fbpx

ฮิญาบผืนแรกของ “นัจวา ขวัญสังข์” คนที่สองของบ้านและคนแรกของคณะ

“ฉันรักเธอ และไม่ใช่แค่ในโลกนี้ฉันขอต่ออัลลอฮฺ ให้เธอไม่ใช่แค่พี่น้องของฉันในโลกนี้เท่านั้น แต่ฉันยังอยากให้เราเป็นพี่น้องกัน อยากเจอ อยากอยู่ด้วยกันอีกครั้งในสวรรค์ อินชาอัลลอฮฺ”

หนึ่งในถ้อยคำกินใจใครหลายๆ คนที่ได้อ่านไปข้างต้น เป็นถ้อยคำจากผู้เป็นพี่สาว ส่งความรัก ความห่วงใย ผ่านตัวอักษรไปให้น้องสาวที่เริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น และกำลังจะต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิต นั่นคือการเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เส้นทางสายใหม่ที่เต็มไปด้วยสีสันและความอิสระ และนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอ สโรชา(นัจวา) ขวัญสังข์ น้องสาวผู้ได้รับความปารถนาดีจากพี่สาวเริ่มหันมาสนใจการคลุมฮิญาบ

จุดเริ่มต้นของการคลุมฮิญาบ

จริง ๆ แล้วก่อนหน้านี้ก็มีคลุมฮิญาบบ้าง แต่ก็จะคลุมเฉพาะเวลาวันอีด วันสำคัญของศาสนาอะไรประมาณนี้ ถามว่าเริ่มคลุมจริงจังตั้งแต่เมื่อไหร่ก็คงเป็นช่วงเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าที่บ้านไม่มีใครคลุมฮิญาบเลย เพราะเราไม่ได้อยู่กับสังคมที่เป็นมุสลิมมากนัก และยอมรับว่ายังไม่ได้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้

พอสักช่วง  ม.3 พี่สาวเริ่มเข้ามหาวิทยาลัย และมีการเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยการหันมาคลุมฮิญาบ  ซึ่งตอนนั้นตัวเราเองก็ยังไม่ได้คิดว่าจะคลุมหรืออะไร

จนมาถึงช่วง ม.6 เรามีระยะเวลาปิดเทอม 6 เดือน ซึ่งเราได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองมากได้ทบทวนตัวเอง  โดยปกตินิสัยส่วนตัวเป็นคนชอบตั้งคำถาม ชอบคุยกับตัวเอง ณ ช่วงเวลานั้นสำหรับชีวิตเด็ก ม.ปลาย ที่เพิ่งเรียนจบคนหนึ่ง เป้าหมายคือการสอบเข้ามหาวิทยาลัย  สอบเข้าคณะโน้นคณะนี้ พอเราทำเป้าหมายได้สำเร็จก็เกิดคำถามอีกว่าจะเอายังไงกับชีวิตต่อ เราจะใช้ชีวิตอย่างไรในมหาวิทยาลัย และยังสองจิตสองใจเกี่ยวกับเรื่องการคลุมฮิญาบ แต่ช่วงนั้นจำได้ว่าเราจะขอกับอัลลอฮฺเสมอ ขอให้ได้มหาวิทยาลัยที่เหมาะกับตัวเอง และเป็นที่ที่เราจะได้เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น อัลฮัมดุลิลลาฮฺ สุดท้ายอัลลอฮฺก็เลือกสิ่งที่เหมาะสมให้กับเรา และทำให้เราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างที่เราตั้งใจ

 

พี่สาวที่รัก จุดเริ่มต้นหลักของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

ก่อนเปิดเทอมเรียกได้ว่ามีเวลาว่างมาก ๆ โดยปกติเราเป็นคนชอบอ่านหนังสือ อ่านหลายประเภทเลย อ่านได้ทุกแนว รวมถึงหนังสือศาสนาด้วย ก็จะอ่าน ๆๆ  มีอยู่วันหนึ่งพี่สาว ยื่นหนังสือมาให้เล่มนึง หนังสือเล่มนั้นชื่อว่า “มากกว่าผ้าคลุมผม” แล้วมีโน๊ตแนบมาเล็ก ๆ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกจุดเริ่มต้นหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงของเรา

ฉันรักเธอนะ 

เราอาจไม่ค่อยหวานๆ กันสักเท่าไร มีเล่นหัวเล่นหางกันบ้าง ฉันไม่เคยโกรธเธอนานๆ เลย เพราะฉันรักเธอ และไม่ใช่แค่ในโลกนี้ฉันขอต่ออัลลอฮฺให้เธอไม่ใช่แค่พี่น้องของฉันในโลกนี้เท่านั้น แต่ฉันยังอยากให้เราเป็นพี่น้องกัน อยากเจอ อยากอยู่ด้วยกันอีกครั้งในสวรรค์ อินชาอัลลอฮฺ

ฉันไม่รู้จะพูดกับเธออย่างไร แต่ฉันพยายามเขียนมันให้อ่อนโยนกับหัวใจเธอที่สุด ฉันเองก็กลัว กลัวว่าเธอจะกลัวหรือเครียด เวลาที่ตักเตือนเธอเรื่องศาสนา หากจะเปรียบตัวฉันคงเป็นเหมือนกระดาษทราย ที่ทั้งดำและหยาบ แต่ฉันมีความหวังที่จะให้สิ่งที่ฉันขัดมันด้วยความรัก รวมทั้งตัวฉันเองเกลี้ยงเกลาขึ้นมา อินชาอัลลอฮฺ เธออาจกังวลกับการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้อยากให้เธอลองเก็บไปคิดดู มากกว่าผ้าคลุมผมคืออะไร?

ขอบคุณที่อ่านจนจบ

พี่สาวที่เห็นโลกก่อนเธอ 3 ปี

หลังจากได้รับข้อความนี้แล้ว จากการที่เราสองจิตสองใจว่าจะคลุมดีไม่คลุมดี คนเรามันเหมือน มีจุดสีขาวในจุดสีดำ เหมือนเขามาขยายจุดสีขาวของเราให้มันกว้างขึ้น ทำแบบนี้แหละดี ก็เลยเริ่มที่จะกล้าลองเปลี่ยนแปลงตัวเองดู ก่อนจะตัดสินใจคลุมแน่นอนเราได้บอกกับพี่สาวเป็นคนแรก และแน่นอนอีกว่าเขาต้องรู้สึกดีใจและรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง มีสอนเราคลุมผ้าคลุมผม  เป็นความรู้สึกดีที่มีพี่คอยแนะนำ พอเราทั้งคู่เริ่มคลุมฮิญาบสิ่งที่ตามมาคือ แม่ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย กลายเป็นปัจจุบันเราก็คลุมฮิญาบกันทั้งบ้าน อัลฮัมดุลิลลาฮฺ

ฮิญาบครั้งแรก

การคลุมฮิญาบครั้งแรกก็เริ่มต้นในช่วงเวลาปิดเทอมนั่นแหละ ถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของเราก่อนเข้ามหาวิทยาลัย จากแต่ก่อนที่บ้านไม่มีใครคลุมเลย เริ่มต้นจากพี่สาว เรา และแม่  ในช่วงแรกของการคลุมเราก็ลอง ๆ คลุมออกไปเที่ยวเวลาไปข้างนอกกับครอบครัว บอกตามตรงว่ารู้สึกเขิน ๆ ไม่ชิน มันจะมีความรู้สึกกังวลว่าคนอื่นเขาจะมองเราว่ายังไง ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีใครรู้หรอกว่าเราเพิ่งคลุมฮิญาบ แต่กลับกลายเป็นตัวเราที่สร้างกรอบให้ตัวเองว่าคนอื่นเขาจะคิดกับเรายังไง ในเมื่อตัดสินใจแล้วเราไม่จำเป็นต้องแคร์สายตาคนอื่น มันคือตัวเราที่เราเลือกแบบนี้ และสิ่งที่เราทำก็ทำตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ

ปรับตัวอีกครั้งเมื่อต้องเป็นฮิญาบผืนแรกของคณะ

พอเปิดเทอมเราเป็นเฟรชชี่ สิ่งหนึ่งที่ต้องรับมือคือการเปลี่ยนแปลงทั้งสถานที่ สังคม และกลุ่มเพื่อน แต่สำหรับเราอาจมากกว่าคนอื่นนิดนึง คือเราได้เปลี่ยนยูนิฟอร์มเป็นชุดนักศึกษามุสลิม และเป็นที่สนใจและสร้างคำถามให้กับเพื่อน ๆ ในคณะอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง มีอยู่ช่วงหนึ่งยังแอบคิดเลยว่า เราเกิดมาเพื่อตอบคำถามหรือเปล่า(หัวเราะ) เพราะคณะที่เรียนเป็นคณะที่เพิ่งเปิดใหม่ เราเป็นรุ่นที่ 4 และเป็นมุสลิมะห์ที่คลุมฮิญาบคนแรก

แน่นอนสิ่งที่เราจะทำทั้งพฤติกรรมและการใช้ชีวิตนอกจากมีฮิญาบที่เป็นตัวแทนของสัญลักษณ์ความเป็นมุสลิมแล้ว ต้องคิดว่าสิ่งที่เราจะทำต่อไปนี้มันจะส่งผลต่อรุ่นน้อง ว่าอิสลามทำแบบนี้ได้นะ แบบนี้ไม่ได้นะ จะทำให้น้องๆ รุ่นต่อไปพูดได้เต็มปากว่า อิสลามทำอย่างนู้นไม่ได้นะ อย่างนี้ไม่ได้นะคือต้องยืดหยัดและหนักแน่นมาก ๆ ตอนแรกก็มีคำถามจากเพื่อนทั้งเพื่อนใหม่และเพื่อนเก่า เราก็อธิบายให้เขาเข้าใจ กลายเป็นว่าเพื่อนซึมซับวิถีชีวิตของเราไปด้วย บางทีจะจะเป็นคนเตือนเราในหลาย ๆ เรื่องด้วยซ้ำไป

 

หากมองย้อนกลับไป รู้สึกอย่างไรที่ได้คลุมฮิญาบ

จากคนที่ไม่เคยคลุมฮิญาบเลย สิ่งแรกที่รู้สึกและสัมผัสได้คือเรารู้สึกปลอดภัย และอุ่นใจเมื่อได้ทำสิ่งที่อัลลอฮพอใจ จากแต่ก่อนเคยเป็นคนครึ่ง ๆ กลาง ๆ มันก็เกิดความคิดว่าทำไมในเมื่อเราเกิดมาในร่มเงาของอิสลามทำไมเราถึงไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองและทำมันให้ดีที่สุด สำหรับความรู้สึกส่วนตัว เมื่อเราเกิดมาเป็นมุสลิมแล้วถ้าไม่คลุมผม รู้สึกว่าเรายังใช้ชีวิตความเป็นมุสลิมได้ไม่เต็มที่ เราจึงอยากทำหน้าที่ของความเป็นมุสลิมให้ดีที่สุด

 

การตัดสินใจคลุมฮิญาบนั้นยากไหม อุปสรรคในการคลุมฮิญาบคืออะไร

ทุกคนมีจุดเปลี่ยนแปลงที่อยากจะทำให้ตัวเองดีขึ้น ถ้าเราเริ่มคิดแล้วอยากให้ลงมือทำเลยเพราะการเปลี่ยนแปลงช่วงแรกมันจะยาก ยอมรับว่ายาก แต่เมื่อผ่านพ้นไปแล้วมันจะง่ายดายมากขึ้น เมื่อมองย้อนกลับมาเราจะรู้สึกว่าเราได้ผ่านจุดเริ่มต้นที่ยากที่สุดแล้วคือ จุดเริ่มต้นที่ตัวเราเอง เมื่อมองย้อนกลับไปในหลาย ๆ เรื่องที่ทำให้เราไม่กล้าที่จะเริ่มเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้เรากลัวการเปลี่ยนแปลง หากคิดดี ๆ จะรู้เลยว่าสุดท้ายแล้วอุปสรรคจริง ๆ ก็หนีไม่ไม่พ้น คำว่าหัวใจและความคิดของเราเองไม่ใช่ใครเลย

ฮิญาบคือการปกปิดที่ไม่ใช่การปกปิดแค่ร่างกาย แต่มันยังเหมือนสิ่งที่คลุมจิตใจเราไม่ให้เราออกนอกกรอบของอิสลาม ซึ่งมันก็มีข้อดีอยู่ในนั้น ผ้าผืนนี้มันหนัก หนัก ณ ที่นี้ไม่ใส่น้ำหนัก แต่เป็นความรับผิดชอบของเรา เพราะฮิญาบเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของมุสลิม และเราก็เป็นคนสวมใส่ ฮิญาบจึงเป็นเครื่องเตือนใจให้เราปฏิบัติและทำแต่สิ่งที่ดีงาม ไม่ว่าจะเป็นต่อหลักการของศาสนา หรือการปฏิบัติต่อมารยาทในสังคมที่เราอยู่

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Nada Khongthon