fbpx

โต๊ะครู นักเขียน และนักเผยแผ่ศาสนา ในนิยามของ อ.มุรีด ทิมะเสน

หากพูดถึงโต๊ะครูหรือนักวิชาการอิสลาม คงหนีไม่พ้นที่เราจะนึกถึงการพูดหรือการบรรยายตามเวที ตามงานมัสยิด หรือตามสื่อต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยเช่น วิทยุ ทีวี กระทั่งเฟสบุ๊คไลฟ์

อ.มุรีด ทิมะเสน ก็เช่นเดียวกัน เป็นโต๊ครูที่เรามักจะได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังความรู้จากการบรรยายอยู่บ่อย ๆ แต่นอกจากการบรรยายแล้วอีกบทบาทที่เข้มข้นไม่แพ้กันของ อ.มุรีด คือการเป็นนักเขียน

อันที่จริง ก่อนจะเป็นที่รู้จักในฐานะโต๊ะครูนักบรรยายเฉกเช่นปัจจุบัน อ.มุรีด เริ่มต้นเส้นทางการเป็นนักเผยแผ่ศาสนาด้วยกับงานเขียนเสียด้วยซ้ำ

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2538 หรือเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ในวันที่เดินทางกลับจากการศึกษาในประเทศอินเดียได้ไม่นาน หนังสือเล่มแรกของ อ.มุรีด ออกวางแผงในขณะที่สถานการณ์การอ่านหนังสือของมุสลิมไทยเป็นไปอย่างจำกัด

“เราอ่านน้อยกว่าฟัง” น่าจะสรุปได้อย่างนั้น หนังสือเล่มแรกของอาจารย์จึงไม่ประสบความสำเร็จในด้านยอดขาย แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความตั้งใจของอาจารย์ลดน้อยถอยลง อ.มุรีด ตัดสินใจออก “หลังเที่ยงคืน” หนังสือเล่มที่สองของตัวเองในเวลาไม่นาน และกลายเป็นหนังสือที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเล่มหนึ่งของอาจารย์ ที่ยังคงพิมพ์ซ้ำต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบัน อ.มุรีด ทิมะเสน เขียนหนังสือออกมาแล้วทั้งหมด 158 เล่ม และยังคงนั่งเขียนอยู่ทุกวัน อาจารย์บอกกับเราในวันที่เราไปสนทนาด้วยว่า “ตั้งใจว่าจะเขียนไปจนกว่าจะเขียนไม่ไหว”

และนี่คือบทสนทนาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวันนั้น

 

โต๊ะครูส่วนใหญ่จะสอนหนังสือกับบรรยาย ทำไมอาจารย์ถึงเลือกที่จะเขียนหนังสือด้วย

อย่างแรกสังคมของเราขาดเรื่องการอ่านหนังสือ เรามีการเรียนการสอนกุรอานแต่เราไม่ค่อยนิยมอ่านหนังสือ ทั้งๆ ที่หนังสือเป็นสิ่งจำเป็น ในอดีตในยุคสลัฟ หลังจากที่ท่านนบี (ซ.ล.)(ศานทูตมุฮัมหมัด) เสียชีวิตลงก็มีการบันทึก นำหะดีษของท่านมารวบรวม ตั้งแต่นั้นก็มีการบันทึก การเขียน การอ่าน การท่องจำ อัลลอฮฺได้พูดถึงเรื่องการอ่านเป็นอายะห์แรก หรือบทแรกที่ประทานมาให้แก่บ่าวของพระองค์ เพราะฉะนั้นการอ่านต้องเป็นเรื่องลำดับต้นๆ แต่กลายเป็นว่าสังคมบ้านเรา สังคมมุสลิมไทยๆ อ่านหนังสือน้อยมาก

อาจารย์คิดว่าเป็นเพราะอะไรมุสลิมบ้านเราถึงอ่านหนังสือกันน้อย

คนมุสลิมไทยมีลักษณะอย่างหนึ่งคือจะนิยมตามบรรพบุรุษ ตามปู่ย่าตายาย ซึ่งบรรพบุรุษของเราจะชอบฟังบัยยาน(บรรยาย) หรือที่เรียกกันว่า ฟังแปล แปลจากภาษามาลายูมาเป็นภาษาไทย ก็เลยไม่นิยมการอ่าน ถ้าไปทางสามจังหวัด ชายแดนภาคใต้ ปรากฏว่าพี่น้องมานั่งฟังกันเต็มเลย พอโต๊ะครูลงจากเวทีเมื่อไหร่ก็เลิกเมื่อนั้น นิยมการฟัง เพราะสมัยก่อนสื่อเดียวที่จะได้รับความรู้ศาสนาคือการฟัง ส่วนตำรามักนิยมในปอเนาะ ในมหาวิทยาลัย หรือในโรงเรียนเท่านั้น คนสมัยก่อนมีความคิดว่า คนที่ต้องอ่านหนังสือคือนักเรียนที่ต้องศึกษาหาความรู้ และอีกเหตุผลที่สำคัญคือบรรพบุรุษของเราบางคนในอดีตก็อ่านไม่ออก แต่ปัจจุบันถึงจะอ่านออกเราก็ไม่อ่าน เพราะเราติดนิสัยการฟัง เราเลยได้อิทธิการฟังอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งปัจจุบันการอ่านก็ไม่ได้ดีขึ้น

อ.มุรีด ทิมะเสน

ถ้ามุสลิมในประเทศไทยชอบฟังมากกว่าอ่าน แล้วมุสลิมในต่างประเทศ เขาศึกษาหาความรู้ศาสนากันด้วยวิธีไหน

ในอดีตหากอุลามาอฺหรือนักวิชาการระดับโลกเขาไม่เขียนพวกเราก็ไม่มีเนื้อหาวิชาการอะไรในการสอน ฉะนั้นอุลามาอฺในอดีตจึงเลือกที่จะเขียน บางทีลูกศิษย์บันทึกบ้างเจ้าตัวบันทึกบ้าง อุลามาอฺบางท่านทุ่มเทเวลาให้กับการเขียนตำรามาก บางท่านยอมที่จะไม่แต่งงานทั้งที่ตัวเองอยากที่จะแต่ง เพราะคิดว่าหากแต่งงานเวลาที่จะให้กับการทำงานวิชาการมันอาจจะน้อยลง ทุกวันนี้ในประเทศซาอุดิอาระเบียหรือในโลกอาหรับจะมีการตีพิมพ์หนังสือศาสนากันตลอดเวลา แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในยุคปัจจุบัน แต่เรื่องการเขียน เรื่องหนังสือ ก็ยังคงมีการผลิตออกมา ผมอยู่อินเดียรู้เลยว่าคนอินเดียชอบอ่านหนังสือมาก โต๊ะครูที่นั่นเขาเขียนหนังสือมากกว่าบรรยาย

อาจารย์กลายมาเป็นโต๊ะครูนักเขียนได้อย่างไร มีจุดเริ่มต้นแบบไหน

เริ่มต้นผมไปเรียนที่อินเดีย ได้พบกับ เชคอบูอาซันอัลนัดวีย์ ซึ่งเป็นอุลามาอฺที่รู้จักกันทั่วโลก ผมไม่นึกว่าจะได้เจออุลามาอฺหรือนักวิชาการที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก แกเป็นคนที่เขียนหนังสือจนตาบอดไปข้างหนึ่ง เมื่อได้ศึกษาประวัติของท่านผมจึงตั้งปณิธานไว้เลยว่าเมื่อกลับมาเมืองไทยผมจะเขียนหนังสือ ระหว่างที่อยู่อินเดียผมก็เริ่มลองเขียนหนังสือ แล้วก็พยายามหาหนังสือภาษาไทยที่มีอยู่ที่นั่นมาอ่าน อ่านทุกอย่างที่เป็นหนังสือภาษาไทยเพื่อที่เราจะได้ภาษา พอเรียนจบกลับมาผมมาทำงานในองค์กรของมุสลิมอยู่ 3 เดือน แล้วผมก็ลาออกมาเขียนหนังสือแบบจริงจัง

หนังสือเล่มแรกของผมแรกมีชื่อว่า “อากีเกาะฮฺ”  ก็คือวิธีการปฏิบัติให้กับทารกแรกเกิดตามหลักการอิสลาม เล่มนั้นไม่ประสบความสำเร็จเลย แต่ผมไม่ท้อ ก็เขียนต่อไปเรื่อยๆ  จนกระทั่งออกหนังสือหลังเที่ยงคืน ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกของผมที่ที่ขายดี

ผมจบมาเมื่อปี 2538 ในยุคนั้นหนังสือขายไม่ค่อยดี เพราะคนไทยไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ พอเขียนเรื่องหลังเที่ยงคืนก็เริ่มมีคนรู้จักแล้วเชิญไปบรรยาย พอเริ่มไปบรรยายผมก็จะเอาผลงานที่เขียนไปวางขาย มันก็เริ่มเป็นการกระตุ้นให้คนอ่าน แต่สังคมไทยจะอ่านก็ต่อเมื่อเราต้องการรู้เรื่องนั้นแล้วก็ไปซื้อมาอ่าน ยกตัวอย่าง ถ้า นาย ก ได้ลูก นาย ก ก็จะไปซื้อหนังสือเรื่องอากีเกาะฮฺมาอ่าน ฉะนั้นหนังสือศาสนากลายเป็นหนังสือเฉพาะกิจไม่ใช่เป็นหนังสือลำดับต้นๆ ที่มุสลิมจำเป็นต้องซื้อมาอ่าน  แต่มันดีอย่างหนึ่งว่าคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาเขาเริ่มอ่านหนังสือมากขึ้นและเลือกอ่านหนังสือมากขึ้น

ผมพยายามเขียนหนังสือเพื่อให้คนเปลี่ยนมาตรฐานในการอ่าน เช่น หะดีษ บทนี้สายรายงานหรือกระบวนการตรวจสอบหะดีษถูกต้องไหม ผมก็จะใส่คำว่าหะดีษนี้ถูกต้อง ซึ่งในยุคนั้นยังไม่มี ปัจจุบันมีโต๊ะครูเขียนและแปลหนังสือมากขึ้น ทำให้แผงหนังสือค่อนข้างคึกคัก แล้วเวลาคึกคักมันจะมีความรู้สึกว่าอยากจะมีผลงานออกมา แล้วก็อยากให้วงการหนังสือมีการขยายตัวมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็ดีแต่ไม่ถือว่าดีมาก

อ.มุรีด ทิมะเสน

นับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันนี้อาจารย์มีหนังสือออกมาแล้วกี่เล่ม แล้ววางแผนไว้อย่างไรบ้างท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไป พฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนไป

เล่มล่าสุดของผมคือ นั่งเขียน เป็นอันดับที่ 158 คือจริงๆ ผมตั้งใจว่าก่อนจากโลกไปขอเขียนให้ได้สัก 200 เล่ม เชคอบูอาซัน อาจารย์ผมเขามี 300 เล่ม ทั้งเล่มใหญ่เล่มเล็ก ผมชอบเขียนมากกว่าพูดด้วยซ้ำ ผมอยากมีผลงานของผมไปเรื่อยๆ ผมยังชอบกลิ่นกระดาษอยู่ ยังชอบอรรถรสของตัวอักษรอยู่ ผมไม่ชอบอ่านจาก ipad หรืออ่านจากคอมพิวเตอร์ หนังสือไม่ต้องอาศัย wifi ไม่ต้องอาศัยอินเตอร์เน็ต ซื้อมาเล่มเดียวจบ ใส่กระเป๋าไว้ว่างเมื่อไหร่ก็เอาออกมาอ่าน ถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจก็กลับไปอ่านใหม่ นี่คือความดีของคำว่าหนังสือ ผมตั้งปณิธานว่าผมยังจะเขียนหนังสือต่อไปแม้กระทั่งจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรก็ตามมาทดแทน  เพราะผมเชื่อว่าหนังสือยังคงมีความมหัศจรรย์อยู่ในตัว แล้วก็ยังคงมีความคลาสสิคกว่าอ่านใน ipad

ทุกวันนี้โต๊ะครูในอินเดียยังเขียนหนังสือด้วยลายมือ และยังพิมพ์ด้วยลายมืออยู่เลย ถ่ายเอกสารและเย็บและขายทั้งอย่างนั้น ผมว่ามันมีจิตรวิญญาณมีอารมณ์ มีความศรัทธาอันแรงกล้าของผู้เขียนใส่ลงไปในตัวหนังสือ แล้วมันมีพลัง หนังสือของอุลามาอฺในอดีตมันถึงได้มีพลังเปลี่ยนคนได้ หนังสือของเขาเปลี่ยนสังคมได้ เพราะตัวอักษรของเขามันมีพลัง ด้วยความที่เจ้าของหนังสือต้องเค้นออกมา นี่คือความยิ่งใหญ่ ผมเชื่อว่าหนังสือในอนาคตก็ยังต้องมีอยู่แม้จะมีทางเลือกที่หลากหลาย จริงอยู่เราอาจจะอ่านจาก ipad อ่านจากอะไรก็ได้ แต่ความคลาสสิคก็ยังคงเป็นหนังสือ ผมเคยปรารภว่าจะเขียนหนังสือจนกว่าจะไม่ไหว ถ้าปากยังพูดได้คงให้ลูกศิษย์มานั่งแล้วก็ให้เขาเขียน

รูปแบบการเขียน รูปแบบการนำเสนอ หรือแม้แต่การออกแบบรูปเล่ม อาจารย์มีการพัฒนาอะไรบ้างไหม

พัฒนาเยอะครับเพราะคนรุ่นใหม่ดูที่หน้าปก ชื่อเรื่อง คนเขียน แต่ถ้าเป็นหนังสือที่ไม่ใช่มุสลิมเขียน คนอ่านเขาจะเลือกที่ตัวนักเขียนก่อน สังคมเราก็เลยมาแข่งขันที่รูปลักษณ์ภายนอก ผมเองก็ต้องมาแข่งขันกับคนรุ่นใหม่ซึ่งแข่งขันเยอะด้วย เราก็หาคนออกแบบหน้าปกที่เป็นแนวอาร์ตๆ หน่อย แนวที่เดี๋ยวนี้เขานิยมเรียบๆ ง่ายๆ แต่มันดึงดูด เดี๋ยวนี้หนังสือสาสนาเปิดมาจะเป็นสีกันหมด อัลกุรอานสีหนึ่งคำแปลสีหนึ่ง หะดิษอีกสีหนึ่ง ผมว่ามันเป็นการปฏิวัติวงการหนังสือมุสลิมได้อย่างดี การแข่งขันแบบนี้ผมเห็นด้วยแล้วต้องยิ่งแข่งขัน ทำหนังสือยิ่งดีมากเท่าไหร่ ราคายังคงไม่แพงมากมันก็เป็นการกระตุ้นให้คนได้อ่าน

ผมเปลี่ยนจากหน้าปกที่เรียบๆ ขายความเป็นวิชาการ ขายเรื่องของเนื้อหาในอดีตได้ แต่ปัจจุบันนอกจากเนื้อหาต้องดีแล้วชื่อหนังสือก็ต้องชวนให้หยิบจับด้วย  บอกได้เลยว่าเปลี่ยนเยอะแล้วคงต้องพัฒนารูปเล่ม ผมเคยรีวิวหนังสือหลายเล่ม ทั้งของศาสนาและต่างศาสนิก เพื่อให้คนที่เป็นมุสลิมได้ดูแบบอย่างว่านี่แบบนี้เขาทำได้เราควรทำ ยกตัวอย่าง เรไรรายวัน เด็กอายุ 6 – 7 ขวบ เขียนหนังสือ ตอนนี้มีเล่มสองแล้ว ทำให้เห็นว่าเราควรส่งเสริมเด็กมุสลิมของเราที่มีความสามารถ ควรเน้นหนักในเรื่องของการเขียน เน้นเรื่องวิธีคิดของเยาวชน ซึ่งตอนนี้สังคมมุสลิมเรายังไม่มี

อ.มุรีด ทิมะเสน

หนังสือมุสลิมในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นรูปแบบไหน เป็นแบบวิชาการล้วนๆ หรือแบบอื่นด้วย

มีสองแบบ คือแบบวิชาการแบบที่ถูกผลิตในปอเนาะในโรงเรียนสอนศาสนา ซึ่งชาวบ้านไม่สามารถเข้ามาบริโภคได้เลย ส่วนแบบที่สองเป็นตำราทั่วไปให้แก่ชาวบ้าน การเขียนตำราให้กับชาวบ้านยากกว่าเขียนตำราวิชาการเพื่อไปสอน ต้องเป็นตำราง่ายๆ เขียนง่ายๆ เข้าใจง่ายๆ โดยเฉพาะภาษาอาหรับที่ถูกทับศัพท์แล้วไม่ยอมแปลเป็นภาษาไทยคนรุ่นหลังจะอ่านบางทีก็ไม่เข้าใจ เช่น อิติคฟาส เตาบะฮฺ แปลว่าอะไร ศอลาหฺ ที่แปลว่าละหมาดก็จะไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร สิ่งเหล่านี้จะเป็นข้อจำกัด บางครั้งการสื่อกับชาวบ้านโดยการเขียนให้ชาวบ้านเข้าใจอันนี้ลำบาก

คนสมัยก่อนเคยมีแม้กระทั่งว่าไม่แปลอัลกุรอานเป็นภาษาอื่นนอกจากภาษาอาหรับเลย แปลเป็นภาษามาลายูไม่ได้ ภาษาไทยไม่ได้ เพราะถือว่าอัลกุรอานศักดิ์สิทธิไม่สามารแปลเป็นภาษาอื่นได้ ฉะนั้นการถ่ายทอดให้กับชาวบ้านจึงตีกรอบเฉพาะคนที่มีความรู้เท่านั้น ความรู้ก็เหมือนอยู่ในมัสยิด อยู่ในปอเนาะ มันไม่ถ่ายทอดถึงชาวบ้าน แต่ชาวบ้านจะรู้ก็ต่อเมื่อมีครูมาสอน แต่อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ปัจจุบันมีโต๊ะครูรุ่นใหม่เขียนหนังสือเยอะขึ้น

อ.มุรีด ทิมะเสน

การเข้าถึงองค์ความรู้ต่างของอิสลามมีข้อจำกัดไหม หรือมีกระบวนการขั้นตอนในการเข้าถึงองค์ความรู้เหล่านี้อย่างไรบ้างไหม

ท่านนบีเคยพูดว่า “ให้เรานำศาสนาไปให้ตามบริบทของแต่ละบุคคล” สมมติเราสอนที่มหาวิทยาลัย บรรยายให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยเราก็อาจจะบรรยายแบบวิชาการได้เลย แต่เวลาไปบรรยายกับชาวบ้านเราจะไปบรรยายให้เหมือนกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยคงไม่ได้ ฉะนั้นนี่เป็นกำแพงหนึ่งที่ทำให้นักวิชาการที่มีความรู้มากๆ ต่อไม่ติดกับชาวบ้านด้วยเหตุผลนี้ เหตุผลของการสื่อ ต้องสื่อให้รู้ด้วยว่าไปสื่อกับใคร

ครั้งหนึ่งมีคนมาถามท่านนบี นบีผมจะมาขออนุญาตทำซินา นบีไม่ได้ไล่เขานะ นบีบอกว่าท่านนั่งก่อน ถ้ามีคนมาทำซินากับแม่ท่านท่านจะรู้สึกอย่างไร ถ้ามีคนมาทำซินากับพี่สาวน้องสาวท่าน ท่านจะว่าไง ชายคนนั้นตอบว่า ไม่ได้ผมจะต่อยเขา ผมไม่ยอม แล้วถ้าท่านไปทำซินากับคนอื่นหละ? นี่เป็นเทคนิคในการสอนของท่านนบี อีกวันหนึ่งมีชาวอาหรับทะเลทรายมาหานบีที่มัสยิด เข้ามาถึงก็ปัสสาวะเลย บรรดาคนใกล้ชิดนบีโกรธกันมาก แต่นบีไม่ตำหนิ แถมสั่งให้พวกเขาไปรดน้ำเพื่อทำความสะอาด ถามว่าทำไมนบีไม่ตำหนิ ก็เพราะเขาคือชาวอาหรับชนบท ที่อาจไม่เข้าใจเรื่องมารยาท เพราะฉะนั้นแนวทางเหล่านี้ผู้รู้จะต้องเข้าให้ถึงแล้วนำมามาใช้ให้ได้จริง

เราต้องสื่อกับชาวบ้านบนพื้นฐานและความสามารถที่เขาจะรับได้ ไปสอนศาสนากับเด็กแว๊นซ์ต้องทำอย่างไร ไปสอนศาสนากับคนที่มีความรู้สูงๆ ต้องทำอย่างไร ไปสอนศาสนาให้กับคนต่างศาสนิกต้องทำอย่างไร เรื่องแบบนี้สังคมบางทีเราขาด บางทีโต๊ะครูพูดแบบเดียวกันกับทุกคน มันก็เลยหลายเป็นกำแพง บางคนก็อาจจะต่อต้านเลย

เพราะเหตุนี้ นบีเลยไม่กำหนดรูปแบบของการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม ไม่มีบอกว่ารูปแบบของการเผยแพร่อิสลามต้องคุตุบะฮฺวันศุกร์ ยืนบนมิมบัร เทศนาเฉพาะวันศุกร์เท่านั้น สมัยนี้มี Facebook เราก็สามารถเรียกร้องเผยแพร่ทาง Facebook ได้ บรรยาย Live สดได้เลย เรามีดาวเทียม เรามีหนังสือ เรามีทุกอย่างที่เป็นสื่อในการเผยแพร่ นี่เป็นความชาญฉลาดที่อิสลามไม่ได้กำหนด ฉะนั้นใครจะมากำหนดว่าอิสลามต้องเผยแพร่แบบนี้ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า อันนี้ไม่มี ฉะนั้นเราใช้สื่อที่มีได้ นี่คือความกว้างของศาสนา

ผมยอมรับว่าปัจจุบันมีสื่อเยอะมากแล้วสื่อพวกนี้ก็รองรับความต้องการของคนทั่วไป ยกตัวอย่างง่ายๆ ถามว่าวัยรุ่นปัจจุบันจะขับรถมานั่งฟังโต๊ะครูพูดที่สุเหร่าไหม ถ้ามีก็น้อย แล้วเขาฟังกันที่ไหน ฟัง Youtube ฟังใน Facebook แสดงว่าการใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันมีความสำคัญ แล้วบรรดาผู้รู้ก็ใช้เทคโนโลยีในการสื่อถึงชาวบ้าน วิธีการใดก็ได้ที่ไม่ได้เป็นข้อห้ามในอิสลามทำได้เลย อันนี้สามารถทำให้คนมาเข้าใจได้

อ.มุรีด ทิมะเสน

การอ่านและหนังสือสำคัญอย่างไร ในทัศนะของอาจารย์

ถ้าไม่มีการอ่านการเขียนมาจากอดีต มุสลิมทุกวันนี้ก็ไม่รู้จะเป็นอย่างไร เราอาจกราบไหว้ต้นไม้ก็ได้ วันนี้เราอาจกราบไหว้ก้อนหินก็ได้ แต่เพราะคนในอดีตอ่านและเขียน เนื่องจากตัวบทที่พระเจ้าบัญญัติมา ถ้าเป็นมุสลิมแล้วไม่อ่านเราจะเป็นมุสลิมที่บกพร่องมาก เพราะถ้าไม่อ่านแล้วเราจะละหมาดได้อย่างไร จะถือศีลอดได้อย่างไร เราจะนำข้อปฏิบัติในหลักการของศาสนามาปฏิบัติได้อย่างไร นี่แค่การอ่านถ้าเราไม่อ่าน และถ้าไม่มีการเขียนจากนักวิชาการอุลามาอฺในอดีตมาให้เราจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นสังคมขาดการอ่านการเขียนไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะมันคือต้นตอแห่งการเจริญก้าวหน้าทางด้านการศรัทธา ถ้าไม่มีฮูก่ม(ข้อบังคับทางศาสนา)ของการอ่านให้กับประชาชาติมุสลิม ประชาชาติมุสลิมจะล้าหลังมาก

ในอดีตอาณาจักรอิสลามเติบโตขึ้นมาจากการอ่าน ในสเปนหลังอาณาจักรอิสลามล่มสลาย ศัตรูของอิสลามนำหนังสือไปทิ้งในทะเลจนทะเลเป็นสีดำ เพราะน้ำหมึกไม่รู้กี่แสนล้านเล่มที่ไปทิ้งในทะเล นั่นคือคุณูปการของคนในอดีตที่เขียนไว้ ฉะนั้นวันนี้บรรดาคนที่พอมีความรู้บ้างต้องตระหนักว่าลูกหลานเราในอนาคตจะอ่านอะไร ถ้าในอนาคตมันไม่มีให้กับลูกหลานสังคมมุสลิมมันจะด้อยและถดถอยลง ฉะนั้นการอ่านต้องมีในสังคมมุสลิมไทย การเขียนต้องมีในสังคมมุสลิมไทย เราจะต้องพยายามกระตุ้นและอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ไว้ อย่าให้หนังสือศาสนาหมดไปจากแผงหนังสือ อย่าให้คนเขียนหนังสือถูกทอดทิ้ง เราต้องสนับสนุนคนเขียน สำนักพิมพ์ แล้วเราในฐานะคนอ่านจะต้องทำหน้าที่การอ่านอยู่ตลอดไป

 

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Nada Khongthon