fbpx

เจาะลึกประเด็นโรฮิงญาที่คุณต้องจำเป็นรู้  

เพราะเหตุใด ชาวโรฮิงญามากกว่าล้านคนในประเทศพม่าจึงมักถูกขนานนามว่าเป็น “ชนกลุ่มน้อยที่โดนกดขี่ข่มเหงมากที่สุดในโลก”

ชาวโรฮิงญาคือใคร ?

พวกเขาคือกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่าซึ่งเป็นประเทศที่ชนกลุ่มใหญ่เป็นชาวพุทธมานานร่วมศตวรรษ ปัจจุบันมีชาวมุสลิมโรฮิงญาอาศัยอยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งสิ้นประมาณ 1.1 ล้านคน

ชาวโรฮิงญาสื่อสารกันด้วยภาษาโรฮิงญาหรือรัวอิงกา (Ruaingga) ซึ่งเป็นสำเนียงหนึ่งที่แตกต่างจากภาษาที่นิยมใช้ทั่วไปในรัฐยะไข่หรืออาระกันและพม่าทั่วประเทศ พวกเขาไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งใน 135 กลุ่มชาติพันธุ์ของพม่าที่ถูกต้องอย่างเป็นทางการและถูกปฏิเสธไม่ให้เป็นพลเมืองชาวพม่าอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1982 จึงทำให้พวกเขาต้องตกอยู่ในสถานะคนไร้รัฐด้วยความจำนน

ชาวโรฮิงญาในพม่าเกือบทั้งหมดอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ทางชายฝั่งตะวันตกของประเทศ พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกประเทศโดยปราศจากการยินยอมของทางรัฐบาล รัฐยะไข่ถือเป็นหนึ่งในรัฐที่ยากจนที่สุดในประเทศที่มีการอยู่อาศัยกันเป็นชุมชนแออัดเยี่ยงค่ายผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้รับการดูแล และขาดแคลนซึ่งสาธารณูปโภคและโอกาสในการดำรงชีวิต

สืบเนื่องจากความรุนแรงและการกดขี่ข่มเหงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ชาวโรฮิงญานับแสนชีวิตต้องอพยพทั้งทางบกและทางน้ำออกไปหลบอาศัยอยู่ตามประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในที่พักพิงค่ายผู้อพยพ Kutupalang ใน Cox’s Bazar ประเทศบังคลาเทศ [Mohammad Ponir Hossain / Reuters]

ชาวโรฮิงญามาจากไหน ?

นักประวัติศาสตร์หลายท่านและกลุ่มชนชาวโรฮิงญาต่างมีความเชื่อว่า ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ปัจจุบันเราเรียกกันว่าพม่านั้นได้ปักหลักอยู่ที่นั่นกันมานานตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 แล้ว

องค์กรชาวโรฮิงญาอาระกันแห่งชาติได้กล่าวว่า “ชาวโรฮิงญาได้อาศัยอยู่ในเมืองอาระกันกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ” บนพื้นที่ที่ปัจจุบันรู้จักกันดีในนาม “ยะไข่” นั่นเอง

ในยุคสมัยการปกครองของชาวอังกฤษเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว (1824-1948) ได้มีการอพยพนำเข้าแรงงานจากประเทศอินเดียและบังคลาเทศสู่ประเทศที่ปัจจุบันเรียกว่าพม่ากันเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษได้สถาปนาให้พม่าเป็นหนึ่งในจังหวัดของประเทศอินเดียในขณะนั้น การอพยพดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการอพยพภายในประเทศ ข้อมูลดังกล่าวนี้อ้างอิงจากศูนย์เฝ้าระวังสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch (HRW)

การอพยพนำเข้าแรงงานในครั้งนั้นถูกมองในเชิงลบและเป็นที่ไม่พอใจของพลเมืองท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นอย่างยิ่ง

หลังจากได้รับเอกราชทางรัฐบาลพม่าจึงพิจารณาว่าการอพยพที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของอาณานิคมอังกฤษนั้น “เป็นสิ่งผิดกฎหมาย” “ด้วยเหตุผลนี้ทางรัฐบาลพม่าจึงใช้เป็นข้ออ้างในการปฏิเสธการให้สิทธิเป็นพลเมืองแก่ชาวโรฮิงญา” อ้างอิงตามรายงานปี 2000 ของศูนย์เฝ้าระวังสิทธิมนุษยชน HRW

สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหตุให้ให้ชาวพุทธส่วนใหญ่พิจารณาชาวโรฮิงญาว่าเป็นชาวเบงกาลี และปฏิเสธการใช้ชื่อเรียกว่าโรฮิงญาที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นชื่อที่กุก่อขึ้นมาใหม่เพื่อเหตุผลทางการเมือง

ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่เพิ่งมาถึงกำลังเดินถือสัมภาระของเธอไปยังค่ายผู้ลี้ภัยชั่วคราว Kutupalang ใน Cox’s Bazar, บังคลาเทศ [Mohammad Ponir Hossain / Reuters]

เหตุใดพวกเขาจึงโดนกดขี่ข่มเหง? และเหตุใดพวกเขาจึงไม่เป็นที่ยอมรับ ?

ไม่นานหลังจากที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี ค.ศ.1948 เมื่อพระราชบัญญัติสหภาพแห่งการเป็นพลเมือง (Union Citizenship Act) ได้รับการอนุมัติและกำหนดชัดเจนแล้วว่าชาติพันธุ์ใดบ้างที่ได้รับสิทธิในการเป็นพลเมือง จากรายงานปี 2015 ของศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชนนานาชาติ (International Human Rights Clinic) แห่งสถาบันนิติศาสตร์ Yale ได้ระบุว่า ชาติพันธุ์โรฮิงญาไม่ได้รวมอยู่ในนั้น แต่กระนั้นบัญญัติดังกล่าวก็อนุญาตให้บุคคลที่มีครอบครัวอาศัยอยู่ในประเทศพม่าอย่างน้อย 2 รุ่นสามารถยื่นคำร้องขอมีบัตรประจำตัวประชาชนได้

ชาวโรฮิงญาในช่วงยุคแรกนั้นได้รับการยอมรับในการแสดงตัวตนหรือได้รับแม้กระทั่งสิทธิในการเป็นพลเมืองภายใต้การจัดสรรตามรุ่นวัย ในยุคสมัยนั้นชาวโรฮิงญาหลายคนยังได้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาอีกด้วย

ต่อมาภายหลังจากการรัฐประหารเกิดขึ้นในพม่าเมื่อปีค.ศ.1962 มีหลายสิ่งสำหรับชาวโรฮิงญาที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทางการพม่าได้ออกคำสั่งให้พลเมืองทุกคนต้องมีบัตรแสดงการจดทะเบียนสัญชาติ แต่ชาวโรฮิงญากลับได้รับเพียงบัตรประจำตัวบุคคลต่างชาติซึ่งจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพและโอกาสในการได้รับการศึกษาตามสิทธิอันพึงได้ในฐานะราษฎรของประเทศ

ต่อมาในปีค.ศ.1982 จึงได้มีการอนุมัติกฎหมายการเป็นพลเมืองใหม่ ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาต้องกลายเป็นบุคคลไร้รัฐอย่างเลือกไม่ได้ ภายใต้กฎหมายดังกล่าวนั้นชาวโรฮิงญาไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งใน 135 กลุ่มชาติพันธุ์อีกครั้ง โดยกฎหมายดังกล่าวนี้ได้จัดตั้งการเป็นพลเมืองไว้สามระดับ และในการที่จะได้รับการรับรองว่าเป็นพลเมืองระดับขั้นพื้นฐานสุดนั้น (การเป็นพลเมืองแต่ดั้งเดิมโดยธรรมชาติ) จะต้องมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าครอบครัวของบุคคลดังกล่าวเคยอาศัยอยู่ในประเทศพม่าก่อนปีค.ศ.1948 เท่านั้น และจะต้องมีความถนัดหนึ่งในภาษาประจำชาติ ชาวโรฮิงญาหลายคนไม่มีเอกสารดังกล่าวเนื่องจากไม่ได้มีการเขียนรับรองไว้หรือไม่ก็ได้รับการปฏิเสธมาตั้งแต่แรกแล้ว

ด้วยผลข้อบังคับจากกฎหมายดังกล่าวส่งผลให้สิทธิของชาวโรฮิงญาถูกลิดรอนไป โอกาสในการศึกษาเล่าเรียน โอกาสในการทำงาน โอกาสเดินทาง โอกาสสมรส โอกาสปฏิบัติศาสนกิจและโอกาสได้รับการบริการด้านสุขภาพต่างๆ สิ่งเหล่านี้ต่างต้องถูกชะงักและยังคงต้องชะงักอย่างต่อเนื่องเรื่อยไป ชาวโรฮิงญาไม่มีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้ง หรือหากแม้นว่าพวกเขาจะเข้าไปอยู่ในขั้นตอนทดสอบการเป็นพลเมือง พวกเขาก็ต้องมีการยืนยันตนว่าเป็น “พลเมืองดั้งเดิมแบบธรรมชาติ” ซึ่งตรงกันข้ามกับการเป็นชาวโรฮิงญาเสียก่อน นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดไม่ให้ชาวโรฮิงญาเข้าไปทำงานในสายอาชีพทางการแพทย์ ทางการกฎหมายหรือแม้แต่เป็นพนักงานบริษัทก็ไม่ได้รับอนุญาตเช่นกัน

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 การปราบปรามขั้นรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่นับครั้งไม่ถ้วนได้บีบบังคับให้ผู้คนนับแสนชีวิตต้องอพยพหลบหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังคลาเทศ มาเลเซีย ไทย และอีกหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดช่วงเวลาที่มีการปราบปรามขั้นรุนแรงดังกล่าวมักมีรายงานปรากฏให้เห็นว่ามีการข่มขืน การทารุณกรรม ลอบวางเพลิง และฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของพม่าอย่างโหดเหี้ยมทารุณและไร้ซึ่งมนุษยธรรม

ภายหลังจากที่มีการลอบสังหารตำรวจชายแดนจำนวน 9 นายในเดือนตุลาคม 2016 กองกำลังทหารพม่าก็ได้เริ่มบุกกระหน่ำหมู่บ้านในรัฐยะไข่เพิ่มขึ้นไปอีก รัฐบาลพม่ากล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของกองกำลังติดอาวุธชาวโรฮิงญา การลอบสังหารครั้งนั้นนำมาซึ่งการปราบปรามเพื่อความปลอดภัยขั้นรุนแรงในหมู่บ้านที่ชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ ในระหว่างการปราบปราม ทหารของฝ่ายรัฐบาลถูกประณามว่ากระทำการข่มเหงสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังมีการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การข่มขืนและลอบวางเพลิง –ทั้งหมดนี้เป็นข้อกล่าวหาที่ทางการพม่าให้การปฏิเสธเรื่อยมา

ในเดือนพฤศจิกายน 2016 เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติประณามรัฐบาลพม่าว่ากระทำการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา ซึ่งแน่นอนว่านั่นไม่ใช่ครั้งแรกของการประณามดังกล่าว

ดังเช่นเมื่อเดือนเมษายนปี 2013 ทางศูนย์เฝ้าระวังสิทธิมนุษยชน HRW ระบุว่าทางการพม่าได้สร้างแคมเปญรณรงค์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา แต่กระนั้นทางการพม่าก็ยังคงปฏิเสธต่อข้อกล่าวหาดังกล่าว

หรือแม้แต่กรณีล่าสุดที่ทหารพม่าได้มีมาตรการปราบปรามขั้นรุนแรงต่อประชาชนชาวโรฮิงญาในประเทศ หลังจากที่ป้อมตรวจการตำรวจและฐานประจำการทหารถูกโจมตีเมื่อปลายเดือนสิงหาคม

ราษฎรและนักเคลื่อนไหวได้เล่าสาธยายถึงฉากที่กองกำลังทหารพม่ากราดยิงชาวโรฮิงญาทั้งชายและหญิงและเด็กเล็กอย่างไม่เลือกหน้า แต่ทางการพม่ากลับให้การว่ามีประชาชนถูกสังหารเพียงไม่ถึงร้อย หลังเหตุการณ์ที่กองกำลังติดอาวุธจากกองกำลังปลดปล่อยอาระกันโรฮิงญาหรือ ARSA ได้ปฏิบัติการโจมตีด่านตำรวจในภูมิภาคดังกล่าว

นับตั้งแต่ความรุนแรงปะทุขึ้น กลุ่มเรียกร้องสิทธิ์ได้ทำการบันทึกการลอบวางเพลิงในพื้นที่รัฐยะไข่ของพม่าไม่ต่ำกว่า 10 จุดแล้ว ผู้คนกว่า 50,000 ชีวิตต้องพากันหลบหนีความรุนแรงในขณะที่อีกหลายพันชีวิตต้องติดกับอยู่ในดินแดนไร้เจ้าของที่คั่นกลางระหว่างประเทศพม่าและบังคลาเทศ

รายงานขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ประชาชนนับร้อยชีวิตที่พยายามหลบหนีเข้าประเทศบังคลาเทศถูกผลักไสโดยพลทหารลาดตระเวน หลายรายถูกกักขังและบีบบังคับให้กลับไปยังประเทศพม่าเหมือนเดิม

กองกำลังป้องกันชายแดนบังคลาเทศห้ามปรามชาวโรฮิงยา บริเวณพื้นที่ชายแดนพม่า [Mohammad Ponir Hossain / Reuters]

ชาวโรฮิงญาหลบหนีออกจากพม่าจำนวนเท่าใด และพวกเขาไปที่ไหนกัน ?

นับตั้งแต่ช่วงปลายยุคสมัยปี 1970 เป็นต้นมามีชาวมุสลิมโรฮิงญาที่หลบหนีออกจากพม่าอันเนื่องจากการกดขี่ข่มเหงที่แพร่กระจายไปทั่วมากเกือบ 1 ล้านชีวิตแล้ว

ข้อมูลล่าสุดจากรายงานขององค์การสหประชาชาติในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาระบุว่า นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 มีชาวโรฮิงญาหลบหนีออกจากพม่ากว่า 168,000 ชีวิต

อ้างอิงจากรายงานขององค์กรการอพยพนานาชาติ (International organization for migration) ระบุว่า หลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา ค้นพบว่ามีชาวโรฮิงญากว่า 87,000 ชีวิตหลบหนีไปอยู่ประเทศบังคลาเทศ นับตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2016 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2017

ชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนยอมเสี่ยงชีวิตข้ามน้ำข้ามทะเลทางฝั่งอ่าวเบงกอลและฝั่งทะเลอันดามันเพื่อพยายามหลบหนีเข้าประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 ถึงปี ค.ศ. 2015 ชาวโรฮิงญากว่า 112,000 คนยอมเสี่ยงชีวิตกับการเดินทางที่เต็มไปด้วยภยันตราย

องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่ามีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากถึง 420,000 คน นอกจากจำนวนดังกล่าวแล้วยังมีอีกราว 120,000 คนที่เป็นชาวโรฮิงญาไร้ซึ่งที่พักอาศัย

รายงานโดยสำนักข่าวรอยเตอร์อ้างอิงจากแหล่งข่าวขององค์กาสหประชาชาติระบุว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของพม่าที่เริ่มต้นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาส่งผลให้ชาวโรฮิงญาราว 58,000 ชีวิตต้องหลบหนีข้ามชายแดนไปยังประเทศบังคลาเทศ ในขณะที่อีกกว่า 10,000 ชีวิตต้องจองจำอยู่บนดินแดนไร้เจ้าของที่คั่นกลางระหว่างสองประเทศ 

นางออง ซาน ซูจี และรัฐบาลพม่าแสดงท่าทีต่อกรณีชาวโรฮิงญาอย่างไร ?

นางอองซาน ซูจี ผู้ซึ่งเป็นผู้นำประเทศพม่าโดยพฤตินัยได้บ่ายเบี่ยงและปฏิเสธการกล่าวพาดพิงถึงประเด็นชะตากรรมของชาวโรฮิงญาในพม่า

นางอองซาน ซูจีและรัฐบาลภายใต้แกนนำของเธอไม่ยอมรับชาวโรฮิงญาว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ของพม่า และได้ตำหนิความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่และการปราบปรามขั้นรุนแรงอย่างต่อเนื่องต่อฝ่ายตรงข้ามที่พวกเขาเรียกว่า “ผู้ก่อการร้าย”

เธอผู้เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพคนนี้ไม่มีอำนาจในการควบคุมกองกำลังทหาร แต่สิ่งที่เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์คือความล้มเหลวในการที่เธอไม่ได้ออกมาประณามการใช้กำลังอย่างไม่เลือกหน้าของพลทหาร และความล้มเหลวในการยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญากว่าล้านชีวิตในพม่า

เช่นเดียวกันกับรัฐบาลพม่าเองที่ยังคงยืนยันเสียงแข็งและปฏิเสธต่อข้อกล่าวหาว่ากระทำการรุนแรงดังกล่าว ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2017 องค์การสหประชาชาติได้เผยแพร่รายงานชิ้นหนึ่งที่ระบุว่ามีการค้นพบว่ากองกำลังทหารฝ่ายรัฐบาล “มีแนวโน้มสูง” ว่าได้กระทำการอาชญากรรมที่ขัดต่อหลักมนุษยธรรมมาตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกของการปราบปรามขั้นรุนแรงโดยเหล่าพลทหารเมื่อเดือนตุลาคม 2016 เรื่อยมา

ในตอนนั้นทางฝ่ายรัฐบาลพม่าไม่ได้เอ่ยถึงข้อสรุปของรายงานดังกล่าวโดยตรงแต่อย่างใดเลย อีกทั้งยังกล่าวว่ารัฐบาล “มีสิทธิ์ในการปกป้องประเทศโดยชอบธรรมตามกฎหมาย” ต่อ “กรณีการก่อการก่อร้ายที่เพิ่มขึ้น” และยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าการสอบสวนภายในประเทศนั้นเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้ว

นางอองซาน ซูจี ยังกล่าวขณะให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวบีบีซีเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่าคำกล่าวหาว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” นั้นฟังดูโหดร้ายเกินไปต่อการอธิบายถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่

“ฉันไม่คิดว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใดๆ เกิดขึ้น” เธอกล่าว “ฉันคิดว่า คำว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นฟังดูแล้วโหดเหี้ยมเกินไปที่จะอธิบายถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้”

ในเดือนกันยายนปี 2016 นางอองซาน ซูจี ได้มอบหมายให้ นายโคฟี่ อันนัน อดีตเลขานุการองค์การสหประชาชาติ หาแนวทางในการเยียวยารักษาประเด็นความแตกแยกที่เกิดขึ้นมายาวนานในภูมิภาคดังกล่าว ในขณะที่หลายฝ่ายต่างยินดีกับคณะกรรมาธิการและข้อสรุปที่ออกมาในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นายอาซีม อิบรอฮีม เจ้าหน้าที่อาวุโสแห่งศูนย์นโยบายสากลกลับโต้แย้งว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการของนางอองซาน ซูจี ในการ “ปลอบประโลมประชาคมชาวโลก และพยายามที่จะแสดงให้นานาชาติเห็นว่าเธอกำลังทำในสิ่งเธอสามารถกระทำในการแก้ปัญหาประเด็นความขัดแย้งดังกล่าว”

นายอันนัน ไม่ได้รับมอบหมายให้สอบสวนกรณีพิเศษเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ได้รับมอบหมายให้มุ่งไปที่ประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษาและสวัสดิการสุขภาพในระยะยาวเสียมากกว่า

เมื่อเริ่มก่อตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าวรัฐบาลของนางอองซาน ซูจี กล่าวยืนยันว่าจะน้อมรับและยอมปฏิบัติตามทุกข้อสรุปที่เจรจา โดยคณะกรรมาธิการได้เร่งรัดให้ทางรัฐบาลยุติการปราบปรามขั้นรุนแรงด้วยกองกำลังทหารในพื้นที่บริเวณที่ชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ และขอให้ยุติข้อจำกัดเล็กน้อยต่างๆ ต่อสิทธิในการเคลื่อนไหวและการเป็นพลเมืองของชาวโรฮิงญา

จากการเผยแพร่ของรายงานเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาระบุว่า ทางรัฐบาลพม่ายินดีน้อมรับคำแนะนำของคณะกรรมาธิการและกล่าวยืนยันว่า “จะรับพิจารณาปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างสุดกำลังความสามารถ…ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในภาคสนาม”

แต่กระนั้นทางการพม่าก็ยังคงจำกัดการเข้าออกของนักข่าวและเจ้าหน้าที่ลำเลียงสิ่งของบรรเทาทุกข์ในเขตทางตอนเหนือของรัฐยะไข่เช่นเดิม นางอองซาน ซูจี ยังได้กล่าวหากลุ่มบรรเทาทุกข์เหล่านั้นด้วยว่าพยายามช่วยเหลือคนที่รัฐบาลเชื่อว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย”

ในเดือนมกราคม นางแยงจฮี ลี ผู้เขียนรายงานกรณีสิทธิมนุษยชนในพม่าต่อคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติกล่าวว่าเธอถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปยังบางส่วนของรัฐยะไข่ และได้รับอนุญาตให้พูดกับชาวโรฮิงญาที่ได้รับการอนุมัติล่วงหน้าจากทางรัฐบาลเพียงเท่านั้น

นอกจากนี้ทางการพม่ายังปฏิเสธการออกวีซ่าให้กับสมาชิกฝ่ายสืบสวนขององค์การสหประชาชาติเพื่อเข้าไปสืบสวนความรุนแรงและการล่วงละเมิดในรัฐยะไข่ตามที่ถูกกล่าวหาอีกด้วย

บังคลาเทศแสดงท่าทีต่อชาวโรฮิงญาอย่างไร ?

ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเกือบครึ่งล้านชีวิตอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยชั่วคราวอันแสนกันดารในประเทศบังคลาเทศ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วยังคงอยู่ในสภาพที่ไม่ขึ้นทะเบียนแต่อย่างใด

บังคลาเทศพิจารณาว่าผู้ลี้ภัยที่ข้ามแดนและอาศัยอยู่นอกเขตพื้นที่ค่ายลี้ภัยนั้นเป็น “ผู้บุกรุกที่เข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมาย” บ่อยครั้งที่บังคลาเทศพยายามกีดกันไม่ให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาข้ามแดนเข้ามาในประเทศของตน

ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาทางการบังคลาเทศได้ปรับเปลี่ยนแผนใหม่ให้โยกย้ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจากพม่านับหมื่นคน ไปอาศัยอยู่บนเกาะกันดารแห่งหนึ่งซึ่งเป็นเกาะที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยเป็นอย่างมาก และเป็นเกาะที่กลุ่มเพื่อสิทธิมนุษยชนเรียกมันว่า “ไม่สามารถอยู่อาศัยได้” โดยภายใต้แผนการซึ่งเดิมมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2015 ดังกล่าวนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจะทำการเคลื่อนย้ายชาวพม่าที่ไม่ได้รับการรับรองลำเลียงไปยังเกาะ Thengar Char ทางชายฝั่งของอ่าวเบงกอล

กลุ่มองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ประณามแผนการดังกล่าวด้วยเพราะว่าเกาะแห่งนั้นมักจะมีน้ำท่วมและกลายเป็นทะเลย่อยๆ ในช่วงมรสุมตลอดมา องค์การสหประชาชาติมองแผนการเคลื่อนย้ายเชิงบังคับดังกล่าวว่าเป็น “เรื่องโต้แย้งที่ซับซ้อนมาก”

ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้เอง ทางรัฐบาลบังคลาเทศได้เสนอตัวอย่างเป็นทางการในการเข้าร่วมศึกปฏิบัติการกองกำลังทหารเพื่อช่วยเหลือประเทศพม่าจัดการกับกลุ่มนักรบติดอาวุธในรัฐยะไข่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ออกมาแสดงท่าทีเป็นกังวลด้วยเกรงว่าความรุนแรงที่เริ่มร้อนระอุขึ้นมาใหม่นั้นอาจเป็นเหตุให้มีการหลั่งไหลเข้ามาของผู้ลี้ภัยข้ามแดนมากเพิ่มขึ้นไปอีก

เด็กๆ ชาวโรฮิงญากำลังข้ามรั้วที่กั้นระหว่างชายแดนบังคลาเทศ – พม่า เพื่อพยายามเข้าสู่ประเทศบังคลาเทศ [Mohammad Ponir Hossain / Reuters]

ประชาคมนานาชาติแสดงท่าทีต่อชาวโรฮิงญาอย่างไร ?

ประชาคมนานาชาติได้ขนานนามชาวโรฮิงญาว่าเป็น “ชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่ข่มเหงมากที่สุดในโลก”

องค์การสหประชาชาติและกลุ่มองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนจากหลายฝ่ายเช่น Amnesty International และศูนย์เฝ้าระวังเพื่อสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch ได้ร่วมกันประณามการกระทำของรัฐบาลพม่าและประเทศเพื่อนบ้านต่อประชาชนชาวโรฮิงญา

องค์การสหประชาชาติกล่าวว่ามีแนวโน้มสูงว่ากองกำลังทหารได้กระทำการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในรัฐยะไข่ที่อาจก่อให้เกิดอาชญากรรมสงครามได้ ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่รัฐบาลพม่าให้การปฏิเสธเรื่อยมา

ในเดือนมีนาคมทางองค์การสหประชาชาติได้ลงมติให้ก่อตั้งปฏิบัติการอิสระระดับนานาชาติขึ้นมาเพื่อสืบสวนถึงประเด็นการล่วงละเมิดตามที่ได้มีการกล่าวหา และเพื่อเป็นการช่วยยุติปัญหาการเรียกร้องให้คณะกรรมการสืบสวนซึ่งเป็นชุดสอบสวนระดังสูงสุดของสหประชาชาติเข้ามามีบทบาทด้วย

คณะกรรมการสืบสวนของสหประชาชาติจึงต้องมีการแถลงการณ์รายงานความเคลื่อนไหวล่าสุดในเดือนกันยายนนี้และจะมีรายงานข้อสรุปฉบับเต็มตามมาอีกครั้งภายในปีหน้า

กลุ่มองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ต่อท่าทีกระอักกระอ่วนของรัฐบาลพม่าในการยินยอมให้คณะกรรมการสืบสวนของสหประชาชาติเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง

ศูนย์เฝ้าระวังเพื่อสิทธิมนุษยชน (HRW) ออกมาเตือนรัฐบาลพม่าว่ากำลังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกจัดประเภทให้เป็น “รัฐบาลที่ถูกนานาชาติคว่ำบาตร” ดังเช่นเกาหลีเหนือและซีเรีย หากพม่าไม่อนุญาตให้สหประชาชาติเข้าไปสืบสวนอาชญากรรมในประเทศตามที่ถูกกล่าวหา

ล่าสุดเลขานุการแห่งสหประชาชาติ Antonio Guterres  กล่าวว่าเขารู้สึก “เป็นกังวลอย่างยิ่ง” ต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐระไข่ขณะนี้

“จุดเปลี่ยนของเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่าเวทนามาก” ผู้นำสูงสุดด้านสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ Zeid Ra’ad al Hussein  กล่าว “มันเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้และน่าจะมีมาตรการป้องกันได้” Hussein กล่าวต่อไปด้วยว่า “เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบที่เรื้อรังยืดเยื้อมานานหลายสิบปี ที่รวมถึงการตอบโต้ด้านความปลอดภัยต่อการโจมตีที่รุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2016 สิ่งเดียวกันนี้ได้ก่อให้เกิดการบ่มเพาะของความสุดโต่งขั้นรุนแรงที่สามารถสร้างความสูญเสียให้กับทุกฝ่ายได้ในที่สุด”

เจ้าหน้าที่แห่งองค์การสหประชาชาติทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันสนับสนุนข้อสรุปของคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาที่นำโดยนายโคฟี่ อันนัน และเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามคำแนะนำดังที่ได้เจรจากันไว้

ใครคือ “กองกำลังปลดปล่อยอาระกันโรฮิงญา” หรือ ARSA ?

กองกำลังปลดปล่อยอาระกันโรฮิงญา (ARSA) เคยเป็นที่รู้จักกันในนาม “กลุ่มเคลื่อนไหวแห่งพลังศรัทธา al-Yaqeen” ได้ออกมาแถลงการณ์ภายใต้ชื่อใหม่เมื่อเดือนมีนาคม 2017 ว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีการ “ต่อสู้เพื่อป้องกัน กอบกู้ และปกป้องสังคมชาวโรฮิงญา”

ทางกลุ่มกล่าวว่าพวกเขาจะยังคงดำเนินการต่อไป “อย่างสุดความสามารถ เนื่องจากเรามีสิทธิโดยชอบธรรมภายใต้กฎหมายนานาชาติในการที่จะปกป้องชีวิตบนบรรทัดฐานในหลักการของการป้องกันตนเอง”

แต่สำหรับรัฐบาลพม่าแล้วกลุ่มดังกล่าวถือเป็นองค์กร “ก่อการร้าย”

ในแถลงการณ์เดือนมีนาคม ARSA ได้ออกมายืนยันเพิ่มเติมว่าทางกลุ่ม “ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศใดๆ ทั้งสิ้น” และ “ไม่มีเจตนาจะกระทำการก่อการร้ายใดๆ ต่อประชาชนพลเรือนทั่วไปไม่ว่าพวกเขาจะนับถือศาสนาใดหรือมาจากเผ่าพันธุ์ใดก็ตาม”

แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า “เรา […] ขอประกาศก้องอย่างชัดเจนว่ าการโจมตีเพื่อป้องกันของเรานั้นมีเป้าหมายเป็นกองกำลังทหารพม่าที่กดขี่ข่มเหงเพียงเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับธรรมเนียมและหลักการนานาชาติ เราจะทำจนกระทั่งการเรียกร้องของเราเป็นผลสำเร็จ”

ทางกลุ่มได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีโจมตีปราการตำรวจและฐานประจำการทหารในรัฐยะไข่ ตามรายงานของรัฐบาลได้ระบุว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นเกือบ 400 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของกลุ่ม ARSA แต่กลุ่มองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าพลเมืองกว่าร้อยชีวิตกลับถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเอง

กลุ่มองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน Fortify Rights กล่าวว่ามีการรวบรวมข้อมูลระบุว่านักรบฝ่าย ARSA ก็ถูกกล่าวหาว่าสังหารประชาชนในไม่กี่วันกี่เดือนที่ผ่านมานี้เช่นกัน โดยส่วนใหญ่ที่ถูกสังหารเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้แจ้งข้อมูลให้กับรัฐบาล อีกทั้งยังกีดกันบุรุษและเด็กชายจากการหลบหนีไปยังเมืองมองดอว์ (Maungdaw Township) อีกด้วย

รายงานอ้างอิงจากกลุ่มวิกฤติการณ์นานาชาติ (International Crisis group) ระบุว่า กลุ่ม ARSA นั้นมีเครือข่ายกับชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในประเทศซาอุดีอาระเบีย

รัฐบาลพม่าได้ออกมาจัดประเภทกลุ่มดังกล่าวว่าเป็นองค์กร “ก่อการร้าย” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านไม่นานมานี่เอง

 

แปลและเรียบเรียงโดย : Andalas Farr
ที่มา : Myanmar: Who are the Rohingya Muslims?

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร