fbpx

“ปรมัตถ์ ช่วยการ” สถาปนิกหนุ่มผู้เปลี่ยนความคิดถึงให้กลายเป็นความสุข

“ในขณะที่เราทุ่มเทพัฒนาทรัพย์สินของคนอื่นแต่กลับปล่อยบ้านตัวเองไว้แบบนี้ มันไม่ถูกต้อง ถึงเวลาที่ต้องทำอะไรบางอย่างกับบ้านหลังนี้แล้ว”

   ปรมัตถ์ ช่วยการ สถาปนิกหนุ่มจากรั้วศิลปากร เจ้าของโฮมสเตย์อนุรักษ์ธรรมชาติ ผู้มีแนวคิดอยากจะสร้างสรรค์และพัฒนาการท่องเที่ยว ณ บ้านเกิดของเขา

“การออกแบบเป็นงานที่ชอบ ทุกวันนี้ก็รับงานฟรีแลนซ์ แต่บางมุมที่ไม่สนุกคือ “การสร้างภาพ”  โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในแวดวงอสังหาฯ มันหดหู่ใจมากที่บางครั้งเราไม่ได้อยากมี แต่ต้องสร้างขึ้นเพียงเพราะต้องการให้คนอื่นยอมรับ จนบางครั้งตั้งคำถามกับตัวเองว่า นี่เราทำอะไรอยู่หรือ?”

ปรมัตถ์ เป็นคนเกาะกลาง จังหวัดกระบี่ แต่ขึ้นมาศึกษาและทำงานที่กรุงเทพฯ เรียกได้ว่าครึ่งชีวิตที่ผ่านมาของเขาอยู่แต่ในเมืองหลวง ทำงานเป็นสถาปนิกมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบสไตล์คนเมือง แต่ลึกๆ เขายังคงคิดถึงบ้านเกิด และอยากจะกลับไปอยู่ที่นั่น

หลังจากแต่งงาน ปรมัตถ์ย้ายกลับมายังกระบี่ ยังรับงานออกแบบและดูช่องทางทำอสังหาฯ ส่วนภรรยาก็ทำตามความฝันคือการทำขนมเค้ก ทั้งเขา ภรรยา และพ่อแม่จึงต้องเข้าไปอยู่ในตัวเมือง ทำให้ต้องทิ้งบ้านของพวกเขาเอาไว้

“เราปล่อยทิ้งบ้านของเราไว้ให้รกร้าง คุณครูที่โรงเรียนข้างบ้านก็ส่งความใจหายมาให้รับรู้อยู่เรื่อยๆ ญาติจากกรุงเทพลงมาเจอบ้านในสภาพนั้นก็บอกว่าเศร้าใจและคิดถึงบ้านหลังนี้ที่เคยมาเยี่ยมเยียน เพราะมันเคยมีความอบอุ่นจากคนในครอบครัว และบรรยากาศที่เหมือนจะเป็นบ้านพักตากอากาศได้เลย มันสะกิดใจเราว่า ในขณะที่เราทุ่มเทพัฒนาทรัพย์สินของคนอื่นแต่กลับปล่อยบ้านตัวเองไว้แบบนี้ มันไม่ถูกต้อง ถึงเวลาที่ต้องทำอะไรบางอย่างกับบ้านหลังนี้แล้ว”

หลังจากได้ปรึกษากับภรรยา ปรมัตถ์จึงตัดสินใจกลับมาบ้านตัวเองอีกครั้งด้วยความคิดถึง แต่ครั้งนี้เขากลับมาเปิดบ้านให้เป็นโฮมสเตย์ เพื่อต้อนรับนักเดินทางที่ต้องการสัมผัสและเรียนรู้วิถีของชาวชุมชนเกาะกลางที่เขาเรียกว่าบ้าน บ้านที่เต็มไปด้วยเรื่องราว เป็นรากเหง้าของตัวตน และเป็นบ้านที่เขาคิดถึง จึงเป็นที่มาของ “คิดถึงคอทเทจ” โฮมสเตย์น่ารักอบอุ่น ที่ได้ทั้งการท่องเที่ยว พักผ่อน และเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน

ด้วยความที่จังหวัดกระบี่โปรโมตตัวเองเป็นเมืองท่องเที่ยวฮาลาล ในช่วงแรกเขาจึงตั้งใจให้ คิดถึงคอทเทจ เป็นโฮมสเตย์สำหรับครอบครัวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจาก อินโดฯ มาเลย์ฯ สิงคโปร์ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี แต่คงเพราะชื่อที่ดูกุ๊กกิ๊ก น่ารัก รวมถึงการจัดบ้านที่ดูอบอุ่นเป็นกันเอง ทำให้กลุ่มลูกค้าที่ผ่านมาเป็นผู้หญิงราว 90% ซึ่งมีทั้งแบบครอบครัว และแบบกลุ่มเพื่อนที่นัดกันมารียูเนี่ยน
“สำหรับเรา แขกกลุ่มไหนเรายินดีต้อนรับหมด หากยอมรับกฎระเบียบชุมชนมุสลิมของเกาะกลางได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นกลุ่มที่หลงใหลในเสน่ห์ของวิถีชุมชน เพราะแขกกลุ่มนี้นอกจากเขาจะกลับไปอย่างมีความสุขแล้ว เราเองก็มีความสุขที่ได้ดูแลเขาด้วยเช่นกัน”

ปรมัตถ์ เล่าถึงการท่องเที่ยวในกระบี่ว่า ในยุคก่อนมีจุดขายที่ทะเล แต่เมื่อราว 20 ปีที่ผ่านมาเน้นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับธรรมชาติและวิถีชุมชน ตั้งแต่นั้นมาการท่องเที่ยววิถีชุมชนก็มีการพัฒนามาเรื่อยๆ จนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้เองที่การท่องเที่ยวชุมชนเป็นกระแสขึ้นมาก แม้บางชุมชนยังไม่พร้อมรับการท่องเที่ยว แต่ก็ยังสามารถเป็นผู้ผลิตสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ชุมชนได้ กระแสนี้สร้างโอกาสให้ชุมชนมีรายได้และพัฒนาตัวเอง

แต่ในขณะที่ชุมชนกำลังเติบโตเด่นดัง สิ่งที่ชุมชนต้องระวังและตั้งรับให้ได้คือกลุ่มทุนจากภายนอก ที่อาจจะไม่ได้เข้ามาด้วยใจที่รักและหวงแหนแบบเจ้าของพื้นที่ ความเข้มเเข็งและการรู้เท่าทันจึงเป็นเกราะป้องกันที่ทุกชุมชนต้องมี

เกาะกลาง มีเสน่ห์อีกอย่างคืออยู่ท่ามกลางธรรมชาติของป่าชายเลนอันดับ 4 ของไทย  ทันทีที่ก้าวเท้าลงเรือก็จะได้สัมผัสกับบรรยากาศนี้ เมื่อล่องเรือไปเกาะมันเหมือนผ่านอุโมงค์ย้อนเวลาสู่ The Old Krabi ซึ่งชุมชนยังรักษาวิถีที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเดิมไว้อยู่ นอกเหนือจากเกาะกลางจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์มาตลอดแล้ว ปัจจุบันยังมีการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่คนในชุมชนมีส่วนร่วม

การเปลี่ยนบ้านเป็นโฮมสเตย์ไม่เพียงทำให้ ปรมัตถ์ ได้กลับมาอยู่บ้านและมีรายได้เท่านั้น มันยังมอบคุณค่าบางอย่างให้กับชีวิตของเขาอีกด้วย

“เราได้รั้วบ้านที่กว้างขึ้น ช่วงทำงานสถาปัตย์เวลาเจอคนรู้จักในชุมชน หลายครั้งก็ทักทายกันแบบผิวเผิน เพราะการทำงานออกแบบแค่เรามีลูกค้า มีเพื่อนร่วมงานก็สามารถรันงานของเราได้แล้ว แต่เมื่อมาทำงานกับชุมชนทำให้ได้กลับมาเชื่อมสัมพันธ์กับญาติมิตรจริงๆ อีกครั้ง เพราะเราจะมีเรื่องให้พูดคุยกับชุมชนในมุมที่ลึกขึ้น และการทำโฮมสเตย์ยังเป็นเครื่องมือในการแบ่งปันและพัฒนาชุมชนของเราได้ด้วย

อย่างต่อมาเราได้นำเสนอวิถีอิสลามโดยแทบไม่ต้องอธิบาย ครั้งหนึ่งแขกที่มีมุมมองด้านลบต่ออิสลามเข้ามาพักโดยเราไม่ทราบมาปูมหลังมาก่อน แต่ในวันกลับเขาบอกกับเราว่า “จากที่มีอคติจนถึงขั้นต่อต้านมุสลิม มุมมองต่ออิสลามของเขาเปลี่ยนไป” หลังจากมาเจอกับการต้อนรับและได้เห็นความเป็นอยู่ของครอบครัวเรา และแขกอีกคนไม่เคยมีเพื่อนเป็นมุสลิมมาก่อน พอมาเห็นเราละหมาด เห็นมุมมองความคิดของเราก็บอกว่า “พวกเราเป็นแสงสว่างให้เค้านะ อัลฮัมดุลิลละฮฺ

นอกจากนี้เราได้เห็นคุณค่าของสิ่งเล็กๆ ในการก่อสร้างอาคารซักหลัง เงินหนึ่งแสนไม่ได้ถือว่าเยอะเลย หรือการต้องจ่ายทีมงานหลักหมื่นมันก็เป็นเรื่องปกติ แต่มีวันหนึ่งที่เปลี่ยนความรู้สึกของเรา เมื่อเราได้พาแขกไปซื้อขนมของชาวบ้าน หลังจากแขกกลับเรานำเงิน 300 บาทไปจ่าย แล้วเขากล่าวขอบคุณและมองเราด้วยแววตาซาบซึ้งอย่างจริงใจ วันนั้นผมอิ่มเอิบใจแบบบอกไม่ถูก เพราะเงินเพียงหลักร้อยแต่กลับมีคุณค่ามาก แบบที่เราอาจไม่เจอในการก่อสร้าง

สุดท้าย ได้ความสดใสกลับมา (หัวเราะ) เจอกันครั้งล่าสุดมีเพื่อนทักว่า “ทำไมดูไม่แก่เลยว้าา ดูชีวิตแกชิวมากกก ดูนายมีความสุขมาก” ซึ่งฟังแล้วงงนะ คือพวกเขาไม่สุขกันรึไง พอได้อัพเดตชีวิตกันเลยเข้าใจเพราะครั้งหนึ่งเราเองก็เคยเป็นแบบนั้น แม้จะรักการออกแบบแต่ก็มีเรื่องที่ปวดหัวกับลูกค้าบ้าง ปั่นงานยันดึกราวกับเป็นหนูติดจั่นบ้าง และดูเหมือนจะหาทางหลุดพ้นไปไม่ได้”

ในบางจังหวะชีวิต เราอาจออกเดินทางค้นหาความสุขกันไกลแสนไกล ทุกเทแรงกายแรงใจเพื่อตามหา แต่บางทีความสุขยั่งยืนที่เราตามหา มันอาจไม่ต้องใช้ความพยายามขนาดนั้นก็เป็นได้ เพราะบางครั้งความสุขที่หลายคนตามหาอาจอยู่ใกล้ๆ รอคอยเราอยู่ที่บ้าน เหมือนเช่นความสุขของ “ปรมัตถ์ ช่วยการ”

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Azlan

กองบรรณาธิการรุ่นเล็ก