fbpx

เมื่อ CEO เฟซบุ๊กถกประเด็นความหวาดระแวงอิสลามกับนักศึกษามุสลิม

 Mark Zuckerberg CEO เฟซบุ๊ก โพสต์สเตตัสเล่าให้ฟังว่าเขาได้มีโอกาสพบปะกับกลุ่มนักศึกษามุสลิมในเมือง Dearbon รัฐมิชิแกนประเทศสหรัฐอเมริกา มาร์คเล่าถึงความท้าทายบางอย่างที่ชาวมุสลิมต้องเจอทั้งเมื่อตอนอยู่บ้านเกิดของตนเองและตอนอยู่ในอเมริกาในฐานะผู้อพยพ และนี่คือเนื้อหาที่เขาโพสต์:

ผมเพิ่งได้มีโอกาสนั่งสนทนากับกลุ่มนักศึกษาชาวมุสลิมที่มหาวิทยาลัย Michigan ในเมือง Dearbon ซึ่งเป็นเมืองที่มีสังคมชาวมุสลิมที่เก่าแก่ที่สุดและอาศัยอยู่กันมากที่สุดในอเมริกา ประมาณ 20% ของประชากรที่นั่นแสดงตนเป็นชาวมุสลิม

นักศึกษาส่วนใหญ่ที่ผมพบล้วนเป็นผู้อพยพที่มาจากประเทศสงครามอย่างปาเลสไตน์ จอร์แดน และอิรัก พวกเขาเล่าให้ผมฟังถึงเรื่องราวของความรุนแรงที่เคยประสบมา รวมไปถึงภาพความทรงจำครั้งแรกๆ ของเธอกับสภาพบ้านที่โดนระเบิดแล้วเธอต้องรีบกระโดดเข้าไปหลบอยู่ในอ้อมแขนแม่ของเธอ ทั้งๆ ที่แม่เองก็ไม่สามารถป้องกันอะไรเธอได้เหมือนกัน

จนในที่สุดที่ครอบครัวของพวกเขาได้อพยพกันมาตั้งรกรากใน Dearbon เพื่อความสงบสุขและสังคมที่ดีกว่า นักศึกษาคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า “พ่อแม่ของฉันค่อนข้างจะเป็นคนหัวโบราณ แต่ฉันกลับเป็นคนที่กล้าพูดกล้าแสดงออก นั่นก็เพราะว่าฉันมีสังคมที่นี่ที่ฉันพึ่งพาได้ ที่ที่ฉันได้รับการยอมรับไม่ใช่เพียงเพราะศรัทธาที่ฉันมี แต่มันมากไปถึงการยอมรับในรากเหง้าของความเป็นผู้อพยพในตัวฉัน ทุกคนเข้าใจในเรื่องราวชีวิตของฉัน”

กระนั้นแม้จะเป็นสังคมอย่าง Dearbon นักศึกษาเหล่านั้นได้บอกผมว่า พวกเขาก็ยังรู้สึกว่ายังต้องหมั่นตรวจสอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา นักศึกษาคนหนึ่งเล่าให้ฟังถึงความรู้สึกที่เธอจะต้องคอยควบคุมตัวเองอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งตอนที่ซื้อของในร้านขายของชำ เธอต้องยอมปล่อยให้คนผิวขาวแซงหน้าลัดคิวโดยที่ไม่โวยวายออกไป เพียงเพื่ออยากจะให้เขารู้ว่ามุสลิมนั้นเป็นคนดีอย่างไร เธอเล่าว่า จนนานเข้า “ฉันเริ่มเรียนรู้ที่จะไม่โทษตัวตนของฉันเอง ฉันเป็นคนอาหรับ ฉันเป็นมุสลิม และนี่คือสิ่งที่ฉันเป็น” แต่นั่นก็ยังคงต้องใช้ความพยายามมากมาย  

หนึ่งในนักศึกษาที่ผมพบเล่าให้ฟังว่า เขารู้ว่าชาวอเมริกันผิวขาวหลายคนก็รู้สึกเหมือนโดนแบ่งแยกและไม่ได้รับความสำคัญเช่นเดียวกัน แต่ถึงแม้ว่านั่นจะเป็นสิ่งที่เราต่างก็มีเหมือนกัน มันก็ยังคงเป็นอะไรที่ยากอยู่กับการที่เราจะเริ่มบทสนทนากัน “ผมยังคงมีฐานคติในแบบของผมและเขาก็มีฐานคติในแบบของเขา และมันก็จบลงที่ตรงนั้นอยู่เรื่อย” เขาบอกว่า “การเจรจาสื่อสารกันจะสามารถช่วยทลายกำแพงเหล่านั้นให้พังลงได้”   

ก่อนจะจากไป นักศึกษาคนหนึ่งพูดให้ผมฟังถึงคำแนะนำดีๆ จากอาจารย์คนหนึ่งของเขาว่า หนทางหนึ่งที่จะช่วยลดความหวาดระแวงในอิสลาม (หรืออิสลาโมโฟเบีย) ลงได้คือเราต้องรู้จักตัวปัญหาให้ได้ก่อน จากนั้นแล้วจึงโฟกัสไปที่การเชื่อมความสัมพันธ์กับผู้อื่นในประเด็นทั่วไป แล้วจึงค่อยๆ สร้างความเข้าใจเดียวกัน จากนั้นจึงมาลองสร้างตัวอย่างของการแก้ปัญหาด้วยกัน

ผมรู้สึกขอบคุณกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ผมได้พบเจอวันนี้ ที่ได้ช่วยให้ผมเข้าใจและช่วยนำทางที่จะเดินหน้าต่อไป

โพสต์นี้ของ  Mark Zuckerberg ถูกแชร์ไปแล้วมากกว่าหมื่นครั้ง งานนี้ต้องชื่นชมมาร์คเป็นอย่างยิ่ง ที่ช่วยนำปัญหาที่มุสลิมในหลายกำลังต่อสู้และเผชิญอยู่มาเป็นประเด็นให้โลกได้รับรู้ ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างพยายามที่จะยัดเยียด “ความเป็นคนนอก” ให้กับมุสลิม และพยายามที่จะตีตรามุสลิมว่าเป็น “ศัตรู” อยู่ตลอดเวลา

 

แปลและเรียบเรียงโดย : Andalas Farr
ที่มา : Mark Zuckerberg

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร