fbpx

มุสลิมไทยอยู่อย่างไรในยุคสมัยแห่งโซเชียลเน็ตเวิร์ค

เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยุคนี้คือยุคแห่งโซเชียลเน็ตเวิร์คหรือยุคของการติดต่อสื่อสารแบบไร้พรมแดน ซึ่งอิทธิพลของสื่อเหล่านี้ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก จนแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปเลยทีเดียว และหลายคนก็เลือกเสพสื่อด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่สถานภาพของแต่ละคน ซึ่งมุสลิมเองก็ได้รับอิทธิพลของสื่อเหล่านี้มาด้วยไม่น้อยเช่นกัน

วันนี้เราลองไปสำรวจพูดคุยสั้นๆ กับมุสลิมใน 3 ช่วงวัย ถึงรูปแบบและการใช้สื่อออนไลน์ของชาวมุสลิม ว่าพวกเค้ามีทัศนคติ หรือความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรกันบ้างคะ

muslimthai-online-1

มนัสนันท์ สะหะมัน อายุ 16 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร เล่าว่า ในหนึ่งวันเขาเล่นอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 6-7 ชั่วโมง “หนูเป็นตัวแทนขายของออนไลน์คะ หนูเลยเล่นอินเตอร์เน็ตค่อนข้างเยอะ เล่นตั้งแต่ตื่นนอนเลยคะ แทบทุกวัน ดูนู้นดูนี่ก่อนจะลุกไปโรงเรียน จะเล่นอีกทีก็ตอนพักกลางวันแล้วก็หลังเลิกเรียนคะ แต่ถ้าเป็นวันหยุดก็เล่นตลอดเกือบทั้งวันเลย ส่วนใหญ่ที่หนูเล่นก็จะเป็นพวกเฟสบุ๊ค ไลน์ แล้วก็ไอจี หลักๆก็ตอบแชทลูกค้าคะ เล่นเยอะจนบางครั้งก็โดนมะดุด้วยคะ (หัวเราะ)”

โดยปกติแล้ว เด็กที่อยู่ในช่วงวัยนี้ คือวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ วัยคึกคะนอง อยากรู้อยากเห็น อยากลองไปหมดทุกอย่าง และตัวสื่อออนไลน์ก็มีสิ่งยั่วยุมากมาย ทั้งสื่อลามกอนาจาร การถูกล่อลวงจากบุคคลที่ไม่หวังดี ซึ่งเราก็พบเห็นได้ตามข่าวอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น ผู้ปกครอง ไม่ควรที่จะปล่อยให้เด็กเล่นสื่อออนไลน์มากจนเกินไป หมั่นตรวจสอบ สอบถาม และเฝ้าดูพฤติกรรมของเขาอย่างใกล้ชิด เพราะอะไรที่กันไว้ย่อมดีกว่าแก้เสมอ

อีกหนึ่งช่วงวัยที่เราได้มีโอกาสไปพูดคุย คือ วัยทำงาน ซึ่งบุคคลที่เราไปพูดคุยมานั้นเป็นนักศึกษาจบใหม่คนหนึ่งที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยทำงานอย่างเต็มตัวในบริษัทเอกชนในกรุงเทพมหานคร

muslimthai-online-2

คุณอารียา ทรงศิริ อายุ 23 ปี พนักงานบริษัทเอกชน บอกกับเราว่า “เมื่อก่อนตอนไม่มีอินเทอร์เน็ต ก็จะทำงานบ้านบ้าง ดูทีวีบ้าง แล้วแต่อารมณ์ แต่พอมีอินเทอร์เน็ตก็เปลี่ยนเป็นคนละคนเลย ขี้เกียจขึ้นเยอะ แถมบางครั้งพอสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดีก็จะหงุดหงิด อารมณ์เสีย กลายเป็นคนนิสัยไม่ค่อยดีสักเท่าไร แต่อินเทอร์เน็ตมันก็ข้อดีนะ เพราะเวลาพี่จะติดต่อกับเพื่อน พี่ก็จะใช้พวกสื่อโซเชียลนี่แหละ สะดวกดี บางครั้งพี่ก็ยังใช้หาข้อมูลในการทำงานของพี่ด้วยนะ”

จะเห็นได้ว่า สื่อโซเชียลมีอิทธิพลต่อมนุษย์อย่างมาก สามารถปรับเปลี่ยนนิสัย พฤติกรรม ความเป็นอยู่ของมนุษย์ได้เลย หลายครั้งที่เรามักตกเป็นเหยื่อของสื่อเหล่านี้ แต่หากเรารู้จักวิธีจัดการตัวเองได้ เราก็จะสามารถอยู่กับสื่อเหล่านี้ได้อย่างดีและมีความสุข

ช่วงวัยสุดท้ายที่เราได้ไปพูดคุย แลกเปลี่ยนทัศนคติกันมาก็คือ วัยกลางคน ซึ่งเราก็ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สื่อออนไลน์มาเป็นอย่างดี

muslimthai-online-3

คุณอิสมาแอล ภู่สำลี อายุ 49 ปี พนักงานรัฐวิสาหกิจและครูสอนศาสนาของโรงเรียนบิดาย่าตุ้ลฮิดายะห์ คลอง 14 ล่าง เล่าให้เราฟังถึงการใช้สื่อออนไลน์ของเขาว่า“แรกๆก็ยังเล่นไม่ค่อยเป็นนะ พอถูๆไถๆไป แต่พอนานเข้าก็เริ่มเล่นถี่ขึ้น ตื่นเช้ามาก็ต้องหยิบโทรศัพท์มากดดูว่ามีใครส่งอะไรมาให้หรือเปล่า หรือว่าเพื่อนๆคุยอะไรกัน พอมารู้ตัวอีกทีมันก็ติดไปแล้ว ที่ครูเริ่มเล่นส่วนหนึ่งก็มาจากการทำงานด้วย เพราะเดี๋ยวนี้จะติดต่ออะไร เขาก็ใช้ไลน์หรือไม่ก็เฟสบุ๊คแทนการโทรคุยกัน ตอนนี้ครูมีกลุ่มในไลน์มากกว่าสิบกลุ่ม เช้ามานี่การแจ้งเตือนเป็นร้อยเลย เมื่อเร็วๆนี้เขาก็มีการใช้ไลน์กลุ่มนี่แหละ ขอรับบริจาคเงินสมทบทุนเพื่อช่วยงานการกุศลกันไป ครูว่ามันก็ดีนะ จริงๆสื่อพวกนี้มันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียแหละ อยู่ที่เราเลือกใช้มากกว่า ถ้าเราเลือกใช้แบบถูกต้อง เหมาะสม เราก็จะสามารถหาประโยชน์จากมันได้ แต่ถ้าเราเลือกใช้แบบผิดๆ มันก็มีแต่โทษกับโทษ”

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) หรือ ETDA ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย พบว่า จำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็นระยะเวลาการใช้งานเฉลี่ย 6.4 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆถึงชั่วโมงการใช้งานในแต่ละวันแล้ว ประเทศไทยถือเป็นอันดับที่ 4 ของโลกเลยทีเดียว โดยสมาร์ทโฟนยังคงเป็นอุปกรณ์หลักที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนิยมใช้ มีจำนวนผู้ใช้งานมากถึงร้อยละ 85.5 ซึ่งทั้งจำนวนผู้ใช้งานและจำนวนชั่วโมงการใช้งานของปีนี้สูงกว่าปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด กิจกรรมยอดนิยม 5 อันดับแรกที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนิยมใช้ได้แก่ การพูดคุยผ่านโซเชียลมีเดีย รองลงมาเป็นการดูวิดีโอผ่านยูทูป การอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ การค้นหาข้อมูลและการทำธุรกรรมการเงิน

หากพูดถึงมุสลิม การนำสื่อออนไลน์มาใช้นั้นต้องตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานของศาสนาอิสลามในกรอบที่ศาสนาได้วางเอาไว้และจะต้องเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์ด้วย เช่น การเชิญชวนสู่ความดีและห้ามปรามความชั่ว

ถึงอย่างไรก็ตาม สื่อออนไลน์ก็ยังคงเป็นสื่อสาธารณะ ที่ไม่ว่าใครก็สามารถเลือกใช้ได้ตามความต้องการ อิสลามเองก็ไม่ได้มีการห้ามในการใช้สื่อดังกล่าว เว้นเสียแต่ว่า การใช้นั้นจะนำไปสู่หนทางของการขัดต่อหลักการของศาสนา

 

รายงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนักศึกษาฝึกงานสหกิจศึกษา
โดย นางสาวมนัสวี สุลง นักศึกษาระดับปริญญาตรี
คณะเทคโนโลยีการเกษตร สาขานิเทศศาสตร์เกษตร
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน