fbpx

จับตาธุรกิจฮาลาล ในวันที่ตลาดและความต้องการกำลังเติบโตทั่วโลก

Kerim Ture ยังคงจำครั้งแรกที่เริ่มธุรกิจได้ดี เมื่อวันที่เขาส่งออเดอร์ให้โรงงานแห่งหนึ่งช่วยผลิตเสื้อคลุมแขนยาวสำหรับผู้หญิงมุสลิม แต่โรงงานแห่งนั้นพยายามบังคับให้เขาจ่ายเงินมัดจำล่วงหน้าเพราะมั่นใจว่าธุรกิจเสื้อผ้าของ Ture น่าจะไปไม่รอดแน่ แต่ Ture ก็ทำให้โรงงานแห่งนั้นต้องประหลาดใจด้วยการกลับมาออเดอร์ซ้ำอีกครั้งในเวลาไม่นาน บ่งบอกให้รู้ว่าเสื้อผ้าสำหรับผู้หญิงมุสลิมนั้นเป็นที่ต้องการของท้องตลาดมากเพียงใด

ในช่วงแรกที่ก่อตั้งแบรนด์ Modanisa เมื่อปี 2011 Ture หวังแค่อยากจะเพิ่มทางเลือกด้านเสื้อผ้าแนวอิสลามดีไซน์ “เรียบง่าย” ให้กับกลุ่มผู้บริโภคหญิงชาวมุสลิมเพียงเท่านั้น เขามองเห็นว่าวงการเสื้อผ้ามุสลิมสำหรับผู้หญิงนั้นยังคงขาดแคลนตัวเลือกอยู่มาก Ture ได้เล่าว่า “พวกเธอ (หญิงชาวมุสลิม) เพียงแค่อยากปกปิดเรือนร่างให้มิดชิดขึ้น แต่โลกกลับนิ่งดูดายและปล่อยให้พวกเธอต้องเลือกใช้แต่เสื้อผ้าที่ซ้ำซากจำเจและน่าเบื่อ มันจึงไม่แฟร์สำหรับพวกเธอ” เขาเล่าต่ออีกว่า  “เพราะการแต่งตัวเป็นอะไรที่มากกว่าเสื้อผ้าที่คุณใช้ปกปิดเรือนร่าง มันคือส่วนหนึ่งของการแสดงออก มันคือส่วนหนึ่งของการแสดงอัตลักษณ์ในความเป็นตัวคุณ นี่จึงทำให้เราคิดว่ามันไม่ยุติธรรมสำหรับผู้หญิงมุสลิมเอาซะเลย”

ปัจจุบันเว็บไซต์เสื้อผ้าแบรนด์ดัง “Modanisa” ที่ Ture ได้ก่อตั้งสามารถเรียกยอดผู้เข้าชมได้มากถึง 100 ล้านคนต่อปี มีลูกค้าหมุนเวียนเข้ามาจับจ่ายจาก 120 ประเทศทั่วโลก ด้วยกำลังการผลิตและจัดส่งสินค้าจากตัวแทนจำหน่ายที่มากถึง 300 แห่งจึงทำให้บรรยากาศในเว็บไซต์ดูคึกคักและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อฮาลาลเริ่มบานสะพรั่ง

แบรนด์ Modanisa ของ Ture เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธุรกิจฮาลาลที่กำลังขยับขยายและดูหลากหลายยิ่งขึ้นในปัจจุบัน จากผลการวิจัยของสถาบัน Thomson Reuters ระบุว่า ในปี 2019 ธุรกิจฮาลาลจะมีมูลค่าเฉลี่ยสูงถึง 3.7 ล้านล้านดอลล่าร์ ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

สิ่งหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมฮาลาลแตกต่างจากทั่วไปคือ ความพยายามของผู้ผลิตในการตระหนักถึงหลักการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวมุสลิม อุตสาหกรรมฮาลาลมีความหลากหลายและกว้างขวาง จึงมีให้เห็นกันตั้งแต่สถาบันการเงินปลอดดอกเบี้ยไปจนถึงธุรกิจขายน้ำยาทาเล็บไม่ต้องล้างออกที่เป็นมิตรต่อสุภาพสตรีชาวมุสลิม แต่ที่โดดเด่นที่สุดในวงการอุตสาหกรรมฮาลาลคงหนีไม่พ้นผลิตภัณฑ์อาหาร เสื้อผ้า และธุรกิจการท่องเที่ยว

ปัจจุบันแนวโน้มการเติบโตของธุจกิจฮาลาลเริ่มเห็นเด่นชัดมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มชาวมุสลิมประเทศตะวันตก ดังที่เห็นล่าสุดในประเทศอังกฤษ เมื่อร้านอาหารฟาสท์ฟูดชื่อดังอย่าง KFC และ Subwayได้เริ่มวางจำหน่ายเมนูอาหารฮาลาลให้กับผู้บริโภคมุสลิมแล้ว ในขณะที่แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังอย่าง H&M และ Marks and Spencer ก็เริ่มผลิตเสื้อคลุมยาวปกปิดเรือนร่างเอาใจหญิงชาวมุสลิม ซุปเปอร์มาเก็ตก็เริ่มมีแผนกอาหารฮาลาลให้เห็นกันมากขึ้น ตลอดจนธนาคารชื่อดังระดับโลกก็พร้อมใจกันเปิดให้บริการธุรกรรมการเงินแบบอิสลามแล้วเช่นกัน

เมื่อฮาลาลคือการแสดงอัตลักษณ์

Dr. Jamal Ahmed อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟอธิบายให้ฟังว่า ความนิยมในการบริโภคสินค้าฮาลาลนั้นเกิดขึ้นจากความต้องการรักษาอัตลักษณ์ที่มากพอๆ กับการตระหนักและใส่ใจถึงกฎข้อบังคับทางศาสนา และผลสรุปจากหลายงานวิจัยก็ชี้แจงให้เห็นเช่นเดียวกันว่า ชาวมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมนั้น มีความตระหนักในการรักษาอัตลักษณ์ของตนเองมากกว่ามุสลิมที่อาศัยอยู่ในประเทศอิสลามเสียด้วยซ้ำ มันจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้มุสลิมชนกลุ่มน้อยเหล่านี้พยายามมองหาสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวตนของพวกเขาและพยายามแสดงจุดยืนในอัตลักษณ์ของตนให้เห็นอย่างชัดเจน

“เพราะการบริโภคสิ่งที่ฮาลาล ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า ท่องเที่ยว หรือแม้แต่ธุรกรรมการเงินแบบอิสลามนั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้พวกเขารู้สึกได้ถึงความเป็นอัตลักษณ์ แต่มันยังทำให้พวกเขารู้สึกได้ถึงความมั่นคงและรู้สึกเป็นอิสระจากความวิตกกังวล”

 

เมื่อฮาลาลเป็นได้มากกว่าความฮาลาล

ในขณะที่ประชาชนบริโภคสินค้าฮาลาลเพื่อต้องการจะแสดงถึงจุดยืนในความเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง และเพื่อใส่ใจกับกฎเกณฑ์ที่ศาสนาวางไว้ รัฐบาลเองก็เริ่มมองเห็นโอกาสและศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจฮาลาลเช่นเดียวกัน

ดังเช่นกรณีงานมหกรรมฮาลาลที่จัดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นและตุรกีที่ผ่านมา ก็มีรัฐบาลของทั้งสองประเทศเป็นกองกำลังคอยสนับสนุนและผลักดันให้จัดงานดังกล่าวขึ้น หรือแม้แต่กรณีกรุงลอนดอนเมื่อปี 2013 ที่ผ่านมา เมื่อ David Cameron นายกรัฐมนตรีของอังกฤษได้ออกมาประกาศถึงความตั้งใจที่จะทำให้ลอนดอนกลายเป็นอีกหนึ่งเมืองหลวงที่มีสถาบันการเงินแบบอิสลามที่แข็งแกร่ง จนทำให้อังกฤษได้กลายเป็นประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมประเทศแรกของโลกที่มีนโยบายสอดคล้องกับอิสลาม

นอกจากนี้ ยังมีประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมอีกหลายประเทศที่มีบทบาทเป็นแนวหน้าในการสร้างการเจริญเติบโตให้กับวงการธุรกิจฮาลาล บราซิลเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่น้อยมาก สถิติระบุว่าจากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 207 ล้านคนบราซิลมีชาวมุสลิมอยู่เพียงแค่ 200,000 คน แต่กระนั้นบราซิลกลับกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการส่งออกเนื้อวัวฮาลาลมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก และเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้และมีมูลค่าสูงถึง 6 พันล้านดอลล่าร์เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับประเทศนิวซีแลนด์ที่ครองตำแหน่งผู้นำส่งออกเนื้อวัวฮาลาลเป็นอันดับต้นของโลก ที่สามารถทำยอดขายได้สูงถึง 576 ล้านดอลล่าร์ ทั้งๆ ที่ในประเทศมีจำนวนประชากรมุสลิมเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์

 

เมื่อฮาลาลต้องสอดคล้องกับจรรยาบรรณ   

แต่อย่างไรก็ตาม Abdul Azim Ahmed นักวิจัยด้านศาสนาร่วมสมัยได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าการเติบโตของธุรกิจฮาลาลจะเป็นการขยายโอกาสและเปิดทางเลือกให้กับผู้บริโภคชาวมุสลิมมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ล่อแหลมและอาจกลายเป็นหนึ่งความอันตรายได้ก็คือ การที่ผู้ผลิตพยายามลดหลั่นความสำคัญของจรรยาบรรณที่ชาวมุสลิมยึดถือจนทำให้สินค้าฮาลาลต้องกลายเป็นเพียงแค่สินค้าที่เป็นทางเลือกของผู้บริโภคชนิดหนึ่งเท่านั้น

Ahmed ได้อธิบายต่อไปว่า “การที่ผู้ผลิตให้ความสำคัญมากเกินไปกับการผลิตสินค้าที่ฮาลาลเพื่อสนองความต้องการของตลาดผู้บริโภคเพียงอย่างเดียวนั้น อาจทำให้ประเด็นโดยกว้างอื่นๆ ที่สำคัญต่อจรรยาบรรณอิสลามเช่นในเรื่องของกระบวนการผลิต หรือประเด็นการประพฤติปฏิบัติต่อคนงาน หลุดออกไปจากโฟกัสข้อควรคำนึงได้ง่ายขึ้น”

“แน่นอนว่าการขยายตัวเพิ่มขึ้นของสินค้าฮาลาลในท้องตลาดนั้นเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่กระนั้นก็ยังคงมีประเด็นการตั้งข้อสงสัยต่อมาตรฐานของอุตสาหกรรมการเชือดสัตว์เหล่านั้นว่าสอดคล้องกับกรอบจรรยาบรรณที่อิสลามได้วางไว้มากน้อยเพียงใด”

“หรืออีกตัวอย่างหนึ่งจากกรณีของบริษัทไนกี้ที่ผลิตฮิญาบคลุมศีรษะสำหรับมุสลิมะห์ Nike ‘Pro-Hijab’ ออกมาวางจำหน่าย ซึ่งยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในนวัตกรรมชั้นนำระดับโลกในปี 2017 จากนิตยสารไทม์อีกด้วย แม้ว่าผลิตภัณฑ์ Nike Pro Hijab อาจมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้หญิงมุสลิมมากยิ่งขึ้นในอนาคต แต่กระนั้นประเด็นข้อกล่าวหาที่ว่าบริษัทไนกี้ได้ประพฤติมิชอบต่อคนงานด้วยการล่วงละเมิดสิทธิแรงงาน ดังที่เป็นข่าวในหลายโรงงานของไนกี้ทั่วโลกนั้น ก็ยังคงเป็นกระทู้ที่ควรค่าแก่การตั้งคำถามว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสอดคล้องกับจรรยาบรรณอิสลามที่ผู้บริโภคมุสลิมให้ความสำคัญหรือไม่ มากน้อยเพียงใด”

“ดังนั้นผมจึงเชื่อว่า รูปแบบอิสลามที่แท้จริงต่อการทำธุรกิจหรือแม้แต่กระบวนการผลิตและการดำรงรักษานั้น จำเป็นต้องอาศัยรูปแบบที่มีหลักการพื้นฐานที่จริงจังมากยิ่งขึ้น โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาลและองค์กรข้ามชาติ และมาตรฐานเหล่านี้จะไม่สามารถได้มาด้วยเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว”

 

แปลและเรียบเรียงโดย : Andalas Farr
ที่มา : The rise and rise of ‘halal’ business

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร