fbpx

วันใหม่ของโรงเรียนศาสนูปถัมภ์ (คลองเคล็ด) ในสายตา อ.ไฟโรส อยู่เป็นสุข

เป็นระยะเวลากว่า 40 ปีแล้วที่ ศาสนูปถัมภ์ โรงเรียนสอนศาสนาย่านคลองเคล็ด (กรุงเทพฯ) ยืนระยะท่ามกลางมรสุมและพายุของปัญหาที่ซัดถาโถมระลอกแล้วระลอกเล่า ที่ผ่านมาโรงเรียนสอนศาสนาแห่งนี้ผลิตนักวิชาการอิสลามและนักกิจกรรมทางสังคมที่มีคุณภาพมากมายหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น อ.อัชอารีย์ เรืองปราชญ์ อ.อับดุลวาเฮด หวังประโยชน์ อ.ซิดดี๊ก มูฮำหมัดสะอี๊ด และนักวิชาการรุ่นใหม่อีกหลายคน

ในท่ามกลางสารพันปัญหาที่ถาโถมเข้าใส่โรงเรียนศาสนูปถัมภ์แห่งนี้ต้องปรับตัวหลายอย่างเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งการปรับเปลี่ยนจากโรงเรียนสอนศาสนาร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นโรงเรียนบูรณาการศาสนาและสามัญ รวมไปถึงการปรับโครงสร้างและบุคลากรด้านการบริหาร

ปัจจุบัน ศาสนูปถัมภ์ อยู่ในช่วงขวบปีที่ 2 ของคณะบริหารชุดใหม่ภายใต้การนำของ อาจารย์ไฟโรส อยู่เป็นสุข ลูกชายคนโตที่เป็นดั่งลูกไม้ใกล้ต้นของ อาจารย์มุสตอฟา อยู่เป็นสุข ผู้ก่อตั้งโรงเรียน

ทิศทางการดำเนินงานและการเรียนการสอนของโรงเรียนศาสนูปถัมภ์ ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไร ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์ อาจารย์ไฟโรส อยู่เป็นสุข ชิ้นนี้

ศาสนูฯในวันนี้

หากเปรียบกับต้นไม้ ศาสนูฯในวันนี้ก็เสมือนกับต้นไม้ที่กำลังอยู่ในช่วงผลัดใบ เพื่อผลิดอกออกผลในฤดูต่อไป เป็นช่วงเวลาแห่งการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านการบริหารรวมถึงการเรียนการสอน โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตเยาวชนมุสลิมที่มีความรู้ทางด้านสามัญและศาสนาออกสู่สังคม

เราต้องการผลิตมุสลิมที่ประกอบอาชีพต่างๆ แล้วมีความรู้ทางด้านศาสนา รู้ในที่นี้คือไม่ได้รู้แบบผิวเผิน แต่ต้องรู้จริง เราต้องการแบบนั้น เด็กเรียนที่นี่จะมีศาสนาติดตัว ไม่ว่าจะไปประกอบอาชีพอะไรเขาก็สามารถนำสิ่งที่เขาได้ร่ำเรียนมาไปใช้ในชีวิตบริบทของตัวเองได้ ตรงนั้นเป็นสิ่งที่เราคาดหวังมาก

ทิศทางใหม่ในการบริหาร

เราพยายามนำสิ่งที่มีอยู่มาต่อยอดและพัฒนา ทำสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น เราเน้นไปที่การปรับปรุงและพัฒนาตัวบุคลากร โดยเฉพาะครูผู้สอนให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถทั้งทางด้านศาสนาและสามัญ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารและการเรียนการสอนเพื่อให้ทันกับยุคสมัย

เราจะแบ่งเด็กออกเป็น 3 กลุ่ม หนึ่งคือเด็กที่มีความจำดี สองคือเด็กที่มีความคิดวิเคราะห์ดี และสามคือเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ดี ซึ่งเด็กแต่ละคนมีความต้องการแตกต่างกัน เมื่อเรารู้ว่าเด็กแต่ละคนเป็นแบบไหนเราจะได้ชี้นำเขาได้ตรงเป้า เพื่อที่เขาจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการเรียนที่นี่

เรามุ่งเน้นให้นักเรียนได้นำความรู้ทางด้านศาสนามาควบคู่กับด้านสามัญ ซึ่งจะทำให้เด็กมีความรู้ได้ทั้งสองสาย และสามารถนำความรู้ตรงนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ สามารถนำไปต่อยอดได้ในระดับมหาวิทยาลัย ในช่วงมัธยมต้นเป็นการเรียนการสอนขั้นพื้นฐานทั่วไป ส่วนในชั้นมัธยมปลายแบ่งออกเป็น 2 สาขาการเรียนรู้คือ สายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์  และ ศิลป์-ซานาวีย์  ซึ่งนักเรียนที่เรียนจบทั้งสองสาขานี้จะสามารถทำการสอบเพื่อไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้เหมือนกับโรงเรียนสามัญทั่วไป แต่พิเศษตรงที่เขาจะได้ศาสนาและภาษาอาหรับเป็นพื้นฐานติดตัวไปด้วย

ศาสนูในวันข้างหน้า

เรามีเป้าหมายว่าในปี 2562 ศาสนูปถัมภ์จะเปลี่ยนเป็นโรงเรียนประจำ 100% เพื่อที่นักเรียนจะได้มีเวลาเต็มที่กับการเรียน การดูแลนักเรียนก็จะง่ายขึ้น และเรากำลังมีโครงการที่จะเปิดโรงเรียนสอนศาสนาภาคค่ำ โดยสอนเฉพาะผู้ชาย อายุ 25 ปีขึ้นไป และต้องจบปริญญาตรี สาขาใดก็ได้ ต้องอ่านกุรอานได้ และมีความสนใจที่จะเรียนศาสนาจริงๆ ซึ่งสิ่งที่เราหวังคือเขามีความรู้เรื่องอิสลามเพิ่มขึ้นและสามารถนำไปถ่ายทอดได้ เราอยากให้เขาคุตบะห์วันศุกร์ได้ เราอยากเห็นคนจบวิชาสามัญสามารถให้ความคิดและเปลี่ยนแปลงคนได้ จะได้ช่วยกันแบ่งเบาภาระโต๊ะครู ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงดำเนินการทำหลักสูตร

“วันใหม่” กองทุนเพื่อนักเรียนกำพร้าและยากจน

ทางโรงเรียนได้จัดตั้งทุนการศึกษาชื่อว่า กองทุนวันใหม่เพื่อเด็กกำพร้าและยากจน เดิมกองทุนนี้ดูแลโดยสถานีโทรทัศน์ TMTV แต่ในช่วงหลังจำนวนจำนวนเด็กกำพร้าที่ดูแลมีมากขึ้น ทำให้ภาระเพิ่มขึ้น ทางฝ่ายบริหารของโรงเรียนจึงอยากแบ่งเบาภาระโดยแบ่งงานจากทางสถานีมาทำ โดยทาง TMTV จะดูแลกลุ่มเด็กกำพร้าและยากจนที่ไม่ได้อยู่ในโรงเรียน ส่วนทางโรงเรียนก็จะรับผิดชอบดูแลในส่วนของเด็กกำพร้าและยากจนที่มาสมัครเรียนและที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นนักเรียนที่นี่แล้ว

ผู้ปกครองคนไหนที่พานักเรียนมาสมัคร หากคิดว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มที่มีสิทธิ์ยื่นขอทุน ก็สามารถยื่นได้เลย โดยจะมีกรรมการคัดกรองและแบ่งประเภทของทุนเป็น 3 ระดับ คือ 100% 70% และ 30% ขึ้นอยู่กับฐานะของครอบครัวของเด็ก โดยอาหารทางโรงเรียนให้กินฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ซึ่งในปีนี้มีเด็กที่กองทุนดูแลอยู่จำนวน 93 คน จากเป้าที่เราตั้งไว้ 100 คน แบ่งเป็นเด็กกำพร้า 31 คน เด็กยากจน 62 คน ค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กเฉลี่ยปีละ 3 ล้านบาท แต่ก็อัลฮัมดุลิลลาฮฺในส่วนของอาหารแทบจะไม่ต้องใช้เงิน เพราะเราอาศัยฮะดิษของท่านนบีว่า “อาหารหนึ่งคนพอสำหรับสองคน” เพราะฉะนั้นถ้าเรามีเด็กกำพร้า 100 คน เด็กอีก 200 คนที่เสียค่าอาหารให้แก่โรงเรียนตามปกติเขาจะได้ช่วยเหลือเพื่อนเขาด้วย

ความช่วยเหลือที่โรงเรียนต้องการ

อยากให้ทุกท่านติดตามข่าวสารของโรงเรียนจนเกิดความมั่นใจ ความเชื่อมั่น และส่งลูกหลานมาเรียนที่นี่ สิ่งไหนที่เห็นว่าโรงเรียนควรจะปรับก็อยากให้ช่วยแนะนำ ส่วนในเรื่องของการเงิน ตามจริงแล้วนโยบายของเราคืออยากจะยืนได้ด้วยตัวเอง แต่ความช่วยเหลือของพี่น้องเราก็ปฏิเสธไม่ได้ และเราก็ไม่ปฏิเสธ แต่เราอยากให้มาในรูปของเด็กกำพร้าเด็กยากจน  เพราะเรากล้าพูดว่าโรงเรียนเราเป็นหนึ่งในไม่กี่โรงเรียนที่ให้เงินเด็กกำพร้าและช่วยเหลือเขาแบบครบวงจร

และนี่คือวันใหม่ของศาสนูปถัมภ์ในสายตาของ อาจารย์ไฟโรส อยู่เป็นสุข คนรุ่นใหม่ที่เป็นดั่งความหวังนำพาโรงเรียนศาสนูปถัมภ์แห่งนี้ก้าวผ่านมรสุมของปัญหาที่กำลังถามโถมเข้าใส่

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Nada Khongthon