fbpx

10 สิ่งที่มุสลิมควรทำ เมื่อต้องออกเดินทาง

ช่วงเทศกาลวันหยุดยาวแบบนี้ หลายๆ คน ก็คงจะเริ่มเก็บกระเป๋าออกเดินทางกันบ้างแล้ว นอกจากเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ การเตรียมให้พร้อมก่อนออกเดินทางและวิธีรับมือกับสิ่งที่จะเจอระหว่างทาง ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การเดินทางของคุณนั้นสะดวกและง่ายดายมากยิ่งขึ้น จะมีอะไรบ้างนั้นไปเตรียมตัวพร้อมๆ กันเลยค่ะ

 

1- เตรียมสุขภาพร่างกายให้พร้อม

ก่อนจะออกเดินทางไกลไปต่างถิ่น สิ่งที่ต้องพร้อมอันดับแรกก็คือร่างกาย เพราะเราไม่รู้เลยว่าจะไปเจออะไรบ้างข้างหน้า ดังนั้นก่อนวันออกเดินทางควรพักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่เป็นคนขับขี่ยิ่งต้องฟิตเป็นพิเศษ และหากเป็นทริปที่ต้องไปผจญภัยหนักๆ ด้วยแล้วนั้น ก็ควรจะวอร์มร่างกายในระดับนึง อาจจะออกกำลังกายสักเล็กน้อยและอย่าลืมเช็คสุขภาพตัวเองให้ดี เพื่อความปลอดภัยต่อตัวเราเองตลอดทั้งทริป

 

2- เตรียมสิ่งของเครื่องใช้และอาหารให้พร้อม

การเตรียมตัวดีมีชัยไปกว่าครึ่ง นั่นหมายความว่าเราควรเตรียมอุปกรณ์ดำรงชีพพื้นฐาน เช่น ยาสามัญ ยาประจำตัว อุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือฉุกเฉิน เพื่อที่คุณได้ไม่ต้องไปลุ้นเอาข้างหน้าว่าของที่จะใช้นั้นจะมีขายอยู่ข้างหน้าหรือเปล่า และเมื่อต้องออกเดินทางไกลเป็นเวลานาน แน่นอนเรื่องปากท้องนั้นสำคัญมาก บางสถานที่ที่จะไปอาจไม่มีอาหารฮาลาลขาย ดังนั้นเราควรเตรียมอาหารไว้ทานระหว่างทาง เช่น ขนม น้ำ อาหารสำเร็จรูป หรืออาจจะทำอาหารเองที่บ้านแล้วแบ่งใส่กล่องไว้ก็ประหยัดและอร่อยถูกปากด้วย

 

3- สะสางงานและปิดบ้านให้เรียบร้อย

แน่นอนว่าช่วงหยุดยาว หลายๆ คงอยากลืมงานยุ่งๆ ตรงหน้า แล้วส่งใจไปอยู่ ณ ที่หมายแล้ว แต่อย่าลืมวางแผนการทำงานให้ดีเสียก่อน เคลียร์งานทั้งหมดให้เสร็จก่อนออกเดินทาง เพื่อที่จะให้ตลอดการเดินทางของคุณนั้นได้พักผ่อนอย่างสบายใจหายห่วง

และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ คือการปิดบ้านให้มิดชิดเรียบร้อย หากไม่มีคนอยู่ดูแลก็ควรจะฝากเพื่อนบ้านไว้ บอกวันเวลาที่คุณเดินทางกลับให้ดี เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอะไรจะได้แก้ไขทันท่วงที

 

4- อย่าลืมอ่านดุอาก่อนออกเดินทาง

เมื่อกายพร้อม ใจพร้อม อุปกรณ์ครบ ก็อย่าลืมมอบหมายทุกสิ่งด้วยการขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺด้วยการอ่านดุอา หากการเดินทางครั้งนี้มีเด็กๆ ด้วย ก็อย่าลืมสอนพวกเขาให้อ่านดุอาไปพร้อมๆ กัน ก็เป็นการเพิ่มพลังใจได้อย่างดีเยี่ยม

– ดุอาก่อนออกจากบ้าน

بِسْمِ اﷲِتَوَكَّلْتُ عَلىَاﷲ لاَحَوْلَ وَلاَقُوَّةَإِلاَّبِاﷲِ

“ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ฉันขอมอบหมยต่ออัลลอฮฺ ไม่มีพลังและอำนาจใดๆ นอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น”(บันทึกโดยอบูดาวูดและติรมีซีย์)

– ดุอาเมื่อขับขี่ยานพาหนะ

سُبْحَانَ الَّذِيْ سَخَّرَلَنَاهَذَا وَمَاكُنَّالَهُ مُقْرِنِيْنَ وَإِنَّاإِلىَ رَبِّنَالَمُنْقَلِبُوْنَ

“มหาบริสุทธิ์แด่อัลลอฮฺ ผู้ทรงบังเกิดพาหนะนี้ เพื่อความสะดวกแก่เรา ทั้งที่เราไม่มีพลังที่จะควบคุมมัน และแน่นอนเราต้องกลับคืนสู่พระผู้ทรงอภิบาลของเรา” (บันทึกโดย มุสลิม)

 

Photo by Jeremy Yap on Unsplash

5- คนอยู่บ้านดุอาให้คนเดินทาง และคนเดินทางดุอาให้คนอยู่บ้าน

ดุอาเปรียบเสมือนขุมกำลังใจมหาศาล คนอยู่บ้านสามารถดุอาให้กับคนเดินทางเพื่อพวกเขารู้สึกอุ่นใจ และคนเดินทางเองก็สามารถดุอาให้คนที่อยู่บ้านได้ เพราะดุอาของคนเดินทางนั้นอัลลอฮฺจะทรงตอบรับ

 – ดุอาอ์ของผู้ที่อยู่กับบ้านให้กับผู้ที่กำลังจะออกเดินทาง

أَسْتَوْدِعُ اللَّهَ دِينَكَ وَأَمَانَتَكَ وَخَوَاتِيمَ عَمَلِكَ

“ขอฝากศาสนา ความรับผิดชอบ และผลสุดท้ายของการงานของท่านให้กับอัลลอฮฺ” (บันทึกโดยติรมิซีย์และอัล-ฮากิม)

ดุอาอ์ของผู้ที่กำลังจะออกเดินทางให้กับผู้ที่อยู่กับบ้าน

أَسْتَوْدِعُكَ اللَّهَ الَّذِى لاَ يُضِيعُ وَدَائِعَهُ

“ของฝากท่านให้กับอัลลอฮฺ ผู้ทรงไม่ละเลยต่อของที่ถูกฝากไว้” (บันทึกโดยอะห์มัดและอิบนุมาญะฮฺ)

 

6- เมื่อต้องเดินทาง อนุญาตให้ละหมาดย่อรวมได้

อัลลอฮฺไม่ได้ทรงกำหนดบทบัญญัติต่างๆ มาให้เกิดความยุ่งยากในชีวิตเรา ดังนั้นเมื่อเราจำเป็นที่จะต้องออกเดินทาง พระองค์ก็ทรงผ่อนผันให้สามารถละหมาดย่อ และละหมาดรวมได้

การละหมาดย่อ

– เป็นการลดจำนวนร่อกะอัตของการละหมาดฟัรดูชนิดที่มี 4 ร่อกะอัตให้เหลือ 2 ร่อกะอัต

– ส่วนละหมาดฟัรดูที่มีเพียง 3 หรือ 2 ร่อกะอัต นั้นไม่สามารถทำการละหมาดย่อได้

การละหมาดรวม

– มีเงื่อนไขว่าละหมาดที่จะรวมกันได้นั้น คือละหมาดดุฮ์รีรวมกับอัสริ และมักริบรวมกับอิซาเท่านั้น

สามารถศึกษาการย่อรวมเพิ่มเติมได้ที่ https://islamhouse.com

 

Photo by Kowit Phothisan on Unsplash

7- คำกล่าวเมื่อหยุดพักระหว่างทาง

เมื่อเป็นการเดินทางไกลที่ใช้เวลานาน เรามักจะหยุดพักตามจุดพักผ่อนต่างๆ เรามักจะแวะซื้อขนมนมเนยหรือออกไปยืดเส้นยืดสาย แล้วก็อย่าลืมทำตามซุนนะห์ของท่านนบี (ซ.ล.) ดังรายงานจากเคาละฮฺ บินตุ หะกีม อัส-สะลีมะฮฺ (ร.ด.) :

سَمِعْتُ رَسُولَ اللَّهِ صلى الله عليه وسلم يَقُولُ «مَنْ نَزَلَ مَنْزِلاً ثُمَّ قَالَ : “أَعُوذُ بِكَلِمَاتِ اللَّهِ التَّامَّاتِ مِنْ شَرِّ مَا خَلَقَ” لَمْ يَضُرَّهُ شَىْءٌ حَتَّى يَرْتَحِلَ مِنْ مَنْزِلِهِ ذَلِكَ

ความว่า ฉันได้ยินท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) กล่าวว่า : ผู้ใดที่หยุดพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง แล้วเขากล่าวว่า…

أَعُوذُ بِكَلِمَاتِ اللَّهِ التَّامَّاتِ مِنْ شَرِّ مَا خَلَقَ

(ฉันขอความคุ้มครองด้วยถ้อยคำแห่งอัลลอฮฺที่สมบูรณ์จากความชั่วร้ายที่พระองค์สร้างขึ้น)   เขาย่อมจะไม่ได้รับอันตรายจากสิ่งใดๆ จนกระทั่งเขาย้ายออกไปจากที่แห่งนั้น” (บันทึกโดยมุสลิม)

 

8- วิธีนอนในยามเดินทาง

เมื่อถึงที่พักเรียบร้อยและได้เวลาที่ต้องเข้านอน ก็อย่าลืมทำตามเคล็ดลับของท่านนบี (ซ.ล.) ที่ได้ทำเป็นตัวอย่างไว้ รายงานจากอบู เกาะตา (ร.ด.) เล่าว่า :

كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صلى الله عليه وسلم إِذَا كَانَ فِى سَفَرٍ فَعَرَّسَ بِلَيْلٍ اضْطَجَعَ عَلَى يَمِينِهِ وَإِذَا عَرَّسَ قُبَيْلَ الصُّبْحِ نَصَبَ ذِرَاعَهُ وَوَضَعَ رَأْسَهُ عَلَى كَفِّهِ

ความว่า : ท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) เมื่อท่านอยู่ในระหว่างการเดินทางแล้ว และท่านหยุดพักกลางทางในยามค่ำคืน ท่านจะนอนพักผ่อนด้วยการตะแคงด้านขวา และเมื่อท่านหยุดพักกลางทางก่อนรุ่งอรุณเล็กน้อย ท่านจะนอนพักผ่อนด้วยการตั้งแขนและวางศีรษะพาดลงบนฝ่ามือของท่าน (บันทึกโดยมุสลิม)

 

Photo by Igor Ovsyannykov on Unsplash

9- ช่วยเหลือเพื่อนร่วมทางและคนอื่นๆ

ระหว่างการเดินทางนั้นเราอาจได้เจอเพื่อนใหม่ๆ ทั้งที่เป็นพี่น้องมุสลิมและเพื่อนต่างศาสนิก เราสามารถเผยแพร่คำสอนของอิสลามได้ง่ายๆ ผ่านมารยาทที่นบี (ซ.ล.) ได้กระทำเป็นแบบอย่างเอาไว้ รายงานจากอบีสะอีด อัล-คุดรีย์ (ร.ด.) กล่าวว่า :

بَيْنَمَا نَحْنُ فِى سَفَرٍ مَعَ النَّبِىِّ صلى الله عليه وسلم إِذْ جَاءَ رَجُلٌ عَلَى رَاحِلَةٍ لَهُ، قَالَ : فَجَعَلَ يَصْرِفُ بَصَرَهُ يَمِينًا وَشِمَالاً، فَقَالَ رَسُولُ اللَّهِ  صلى الله عليه وسلم «مَنْ كَانَ مَعَهُ فَضْلُ ظَهْرٍ فَلْيَعُدْ بِهِ عَلَى مَنْ لاَ ظَهْرَ لَهُ، وَمَنْ كَانَ لَهُ فَضْلٌ مِنْ زَادٍ فَلْيَعُدْ بِهِ عَلَى مَنْ لاَ زَادَ لَهُ »

ความว่า : ในขณะที่เรากำลังอยู่ในระหว่างการเดินทางพร้อมๆ กับท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) นั้น ก็ได้มีชายคนหนึ่งขี่พาหนะมา เขากวาดสายตามองขวาและมองซ้าย ท่านร่อซุ้ล (ซ.ล.) จึงกล่าวว่า “ผู้ใดที่มีที่นั่งเหลือ ก็ขอให้เขาจัดให้ผู้ที่ไม่มีที่นั่งด้วย และผู้ใดที่มีเสบียงเหลือ ก็ขอให้เขาจัดให้ผู้ที่ไม่มีเสบียงด้วย”

(บันทึกโดยมุสลิม)

 

10- สิ่งที่ควรทำ เมื่อการเดินทางเสร็จสิ้น

 เมื่อภารกิจการเดินทางจบลงเรียบร้อย ควรรีบกลับบ้านเพื่อมาหาครอบครัวและเตรียมตัวทำงานภายหลังจากที่ได้หยุดไป ดังที่ท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวไว้ว่า

السَّفَرُ قِطْعَةٌ مِنَ الْعَذَابِ، يَمْنَعُ أَحَدَكُمْ نَوْمَهُ وَطَعَامَهُ وَشَرَابَهُ، فَإِذَا قَضَى أَحَدُكُمْ نَهْمَتَهُ فَلْيُعَجِّلْ إِلَى أَهْلِهِ

ความว่า : การเดินทางนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการทรมาน มันหักห้ามคนของพวกท่านจากการนอน อาหาร และเครื่องดื่ม ดังนั้น เมื่อพวกท่านคนใดได้ทำภารกิจของเขาเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้นเขาจงรีบเดินทางกลับไปหาครอบครัวโดยเร็ว  (บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

 

จะเห็นได้ว่าแม้แต่การเดินทางของมุสลิมเรานั้น ก็มีคำสอนที่เป็นเคล็ดลับอยู่มากมาย ดังนั้นอย่าลืมวางแผนการเดินทางของคุณให้ครอบคลุมทั้งก่อนเดินทาง ระหว่างทาง และเมื่อเดินทางกลับ  โดยคำถึงความรอบครอบปลอดภัยและต้องไม่ลืมสิ่งที่เป็นซุนนะห์ของท่านนบี (ซ.ล.) เพื่อที่จะให้การออกเดินทางนั้นบรรลุผลทั้งจุดหมายปลายทาง และได้รับความดีงามไปพร้อมๆ กัน

 

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก
islamhouse.com : มารยาทในการเดินทาง

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Azlan

กองบรรณาธิการรุ่นเล็ก