ซึ่งเป็นน้องสะใภ้ของอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ Tony Blair

Lauren เข้ารับอิสลามเนื่องจากรู้สึกลึกซึ้งกับสิ่งที่ได้สัมผัส เธอค้นพบความสุขทางจิตวิญญาณหลังจากที่ได้มีโอกาสไปเยือนประเทศอิหร่าน และความศรัทธาต่ออิสลามของเธอยิ่งต่อยอดขึ้นเมื่อเธอต้องไปทำข่าวที่ปาเลสไตน์ ที่นั่นเธอได้มีโอกาสไปคลุกคลีและมองเห็นความแข็งแกร่งทางจิตใจของบรรดาผู้หญิงมุสลิมชาวปาเลสไตน์ พวกเขามีอิสลามที่สอนให้ยิ้มสู้กับชีวิตต่อไปได้แม้จะต้องเจอกับความทุกข์ทนขมขื่นที่เลือกไม่ได้ “ฉันรู้สึกประทับใจกับความเข้มแข็งและความสุขในหัวใจที่อิสลามได้หยิบยื่นให้” Lauren เล่าให้ฟัง แล้วเธอก็พร้อมเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตนเองหลังจากเข้ารับอิสลามทันที เธอสวมฮิญาบ ละหมาดครบห้าเวลาและถือศีลอดในเดือนรอมฎอนด้วยความศรัทธา

คนต่อมาที่ Eve Ahmed ได้มีโอกาสเข้าสัมภาษณ์ถึงความสนใจในการเข้ารับอิสลามคือ Kristiane Backer อดีตผู้เสนอข่าว MTV ของเยอรมัน ที่เริ่มรู้จักอิสลามจากการคบหากับแฟนหนุ่มซึ่งเป็นนักคริกเก็ตชาวปากีสถานชื่อดัง Imran Khan มาเป็นเวลาสองปี Backer ศึกษาอิสลามจนตัดสินใจเข้ารับศาสนาในเวลาต่อมา แม้ว่าตอนนั้นเธอจะไม่ได้ลงเอยกับแฟนหนุ่มมุสลิมของเธอแล้วก็ตาม Backer เล่าให้ Eve Ahmed ฟังว่า “ด้วยลักษณะของงานที่ฉันทำ ฉันต้องออกไปสัมภาษณ์ดารานักร้องชื่อดังมากมาย ได้มีโอกาสท่องเที่ยวรอบโลกและตามติดทุกกระแสแฟชั่น แต่ฉันก็ยังรู้สึกว่างเปล่าในใจอยู่นั่นแหละ แต่แล้วในที่สุดตอนนี้ ฉันก็ได้ค้นพบกับความพอใจในชีวิต เพราะอิสลามได้สอนฉันให้รู้จักเป้าหมายที่แท้จริงของการมีชีวิตอยู่บนโลกนี้”

เธอเล่าต่อไปอีกว่า “ในสังคมตะวันตก เราต่างเคร่งเครียดกับเหตุผลที่ฟังดูช่างตื้นเขิน เช่นต้องมาคิดว่าจะใส่เสื้อแบบไหนดี แต่ในอิสลาม ทุกคนต่างมองไปที่เป้าหมายที่สูงกว่านั้น ทุกสิ่งที่เราทำคือการทำให้พระเจ้าพอใจ…คุณจึงไม่ต้องเหนื่อยกับการไล่ล่าแฟชั่นสมัยนิยมอะไรใดๆ อีกต่อไป”

นอกจากนี้ Eve Ahmed ยังได้มีโอกาสสัมภาษณ์สามัญชนชั้นกลางแสนธรรมดาอีกหลายคน ที่ส่วนใหญ่ค้นพบว่าการแต่งกายในแบบอิสลามนั้น “ช่างมีพลังและให้อิสระแก่ชีวิต” หนึ่งในนั้นคือ Lynne Ali ผู้หญิงคนหนึ่งที่เลือกสวมใส่ฮิญาบหลังจากเข้ารับอิสลาม ครั้งหนึ่ง Lynne Ali เคยไปร่วมงานฉลองวันเกิดของเพื่อนที่จัดขึ้นในบาร์ และวันนั้นเธอใส่ฮิญาบไปด้วย เธอเล่าย้อนเหตุการณ์ให้ฟังว่า “พวกเขาเมากันมาก พูดจาเลอะเลือน และเต้นไปมาเหมือนคนไร้สติ ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ฉันได้มองเห็นชีวิตในอดีตของตัวเอง ด้วยมุมมองจากสายตาของคนนอกคนหนึ่ง และฉันก็ได้รู้ซึ้งเลยว่า ฉันจะไม่มีวันกลับไปใช้ชีวิตเช่นนั้นอีกแล้ว”

หลังจากที่ได้พบเจอกับบรรดาผู้หญิงมีการศึกษาที่เข้ารับอิสลามและยังมีความสุขกับชีวิตมากมาย Eve Ahmed จึงพยายามทำความเข้าใจกับความแตกต่างระหว่างประสบการณ์ของเธอที่มีต่ออิสลามและของพวกเขาเหล่านั้น  เธอจึงได้บทสรุปให้กับตนเองว่า “บางที ถ้าหากฉันได้รู้สึกว่าตัวเองสามารถควบคุมชีวิตได้แทนการรู้สึกเหมือนถูกควบคุม (ตลอดช่วงเวลาที่เติบโตมา), ถ้าหากฉันได้รู้สึกเหมือนมีพลังแทนการรู้สึกอึดอัด ฉันอาจจะยังคงยึดมั่นในศาสนาที่ฉันถือกำเนิดมา และฉันอาจจะไม่ต้องมาแบกรับภาระของความรู้สึกผิดที่ตัวเองพยายามต่อต้านหลักศรัทธาที่พ่อเคยบ่มเพาะในตัวฉันตลอดมา”

แปลและเรียบเรียง :  Andalas Farr
ที่มา :

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร