fbpx

“พอเพียง เพราะเข้าใจ” ชีวิตที่อยู่เป็นแล้วมีความสุขของ สมชาย สมานตระกูล

"พอเพียง เพราะเข้าใจ" ชีวิตที่อยู่เป็นแล้วมีความสุขของ สมชาย สมานตระกูล

ไม่ว่าใครก็ล้วนอยากมีชีวิตที่เป็นสุข แต่มุมมองของความสุขของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน

อาจารย์สมชาย สมานตระกูล เป็น “ครูภูมิปัญญา” รุ่นที่ ๒ สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับการแต่งตั้งจากสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นแกนนำชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา เขตหนองจอก กรุงเทพฯ และเป็นบุคคลสำคัญในการดำรงรักษาภูมิปัญญาและองค์ความรู้จากคนรุ่นก่อนเพื่อนำมาสื่อสารบอกต่อให้คนรุ่นหลังได้รับรู้

ภูมิปัญญาและองค์ความรู้ของอาจารย์สมชาย มาจากการลงมือทำจริง และเห็นผลจริง ก่อนจะนำมาส่งต่อให้กับผู้อื่น ภารกิจประจำวันของอาจารย์สมชายจึงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับไร่กับสวนขนาดกะทัดรัดภายในบ้านตัวเอง

อาจารย์สมชาย อาจไม่ใช่ชาวนาอาชีพที่มีผืนนาหลายร้อยหลายสิบไร่ ไม่ใช่เกษตรกรที่ปลูกผักทำสวนเพื่อส่งขายตามตลาดหรือห้างสรรพสินค้า แต่อาจารย์สมชายทำนา ปลูกผัก ผลไม้ ไว้เพื่อกิน เพื่อเรียนรู้ และเพื่อทดลอง

เดิมทีอาจารย์สมชายมีอาชีพเป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ที่โรงเรียนอิสลามลำไทร ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไม่กี่ร้อยเมตร โดยจะเน้นไปที่เรื่องสิ่งแวดล้อมและการเรียนรู้นอกห้องเรียน “ชีวิตของผมลูกทุ่งลูกชาวนา แล้วก็ไปเรียนหนังสือกลับมาแล้วเป็นครู ครูของกรุงเทพมหานคร ผมก็สอนระดับ ป.5 – ป.6  ให้ผมสอนวิชาวิทยาศาสตร์ กับ คณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่ผมตกมาตลอด” อาจารย์ชายเล่าถึงความหลัง

จากลูกชาวนาต้องกลายไปเป็นครูสอนวิทยาสาสตร์ ซึ่งอาจารย์สมชายออกตัวว่าเป็นวิชาที่ตัวเองไม่ถนัด แต่การไม่ถนัดไม่ได้ทำให้อาจารย์สมชายกลัว แต่กลับกลายเป็นแรงขับให้ก้าวผ่าน “มันเป็นแรงบันดาลใจ มันทำให้เรามุมานะที่จะค้นคว้า แล้วก็ทำเรื่องของวิทยาศาสตร์ ให้มันกระชับขึ้น จนกระทั่งเด็กเอาไปใช้ได้ ไม่ใช่แค่ท่องจำ ซึ่งสมัยก่อนเขาจะเน้นที่การท่องจำ แต่ผมดันจำไม่ได้ มันก็เลยสอบตก”

อาจารย์สมชายเปลี่ยนความน่าเบื่อของวิชาวิทยาศาสตร์ให้เป็นความสนุกด้วยการพาเด็กๆ ออกนอกห้องเรียน “ผมไม่ให้เด็กอยู่ในห้อง ถ้าเด็กอยู่ห้อง มันก็เห็นแค่ห้องกับชอล์กที่ครูเขียนกับหนังสือที่ให้เด็กอ่าน มันก็คงได้แค่นั้น ถามว่ามันใช่มั้ย มันก็ใช่ แต่มันไม่จริง ผมก็เลยเอาเด็กมาเดินเล่นข้างนอกเพื่อได้สัมผัส เพื่อได้อยู่ความเป็นจริง

องค์ความรู้มันไม่ได้อยู่ที่ครูเป็นผู้สอน แต่ครูคือผู้จัดกิจกรรม ให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ ครูจะต้องเป็นผู้จัด เพราะฉะนั้นการสอนของครู ก็คือผู้ออกแบบกิจกรรม ให้นักเรียนลงมือปฏิบัติได้ ห้องเรียนของผมมันก็เลยกลายเป็นพื้นที่ต่างๆของชุมชน

วิชาวิทยาศาสตร์มันก็คือ ค้นคว้า ทดลอง ปฏิบัติ สรุปบทเรียน  มันก็แค่นี้ เราก็แค่ต้องทำอย่างไรที่จะให้เด็กเกิดการค้นคว้า ผมก็เลยพามาให้เห็นปัญหา เด็กก็จะเกิดองค์ความรู้ขึ้นมาด้วยตัวของเขาเอง”

จากครูสอนวิทยาศาสตร์ อาจารย์สมชายผันตัวมาเป็นเกษตรกรแต่ก็ยังไม่ลืมเอาแนวคิด ค้นคว้า ทดลอง ปฏิบัติ และสรุปบทเรียน  เมื่อสมัยเป็นครูวิทยาศาสตร์มาใช้ และบทเรียนที่อาจารย์สมชายได้จากการค้นคว้า ทดลอง และลงมือปฏิบัติจริงนั้นนำพาตัวเองไปสู่การเข้าใจชีวิต “เกษตรคือเรื่องราวของ ชีวิตที่เราจะต้องอยู่กับต้นไม้ ชีวิตที่เราอยู่กับแผ่นดิน ชีวิตที่เราจะต้องอยู่กับสิ่งรอบข้าง เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันอยู่บนวิธีของอิสลาม การทำนาก็บนวิธีอิสลาม เลี้ยงปลาก็บนวิธีอิสลาม

สมมุติว่าผมไม่สนใจในหลักคำสอนอิสลาม ผมปลูกข้าวผมเอาอะไรใส่ก็ได้ ใส่อะไรก็ได้ที่มันจะโตแล้วขายได้เงินเยอะๆ แต่อิสลามสอนให้ผมต้องดูว่า ถ้าผมใส่อะไรลงไปมันจะเกิดอะไร ตัวเองก็ลำบาก สิ่งแวดล้อมก็ลำบาก คนกินก็ลำบาก แล้วถามว่ามันได้อะไร อิสลามสอนไม่ให้ไปสร้างความลำบากให้กับตัวเองและผู้อื่น  มันต้องอยู่ร่วม การอยู่รวมไม่ใช่อยู่ร่วมกับแค่ลูกหลาน แต่มันอยู่รวมทั้งหมด กบ เขียด งู ปลา เต่าอะไรทั้งหลาย ถ้าคุณทำลายไประบบนิเวศมันก็จะเสีย พอระบบนิเวศเสียคุณก็ต้องใส่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงลงไปเพื่อป้องกันเพื่อแก้ไข แต่ถ้าผมไม่ต้องใส่ ผมก็จะสร้างระบบนิเวศขึ้นมา มีกบ มีเขียด มีนก มีหนู มีอะไรอีกหลายอย่างเพื่อมาสร้างความสมดุล เพื่อมาเป็นอาหารซึ่งกัน”

จากความเข้าใจนำพาชีวิตมาสู่ความพอเพียงและความเรียบง่ายที่อาจารย์สมชายบอกกับเราว่า นี่แหละคือความสุขที่ไม่ต้องดิ้นรนค้นหา แต่เป็นความสุขที่หาได้รอบตัวเราเอง และนี่คือชีวิตที่อยู่เป็นแล้วมีความสุขของผู้ชายคนนี้ อาจารย์สมชาย สมานตระกูล

[bws_related_posts]
อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน