fbpx

ญี่ปุ่น ปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวฮาลาล

ประเทศญี่ปุ่นเตรียมปูพรมแดงต้อนรับนักท่องเที่ยวจากชาติมุสลิมด้วยมาตรการเชิงรุก ด้วยการจัดให้มีสัญลักษณ์ลูกศรชี้ทิศละหมาดตามห้องพักต่างๆในโรงแรม มีการติดป้ายบอกทางไปห้องละหมาดตามสนามบินและห้างสรรพสินค้าต่างๆ พร้อมจัดสรรอาหารฮาลาลให้เป็นเมนูหลักตามภัตตาคารและร้านอาหารของบริษัทที่ทำธุรกรรมกับนักธุรกิจต่างชาติชาวมุสลิมอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า อัตราการเจริญเติบโตของจำนวนประชากรมุสลิมที่เลือกใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่นอยู่ในระดับคงที่มาโดยตลอด อาหารฮาลาลเริ่มปรากฏตัวในเมนูอาหารเป็นครั้งแรกเมื่อสิบปีที่แล้ว แต่ความเรืองรองของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศในช่วงที่ผ่านมานั้นทำให้เกิดอุปสงค์และอุปทานของอาหารฮาลาลมากขึ้นเป็นพิเศษ

ตลอดปี ค.ศ. 2016 ที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นมีมากกว่า 24 ล้านราย ซึ่งเกินอัตราเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดตามนโยบายแผนพัฒนาประเทศปี 2020 ที่เล็งไว้เพียง 20 ล้านราย และนักท่องเที่ยวจากชาติมุสลิมถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่กำลังเติบโต

จากรายงานขององค์กรการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ระบุว่า ชาวอินโดนีเซียนิยมเดินทางมาประเทศญี่ปุ่นมากถึง 271,000 รายในปี 2016 ที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าปี 2009 ที่มีอยู่เพียง 63,000 ราย เช่นเดียวกันกับชาวมาเลเซียที่มีตัวเลขการเข้ามาเยือนประเทศญี่ปุ่นมากถึง 394,000 รายในปีที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่า 7 ปีที่แล้วที่มีเพียง 89,000 รายเท่านั้น

JNTO ยังระบุอีกว่า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตรานักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้ามาเยือนประเทศญี่ปุ่นนั้น เป็นผลสืบเนื่องจากที่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ลดหย่อนมาตรการในการขอวีซ่าลง และการเติบโตของสายการบินราคาประหยัดที่เปิดบริการบินตรงสู่ประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น รวมไปถึงการเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลางที่มีรายได้เพื่อการจับจ่ายที่สูงขึ้น และอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกับปรากฏการณ์นี้ก็คือ ความสะดวกสบายที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมในการมาท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง

“มีปัจจัยหลายๆอย่างรวมกันที่ส่งผลให้สถิติการท่องเที่ยวในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างน่าประทับใจ เช่นการลดลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยน ที่ทำให้การท่องเที่ยวในญี่ปุ่นกลายเป็นเรื่องที่สามารถจับจ่ายได้คล่องตัวโดยเฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” Ms Susan Ong, รองผู้อำนวยการสำนักงาน JNTO ประจำประเทศสิงคโปร์กล่าว

“ฉันคิดว่า ปัจจุบันหน่วยงานการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นเริ่มจะเปิดกว้างให้กับแขกต่างชาติมากขึ้น” เธอกล่าว

ในเดือนมิถุนายน 2016 ที่ผ่านมา Shigeru Yamashita ได้ลงทุนสร้างโรงแรมที่ชื่อว่า Syariah Hotel Fujisan  เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมโดยเฉพาะ เขากล่าวว่า “ผมเปิดบริการโรงแรมเพื่ออยากให้ชาวมุสลิมรู้สึกสบายใจเวลาที่ได้มาเยือนประเทศญี่ปุ่น”

“อาหารทุกมื้อที่เราเสริฟเป็นเมนูอาหารญี่ปุ่น แต่เราจะคัดสรรและเลือกใช้วัตถุดิบที่ฮาลาลเท่านั้น” เขาบอกขณะให้สัมภาษณ์กับ This Week in Asia  “นอกจากนี้เรายังมีกิ้บลั้ตหรือสัญลักษณ์บอกทิศละหมาดแปะไว้ในแต่ละห้องพักของโรงแรม และมีห้องละหมาดอย่างดีไว้รองรับชาวมุสลิมอีกด้วย”

โรงแรมดังกล่าวเป็นโรงแรมที่ดัดแปลงและปรับปรุงมาจากบ้านโล่งกว้างหลังหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับทะเลสาบ Kawaguchiko บริเวณตีนเขาของภูเขาไฟฟูจิ หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของญี่ปุ่นที่แขกชาวต่างชาติหลายคนไม่อยากพลาด

“ที่ผ่านมาเรามีแขกที่เป็นมุสลิมมาพักที่โรงแรมประมาณ 300 คน แต่ธุรกิจของเรายังใหม่อยู่มาก และผมเชื่อว่าวงการท่องเที่ยวจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และจะมีมุสลิมอีกมากมายเข้ามาท่องเที่ยวในญี่ปุ่นในช่วงหลายปีข้างหน้านี้”

ผู้ประกอบการธุรกิจอื่นต่างก็เล็งเห็นเช่นเดียวกันว่า ผู้บริโภคชาวมุสลิมนั้นถือได้ว่าเป็นโอกาสทองในการขยับขยายธุรกิจ

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมงานมหกรรมสินค้าฮาลาล Halal Expo Japan มากถึง 7,000 คน งานครั้งนี้จัดขึ้นในกรุงโตเกียวเป็นเวลาสองวันเต็มเนื่องในโอกาสเปิดตัวงาน Tokyo Modest Fashion Show โดยงานเดียวกันนี้มีแพลนจะจัดขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ณ กรุงโอซาก้า และอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน ณ กรุงโตเกียว

ในส่วนของเขตจังหวัด Okayama นั้น ทางสมาคมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพแห่ง Okayama ได้เปิดตัวแผนการโปรโมทเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ที่ให้มีการมอบตราสัญลักษณ์ Peach Mark ให้กับโรงแรมหรือภัตตาคารร้านอาหารที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือมีอาหารฮาลาลรองรับชาวต่างชาติที่เป็นมุสลิม ร้านอาหารใดที่ไม่มีการเสริฟเมนูหมูและมีการจัดเตรียมอาหารด้วยกระบวนการที่ถูกต้อง หรือโรงแรมใดที่มีพรมละหมาดจัดเตรียมให้ลูกค้าชาวมุสลิมก็จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองคุณภาพ

ลานร้านค้าปลีก Shisui Premium Outlets ในเขตเมือง  Chiba ได้เปิดให้มีห้องละหมาดสำหรับชาวมุสลิมมาตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งเป็นปีเดียวกันที่สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ถูกจัดสรรให้มีขึ้นในร้าน Shinjuku ภายใต้การดำเนินงานของ  Takashimaya หรือแม้แต่สวนสนุกอย่าง Shiroi Koibito ในเมือง Sapporo ก็ได้เปิดให้มีห้องละหมาดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลังจากที่มีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและอินโดนีเซียเข้ามาใช้บริการในสวนสนุกดังกล่าวมากถึง 24000 รายในช่วงปี 2014 ซึ่งเพิ่มสูงกว่าสถิติเดิมเมื่อปีที่แล้วมากถึง 74%

นอกจากนี้ สาธารณูปโภคต่างๆเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเอาใจแขกผู้มาเยือนที่เข้ามาอยู่อาศัยในญี่ปุ่นเป็นระยะยาว ดังเช่นที่มหาวิทยาลัย Rikkyo ในกรุงโตเกียวที่มีแผนจะเพิ่มอัตราการรับนักศึกษาต่างชาติให้มากขึ้นถึง 2,000 คนภายในปี 2024 นี้ โดยได้มีการเปิดให้บริการห้องละหมาดที่เพียบพร้อมไปด้วยสัญลักษณ์กิ้บลั้ตบอกทิศละหมาดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยกล่าวด้วยว่าห้องละหมาดนี้ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมอิสลามสำหรับนักศึกษาชาวญี่ปุ่นทั่วไปอีกด้วย

ภายในบริเวณใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัย Sophia ที่มีนักศึกษาจากประเทศมุสลิมอาศัยมากถึง 50 คน ก็ยังมีร้านอาหารบริการเสริฟหลายเมนูฮาลาลให้กลุ่มนักศึกษามุสลิมดังกล่าว

ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตซิปอย่าง YKK Corp  ก็เริ่มจัดสรรเมนูอาหารฮาลาลในร้านอาหารของโรงงานที่ตั้งอยู่ในเมือง Kurobe เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกให้กับมุสลิมที่เข้ามาฝึกงานในโรงงานที่มีอัตราเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ปัจจุบันบริษัทในเครือ YKK มีแหล่งประกอบการที่มากถึง 71 ประเทศทั่วโลก

นาย Mohammed Naji Matar เริ่มเข้าร่วมงานกับบริษัทการท่องเที่ยวสากลมิยาโกะประจำสาขาโอซาก้าหลังอพยพออกมาจากประเทศซีเรียเมื่อสี่ปีที่แล้ว เขาได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เริ่มต้นธุรกิจมุสลิมของทางบริษัท และเขาเชื่อมั่นว่ามีโอกาสดีๆอีกมากมายในวงการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นนี้

“เมื่อหลายปีก่อนเราได้เห็นปรากฏการณ์การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบันเราได้เห็นความน่าสนใจตรงนี้เกิดขึ้นอีกครั้งในญี่ปุ่นด้วยการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากดูไบ ซาอุดีอาระเบีย และอีกหลายประเทศในแถบตะวันออกกลาง” Mohammed กล่าว

 

แปลและเรียบเรียงโดย : Andalas Farr
ที่มา : Why Japan is becoming a favorite halal destination

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร