fbpx

อัชอะรีย์ เรืองปราชญ์ : เปลี่ยนมุสลิมไทย ด้วยการขับเคลื่อนปัจจุบัน

asharee

อ.อัชอะรีย์ เรืองปราชญ์ เป็นนักวิชาการอิสลามหหรือที่เราเรียกติดปากว่าโต๊ะครู คลุกคลีกับงานพัฒนาเยาวชนมาตลอดนับตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา จนกระทั่งจบการศึกษาด้านศาสนาจากปากีสถานก็ยังกลับมาทำงานประจำกับองค์กรระหว่างประเทศที่เน้นงานด้านเยาวชนอย่างสภายุวมุสลิมโลก สำนักงานประเทศไทย แถมยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของมูลนิธิศรัทธาชนเพื่อการศึกษาและเด็กกำพร้า องค์กรพัฒนาเอกชนมุสลิมที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดตลอดสิบปีที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากยอดบริจาคจากแรงศรัทธาที่พี่น้องมุสลิมมอบให้ในแต่ละปี

ปัจจุบัน อ.อัชอะรีย์ เรืองปราชญ์ เป็นเลขานุการมูลนิธิศรัทธาชนเพื่อการศึกษาและเด็กกำพร้า และยังรับหน้าที่ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมยาตีมทีวี สื่อสร้างสรรค์สังคมในเครือของมูลนิธิศรัทธาชนฯ อีกด้วย จากประสบการณ์การทำงานด้านพัฒนาเยาวชนและสังคมมาตลอดชีวิต บวกกับบทบาทสื่อสารมวลชนมุสลิมของ อ.อัชอะรีย์ ทัศนะสั้นๆของเขาที่มีต่อสังคมมุสลิมไทยจึงน่าสนใจไม่น้อย

พี่น้องทะเลาะกันเดี๋ยวก็ดีกัน  สิ่งที่จะพาเราก้าวข้ามไปได้คือ ความใจกว้าง การยอมรับและให้เกียรติคนที่มีความคิดแตกต่างจากเรา

คิดอย่างไรกับสภาพสังคมมุสลิมไทยในปัจจุบัน
มันก็เป็นไปตามสภาพของสังคมมนุษย์ ตกต่ำ เสื่อมถอย ความรู้ถูกยกกลับ คุณธรรมหดหาย แต่ความตั้งใจจริงจังของคนดีๆก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ความเข้มข้นมันเจือจางลง

 

อะไรคือปัญหาสำคัญที่สุดของสังคมมุสลิมไทยในปัจจุบัน แล้วเราจะก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้นไปได้อย่างไร
ปัญหาของมุสลิมไทยมีเยอะครับ การกระทบกระทั่ง ทะเลาะเบาะแว้ง เป็นเรื่องปกติ ตราบใดที่ไม่ใช่ปัญหาเชิงโครงสร้างก็อย่าไปซีเรียส พี่น้องทะเลาะกันเดี๋ยวก็ดีกัน  สิ่งที่จะพาเราก้าวข้ามไปได้คือ ความใจกว้าง การยอมรับและให้เกียรติคนที่มีความคิดแตกต่างจากเรา

 

อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมมุสลิมไทยในปัจจุบันยังคงจมอยู่กับความ ขัดแย้ง จนขยายตัวเป็นความแตกแยกแบบนี้
“ตะอัศศุบ” ครับ นี่พูดเลย ถ้าเราลดความตะอัศศุบลงบ้าง เราจะหล่อเลย แต่คนไทยเราถูกหล่อหลอมมาให้รักพวกรักพ้องไง ให้เป็นชาตินิยมไง เราจึงต้องใช้เวลาเยอะกว่าชาติอื่นๆในอาเซี่ยนหน่อย

 

ด้านหนึ่งสังคมมุสลิมไทยมีปัญหาขัดแย้งภายในกันอย่างหนักและอีรุงตุงนังกันในหลาย ประเด็น แต่อีกด้านหนึ่ง สังคมมุสลิมก็กำลังถูกตั้งคำถามจากสังคมต่างศาสนิก ถึงการเห็นแก่ตัว ห่วงแต่พวกพ้วง และดีแต่เรียกร้องสิทธิต่างๆนาๆ ในสถานการณ์เช่นนี้ มุสลิมไทยควรทำตัวอย่างไร
เราต้องเรียนรู้การดะอ์วะห์ด้วยการสร้างสะพานครับ ที่ผ่านมาเราดะอ์วะห์ด้วยการสร้างกำแพงเพราะเราต้องรักษาคนของเราไว้ แต่ปัจจุบันกำแพงมันเอาไม่อยู่ เราต้องเดินหน้าเข้าหาคนอื่น ทอดสะพานให้เค้าเข้ามาเชื่อมโยงกับเรา อย่ามองว่าการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นเป็นเรื่องอันตราย แต่มันคือโอกาส ยิ่งเราปิดตัวเองมากเท่าไหร่ เราก็จะแพ้ภัยตัวเอง

 

ในฐานะที่คลุกคลีกับเยาวชน ในสถานการณ์ปัจจุบัน เรายังฝากความหวังของสังคมมุสลิมไทยไว้กับเยาวชนคนหนุ่มสาวได้อยู่หรือไม่
ผมว่าในสังคมไทย เยาวชนมุสลิมเราถือว่ายังมีคุณภาพอยู่นะ ขอให้ผู้ใหญ่อย่าทำให้มีช่องว่าง ให้โอกาสพวกเขาแสดงศักยภาพ ตัวตายตัวแทน ต้องมีเตรียมไว้ ถ้าไม่ใช่พวกเขา แล้วจะเป็นใคร

เผยแพร่ครั้งแรกใน Halal Life Magazine ฉบับที่ 26

[bws_related_posts]
อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน