fbpx

อิสลามในทุ่งข้าวและชายทะเล – อัล อัค

เมื่อบางคนได้ตั้งคำถามกับผมว่า อะไรคือปัญหาของการดำรงอยู่ของอิสลามในภูมิภาคบ้านเรา เป็นคำถามที่ก่อขึ้นท่ามกลางบรรยากาศของกระแสอาเซียน หรือภูมิภาคแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ … ผมบอกว่า ในเมื่ออิสลามเป็นสัจจะสากลที่อธิบายการดำรงอยู่ของฟากฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน ดังคำสนทนาระหว่างมูซาและฟาโรห์ ผมก็มองเห็นความสากลนี้สามารถปรากฏขึ้นในทั่วทุกภูมิภาคได้ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา โดยไม่เพียงดำรงแก่นแท้มันไว้ได้ แต่ยังสามารถตอบสนองได้อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติของแต่ละท้องที่ที่แตกต่างกันออกไป

ผมคิดว่า จินตนาการของผู้คนที่มีต่ออิสลาม แม้แต่มุสลิมกันเอง คือการมองเห็นอิสลามเป็นทะเลทราย เห็นโดมมัสญิดที่ปรากฏขึ้นตรงใกล้ๆ โอเอซีซ และดาบโค้งงอของนักรบมุสลิมที่เก็บไว้ในฝักและพร้อมที่จะชักชูขึ้นเหนือหัว เพื่อสังหารฝ่ายตรงข้าม … ผมคิดว่าภาพพวกนี้บางส่วนมันเกินจริงอย่างดาบที่กลายเป็นภาพแห่งการหลั่งเลือด แต่หลายๆภาพ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก อิสลามที่ปรากฏขึ้นในท้องทะเลทรายก็ย่อมมีอูฐ มีเด็กๆ ทีอาจสนุกกับการขอให้พ่อได้นั่งบนหลังอูฐ ท่ามกลางบรรยากาศร้อนระอุของท้องทะเลทราย

จินตนาการนี้มักเป็นจินตนาการเดียวในการปรากฏตัวของอิสลามต่อคนจำนวนมาก ทั้งที่คนอาหรับเองก็ไม่ได้อยู่ในโลกที่เป็นแบบนี้ทั้งหมด แม้แต่ในอดีตกาล … ศูนย์กลางอำนาจของอับบาสียะฮฺที่แบกแดดก็เป็นอารยธรรมลุ่มน้ำ ดำรงอยู่ในอีกแบบหนึ่ง แตกต่างจากอุมาวียะฮฺแห่งดามัสกัส หรือสังคมมักกะฮฺในเวลานั้น

เมื่ออิสลามเดินเข้าไปสู่ที่ต่างๆ ก็พยายามถักทอรูปแบบใหม่ๆ ของการดำรงอยู่ของตัวเองขึ้นในบรรยากาศแบบใหม่ … ปัญหาอย่างหนึ่งของความพยายามนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คืออารยธรรมเดิมในแบบคติวัฒนธรรมแบบท้องถิ่นที่ถือผี กับคติวัฒนธรรมแบบศาสนาจากอินเดียที่ฝังรากอยู่แล้ว กลายเป็นส่วนผสมที่ไม่ค่อยลงตัวกับอิสลาม ได้กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ในการสกัดการประสานแก่นแท้ของอิสลามเข้ากับบรรยากาศแห่งภูมิภาค นั่นด้านหนึ่ง … อีกด้านหนึ่ง ผมว่าคือการใช้โลกจินตนาการเดิมๆของอิสลามที่ปรากฏตัวในท้องทะเลทรายมาใช้ในบรรยากาศท้องทุ่งข้าวและชายทะเล ที่ผมว่ามันไม่ลงตัวอยู่เสมอ

เราจึงเห็นชาวนาชาวประมงมุสลิมจำนวนไม่น้อยยังมีคติแบบถือ “ผี” เชื่อในเจ้าเล็กเจ้าน้อยที่ไปไม่ได้กับหลักการความเชื่อความเป็นหนึ่งเดียวของผู้เป็นเจ้าในอิสลาม หรือไม่ก็ดัดแปลงพิธีกรรมจำนวนมากจากคติศาสนาจากอินเดียที่กลายเป็นคำอ่านด้วยภาษาอาหรับต่างๆ แทน … ขณะเดียวกันเมื่อเกิดการความพยายามถอดถอนสิ่งเหล่านี้ออกไปจากผู้รู้อิสลามที่ได้รับการศึกษาใหม่ๆ จากตะวันออกกลาง เราก็อาจรับเอาจินตนาการการดำรงอยู่ของชุมชนอิสลามในท้องทะเลทรายเข้ามาไม่ยากนัก ไม่ว่าที่เห็นง่ายๆ อย่างรูปทรงมัสญิดในรุ่นหลังๆ ที่ถอดแบบมา ไปถึงท่องทำนองการถ่ายทอดเรื่องศาสนาในท่วงท่าของชาวอาหรับ ซึ่งไม่มีภาพของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่งร่วมอยู่ด้วย ซึ่งไม่สามารถสื่อสารกับคนในภูมิภาคนี้ที่มีคติเรื่องความเชื่อ มีอารมรณ์ความรู้สึกบางอย่างแตกต่างจากคนในตะวันออกลางและยุโรป พูดง่ายๆ ว่าคนที่นี่ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกแบบครูเสด มีประสบการณ์เชิงประวัติศาสตร์กับมุสลิมแตกต่างออกไป

ผมกำลังคิดถึงอิสลามในทุ่งข้าวและชายทะเลแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจริงๆ แล้วผมใช้สำนวนเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เพราะในหลายท้องที่ก็เปลี่ยนเป็นเมืองไปแล้ว แต่ผมหมายถึงการดำรงอยู่ของอิสลามในภูมิภาคนี้ … อิสลามที่ตัวมันเองยังบริสุทธ์จากลัทธิถือผีแบบชาวเล อิสลามเป็นสัจจะอย่างเดียวกับในวันที่ชายที่ชื่อมุฮัมมัดได้รับมันมาในถ้ำฮิรออ์ เป็นคำอธิบายการดำรงอยู่ของฟากฟ้า แผ่นดิน และชีวิตมนุษย์ และสามารถเข้าไปสร้างรูปแบบชีวิตแห่งการยอมจำนนให้กับผู้คนที่ดำรงชีวิตในสถานที่และเวลาที่แตกต่างกันได้

นี่ไม่ใช่การสร้างอิสลามใหม่ แต่เป็นการนำอิสลามที่บริสุทธิ์ดั้งเดิมมาสร้างวิถีชีวิตอิสลามในภูมิภาคใหม่ ผู้คนที่พูดภาษาต่างๆ ในตระกูลภาษาที่ห่างจากเซเมติกหรืออินโดยุโรเปี้ยน ผู้คนที่อยู่สิ่งแวดล้อมและวิถีการหาเลี้ยงชีพอีกแบบหนึ่ง … และก็มิใช่การทำให้อิสลามกลายเป็นท้องถิ่นหรือเผ่าพันธ์ใด เพราะการสร้างนี้อยู่ที่การแสดงออกในวิถีชีวิตท้องถิ่นบางอย่าง แต่ขอบเขตความถูกผิด(ฮะลาล-ฮะรอม) จิตวิญญาณ และสารัตถะของมันยังดำรงอยู่อย่างเต็มเปี่ยม

สำหรับผมคิดว่า ผู้รู้และนักทำงานเพื่ออิสลามในอดีตได้ทำเช่นนี้ไปหลายเรื่อง ตัวอย่างหนึ่งคือการหาความลงตัวของอักษรญาวีกับภาษาสื่อสารหลักของหมู่เกาะอินโดนีเซีย และการกำเนิดชุมชนมุสลิมแบบเกษตรกรรมที่เรียกว่ากัมปง … แต่วันนี้ผมว่าโลกเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและน่าหวั่นไหว สิ่งที่ต้องทำมันต้องก้าวไปไกลและสอดคล้องกับความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลานี้

วันนี้ผมจึงคิดว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญของผูรู้และนักทำงานจำนวนมากที่ต้องหาวิถีการดำรงอยู่ของอิสลามกับสภาวะของภูมิภาคที่แตกต่างไปจากเดิม ที่ยังมีองค์ประกอบห้อมล้อมไปด้วยผุ้มีคติความเชื่อแบบอื่นปะปนอยู่จำนวนมาก อย่างชาวพุทธ ชาวคริสต์ และคนไม่มีศาสนา

… เป็นการแสดงถึงวิถีแห่งการยอมตนต่อผู้สร้างในบรรยากาศแห่งทุ่งข้าวและชายทะเล

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน