fbpx

ปลาอาจไม่ฮาลาล ความกังวลของผู้เชี่ยวชาญด้านฮาลาลชาวยุโรป

Tayeb Habib ซึ่งเป็น CEO ของ Halal Trading & Consulting (EU Halal) เขียนบทความแสดงความกังวลต่อสถานการณ์การเพาะเลี้ยงปลาในยุคปัจจุบันที่ยังขาดการดูแลจากหน่วยงานด้านฮาลาลในหลายประเทศ Tayeb บอกว่าอาหารที่ใช้เลี้ยงปลาบางส่วนนั้นมีส่วนปนเปื้อนของสุกรรวมถึงสัตว์ปีกอื่นๆ ที่ไม่ฮาลาล

กองบรรณาธิการเห็นว่าบทความนี้มีประเด็นน่าสนใจ จึงเรียบเรียงมานำเสนอแก่ผู้อ่าน Halal Life ได้มาขบคิดกันต่อ

 

จากบ่อสู่จาน ความสำคัญของการเลี้ยงปลาที่หน่วยงานฮาลาลต้องให้ความสำคัญ

เมื่อทรัพยากรปลาในท้องทะเลเริ่มลดจำนวนลงอันเนื่องจากความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น กอปรกับฝูงปลาบางชนิดได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ที่มุ่งเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงอุตสาหกรรมปลาคือการเปิดฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาเพื่อทดแทนความต้องการที่ไม่ลดลงของตลาดโลกกันมากขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าข้อดีอย่างหนึ่งของการเพาะเลี้ยงปลาในฟาร์มคือสามารถทำซ้ำได้หลายครั้งและให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนกว่า แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นกังวลโดยเฉพาะต่อกลุ่มผู้บริโภคมุสลิมในปัจจุบันคืออาหารที่นิยมนำมาเลี้ยงปลา ซึ่งมีการค้นพบว่าปนเปื้อนสิ่งฮะรอมหรือมีส่วนประกอบที่มาจากสิ่งต้องห้ามตามหลักการในศาสนาอิสลาม

ด้วยจำนวนประชากรของโลกที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน จึงทำให้เกิดอุปสงค์ต่อการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพดีเพิ่มสูงขึ้นเป็นผลตามมา องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติได้ประมาณการณ์ไว้ว่า “อุปสงค์ต่อการบริโภคเนื้อของโลกในปี 2030 จะมีค่าสูงขึ้นกว่าระดับปริมาณในปี 2000 มากถึง 72%” ในขณะที่ตลาดการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซึ่งรวมไปถึงการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงปลานั้นจะเติบโตขึ้น 50% ในปี 2010 ถึง 2030  โดยมุสลิมจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักของอาหารประเภทปลา ในโลกที่มีประชากรราว 76 ล้านคนและในจำนวนนี้ 18 ล้านคนเป็นประชากรมมุสลิมที่ตระหนักถึงความฮาลาลของอาหาร ด้วยเหตุนี้จึงมีการแนะนำว่าองค์กรที่ทำหน้าที่รับผิดชอบด้านการอนุมัติและตรวจสอบอาหารฮาลาลควรเข้ามามีบทบาทในการรองรับกระแสการบริโภคปลาของกลุ่มบริโภคมุสลิมให้มากยิ่งขึ้น

นอกจากเนื้อสัตว์อื่นๆ ทั่วไปแล้ว คอนเซ็ปต์อาหารฮาลาลจากฟาร์มสู่จานข้าวควรจะครอบคลุมเนื้อสัตว์ประเภทปลาด้วยเช่นกัน ปลาที่เกษตรกรเพาะเลี้ยงควรได้รับอาหารและโปรตีนที่มาจากแหล่งที่ถูกต้องตามหลักการศาสนา น่าเสียดายที่ปัจจุบันบทบาทขององค์กรที่ให้การรับรองตราฮาลาลมักจะละเลยและไม่ค่อยให้ความสำคัญกับประเด็นอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงปลาในฟาร์มเท่าใดนัก ความเชื่อของมุสลิมโดยทั่วไปยังคงเข้าใจกันอยู่ว่าปลาทุกชนิดนั้นฮาลาล ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงอาหารที่นิยมนำมาเพาะเลี้ยงปลาในปัจจุบันสุ่มเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสิ่งฮารอมอยู่มาก

 

ประเด็นคืออาหารที่ใช้เลี้ยงปลา

François Simard รองผู้อำนวยการโครงการ IUCN’s Marine Programme กล่าวว่าการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาในปัจจุบันสามารถช่วยผลิตปลารองรับความต้องการของตลาดโลกได้มากกว่า 50% ของปริมาณปลาทั้งหมด และการหลีกเลี่ยงการใช้อาหารเลี้ยงปลาที่สกัดจากสัตว์ใต้ท้องทะเลถือเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาความมั่นคงด้านอาหารของโลกได้ อีกทั้งช่วยรักษาสมดุลให้กับโลกใต้ท้องทะเลและยังช่วยในการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้อีกด้วย

ในอดีตชาวประมงส่วนใหญ่นิยมใช้อาหารปลาที่ผลิตจากปลาหรือพืชใต้ท้องทะเล แต่เนื่องจากปริมาณทรัพยากรที่เริ่มไม่พอเพียงและความต้องการต่ออาหารปลาของฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน จึงทำให้เกิดการประยุกต์ใช้วัตถุดิบทางเลือกชนิดอื่นมาเป็นอาหารของปลาแทน และสิ่งที่เป็นประเด็นพิพาทสำหรับผู้บริโภคชาวมุสลิมคือการใช้วัตถุดิบที่สกัดจากเนื้อสุกรมาเป็นอาหารเพาะเลี้ยงปลา ดังเช่นที่เป็นข่าวกรณีสหภาพยุโรปได้อนุญาตให้มีการนำใช้โปรตีนสัตว์สำเร็จรูปที่ผลิตจากสัตว์เลี้ยงที่ไม่ใช่สัตว์เคี้ยวเอื้อง (ซึ่งส่วนใหญ่ได้จากสุกรและสัตว์ปีก) มาเป็นอาหารเพาะเลี้ยงปลาแทน ประเด็นนี้สร้างความหวั่นวิตกให้กับมุสลิมในยุโรปและประเทศมุสลิมอื่นๆ ที่นำเข้าปลาเลี้ยงจากยุโรปเป็นอย่างยิ่ง เป็นไปได้ว่าปลาเลี้ยงที่มุสลิมเราบริโภคกันอยู่ในปัจจุบันนี้อาจได้รับอาหารที่สกัดจากสุกรและไก่ที่ไม่ฮาลาล ยิ่งบางประเทศในแถบเอเชียที่มีการเพาะเลี้ยงปลากันทั่วไป ก็นิยมให้อาหารที่ผลิตจากโปรตีนสัตว์เสียเป็นส่วนใหญ่เช่นกัน ซึ่งหนึ่งในโปรตีนสัตว์ที่ราคาถูกที่สุดคือพลาสม่า และพลาสม่าตัวนี้ก็ผลิตจากเลือดของสุกร

นอกจากนี้ยังมีการค้นพบประเด็นสถานเพาะเลี้ยงปลาที่ไม่ถูกสุขลักษณะ มีการให้อาหารที่ปนเปื้อนนะญิสหรือสิ่งปฏิกูลแก่ปลา เลี้ยงปลาในสภาพแวดล้อมที่สกปรกและอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค ดังเช่นที่มีข่าวรายงานกรณีปลาทับทิมในประเทศจีนโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนพฤษภาคม 2017 ที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้ทำให้มีการตั้งคำถามถึงมาตรฐานฮาลาลของปลาที่มุสลิมหลายคนยังคงเข้าใจกันอยู่ว่าเป็นสัตว์ที่ฮาลาลโดยธรรมชาติ แต่ปลาในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงนั้นควรที่จะได้รับการตรวจสอบจากสถาบันหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องฮาลาลด้วยหรือไม่

จึงมีการชี้แนะและรณรงค์ให้องค์กรที่ดูแลด้านการอนุมัติตราฮาลาลหันมาให้ความสำคัญและใส่ใจต่อประเด็นอาหารปลาที่ใช้ในฟาร์มเพาะเลี้ยงปลากันมากขึ้น ควรมีการตรวจสอบถึงที่มาที่ไปของอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงปลาและแจ้งข้อเท็จจริงให้ผู้บริโภคทราบเพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการตัดสินใจบริโภคปลาที่มีอยู่ตามท้องตลาดต่อไป

แปลและเรียบเรียง  :  Andalas Farr
ที่มา  : From Farm to Fork – Issues with Fish Farming for Halal Certifying Bodies

 

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร