fbpx

Cape Malay ชุมชนมลายูบนแผ่นดินแอฟริกาใต้

‘Cape Malay’ คือชุมชนชาวมลายูที่อาศัยอยู่ในเมือง Cape Town ของแอฟริกาใต้ที่ร่ำรวยด้วยวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีทางศาสนา ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการหล่อหลอมประวัติศาสตร์และสร้างความหลากหลายให้กับเมือง Cape Town มาช้านาน

การเดินทางสำรวจทวีปแอฟริกาช่วงศตวรรษที่ 15 และการตั้งอาณานิคมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงศตวรรษที่ 16 ของเหล่านักล่าอาณานิคมยุโรปทำให้ชาวแอฟริกันและเอเชียต้องตกเป็นแรงงานทาสนับล้านชีวิต  ประเทศมหาอำนาจในยุโรปใช้กลยุทธ์การแบ่งแยกและปกครอง การใช้กำลังทหารในการปราบปรามการต่อต้านของชนชาวพื้นเมือง จนในที่สุดชาวยุโรปก็สามารถกุมอำนาจการครอบครองในเขตพื้นที่สองทวีปนี้ได้ทั้งหมด

สาเหตุหลักของการขยายอาณานิคมมายังทวีปแอฟริกาและเอเชียในครั้งนั้นคือการขยายช่องทางการค้าและเพื่อสำรวจหาตลาดแหล่งใหม่ จึงส่งผลให้เกิดความจำเป็นในการพึ่งพาชนชั้นแรงงานเพื่อให้การค้ายังคงดำรงอยู่ต่อไป การซื้อขายแรงงานทาสข้ามชาติจึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามมา จนทำให้เกิดการอพยพแบบยอมจำนนของชนชาวแอฟริกันและเอเชียไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก ดังเช่นกรณีทวีปแอฟริกาเองก็มีการกล่าวกันว่าเกิดอัตราการส่งออกแรงงานทาสมากถึง 20 ล้านคนภายในระยะเวลาเพียง 3 ศตวรรษเพื่อตอบสนองความต้องการด้านตลาดแรงงานของชาวอเมริกัน

 

แรงงานทาสในเมือง Cape Town

แม้ว่าการค้าแรงงานทาสจะเป็นที่แพร่หลายในแถบชายฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแอฟริกา แต่สำหรับพื้นที่ส่วนใหญ่ในแอฟริกาใต้กลับไม่มีสิ่งเหล่านี้ให้เห็นเท่าใดนัก จนกระทั่งเมื่อพ่อค้าชาวดัตช์กลุ่ม VOC (หรือกลุ่มบริษัท Dutch East India Company) มาก่อร่างสร้างตัวขึ้นในเมือง Cape Town ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป

ชาวดัตช์เดินทางมาตั้งรกรากที่เมือง Cape of Good Hope ตั้งแต่ปี 1652 เมื่อ Jan van Riebeeck ต้องการจะเปิดจุดค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าให้กับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่สัญจรไปมาผ่านเส้นทางยุโรป-อินเดียตะวันออก ในขณะนั้นทางการได้มอบที่ดินทำกินให้แก่ชาวดัตช์ท้องถิ่นและมอบหมายให้พวกเขารับหน้าที่ผลิตเสบียงอาหารเพื่อรองรับความต้องการของเหล่าลูกเรือ VOC ที่เข้ามาเทียบท่าเรือ และด้วยความที่ต้องการกำลังผลิตเพิ่มเติมชาวดัตช์ท้องถิ่นหรือที่มีฉายาเรียกกันว่ากลุ่ม “แจกเบอเกอร์ฟรี” เหล่านี้จึงเรียกร้องให้มีการนำเข้าแรงงานราคาถูกเพื่อช่วยรองรับในการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น  กลุ่ม VOC จึงใช้โอกาสนี้ในการนำเข้าผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากอินเดียตะวันออกมาเป็นแรงงานทาสให้กับเมืองอาณานิคมแห่งนี้เป็นต้นมา

ชาวดัตช์ VOC ที่ได้ยึดครองพื้นที่บางส่วนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และนิยมการใช้แรงงานทาสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ได้แนะนำระบบดังกล่าวให้กับผู้ปกครองเมือง Cape Town ซึ่งในขณะนั้นใครก็ตามที่ต่อต้านการล่าอาณานิคมและการครอบครองอาณาเขตของชาวดัตช์จะถูกจับมาเป็นเชลยศึกทางการเมืองและถูกเนรเทศส่งไปที่เมือง Cape of Good Hope ในฐานะกรรมกรทาสเป็นลำดับขั้นไป แรงงานทาสกลุ่มแรกที่มาถึงในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 17 คือกลุ่มชาวแอฟริกาที่ถูกชาวดัตช์จับตัวเป็นเชลยในขณะกำลังเดินทางด้วยเรือโปรตุเกสไปยังประเทศบราซิล และที่เหลือส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นแรงงานทาสที่มีการนำเข้ามาทีละน้อยจากประเทศในแถบเอเชีย เป็นที่น่าสนใจว่าโดยส่วนใหญ่แล้วเชลยที่จับกุมมาได้นั้นเป็นชาวมุสลิมที่ถูกจับมาเป็นผู้ลี้ภัยและถูกเนรเทศให้ออกนอกประเทศ เช่นจากมาดากัสการ์ อินเดีย ซีลอน และอินโดนีเซีย  นอกจากนี้ยังมีผู้อพยพเข้ามาจากประเทศอื่นๆ ได้แก่ประเทศฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเก๊า มะละกา อินเดียตะวันตก บราซิลและนิวกินี

การถือกำเนิดของการอพยพนี้สามารถย้อนรอยกลับไปเมื่อต้นศตวรรษที่ 16 เมื่ออาณาจักรมัชปาหิตแห่งอินโดนีเซียเริ่มมาถึงจุดอวสาน การแผ่ขยายอิทธิพลของทหารยุโรปและการข่มเหงรังแกของกลุ่มต่อต้านอิสลามทำให้เกิดแรงต่อต้านขึ้น  ที่ท้ายสุดแล้วถูกจำกัดอย่างศิโรราบโดยเจ้าหน้าที่ดัตช์ในที่สุด ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลดัตช์ต้องถูกเนรเทศให้ไปอยู่ในเมือง Cape of Good Hope ของแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นดินแดนอาณานิคมของชาวดัตช์เช่นกัน เชลยบางรายถูกจับกุมมาจากเรือล่าอาณานิคมของอังกฤษ ฝรั่งเศส และโปรตุเกส หนึ่งในกลุ่มเชลยที่จับมาได้นั้นคือบรรดาข้าราชการเชื้อสายมลายูที่คอยรับใช้เจ้าหน้าที่ดัตช์ ซึ่งถูกจับกุมขณะกำลังเดินทางจากฝั่งตะวันออกไปประเทศเนเธอแลนด์ ในขณะที่ผู้อพยพชาวแอฟริกันส่วนใหญ่มาจากแอฟริกาตะวันออก มาดากัสการ์ และแอฟริกาตะวันตก โดยส่วนใหญ่แล้วเชลยพวกนี้มักเป็นช่างฝีมือชำนาญการเช่น ช่างเงิน ช่างทำหมวกสตรี ช่างซ่อมรองเท้า นักร้อง ช่างก่ออิฐ และช่างตัดเย็บ เชลยเหล่านี้จึงเป็นกลุ่มชนที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นชาว “Cape Malay” ทั้งสิ้นแม้ว่าจะมาจากต่างถิ่นต่างทวีปตั้งแต่แอฟริกาตะวันออกไปจนถึงเอเชียก็ตาม

บุรุษผู้กล้าแห่งแดนมลายู

หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่เป็นที่เลื่องลือในการต่อต้านรัฐบาลดัตช์ไม่ให้ยึดครองอินเดียตะวันออกคือ Sheikh Yusuf al-taj alkhalwatial-Maqasari ซึ่งท่านเป็นปราชญ์ที่ได้รับการยอมรับว่าคือผู้เผยแพร่ศาสนาอิสลามคนแรกในแอฟริกาใต้ Sheikh Yusuf เกิดเมื่อปีค.ศ. 1626 ในหมู่เกาะ Celebes หรือหมู่เกาะสุลาเวสีในปัจจุบัน ท่านใช้ช่วงเวลาหลายปีของชีวิตร่ำเรียนภาษาอาหรับและศึกษาวิชาศาสนาและศาสตร์เก่าแก่จากเมืองมักกะฮ์ประเทศซาอุดีอาระเบีย และได้กลับมารับใช้สังคมในมาตุภูมิของตนที่เมืองแห่งหนึ่งในชวาตะวันตกด้วยการสอนวิชาศาสนา ต่อมาท่านได้ร่วมขบวนการกับสุลต่านอะเก็งเพื่อต่อต้านรัฐบาลดัตช์ที่ต้องการควบคุมระบอบปกครองแบบสุลต่านในอินเดียตะวันออก  จนกระทั่งในปีค.ศ. 1683 Sheikh Yusuf และชาวมุสลิมอีก 49 คนได้ถูกเนรเทศให้ออกจากดินแดนอินเดียตะวันออกและถูกส่งตัวไปยังเมือง Cape ในฐานะเชลยต่อไป

ด้วยเกรงว่า Sheikh Yusuf จะมีอิทธิพลทางความคิดต่อกลุ่มแรงงานทาสมุสลิม รัฐบาลดัตช์จึงส่งตัวท่านพร้อมครอบครัวและสาวกไปอยู่อาศัยที่ฟาร์ม Zandvliet ซึ่งเป็นถิ่นกันดารที่ตั้งห่างไกลจากตัวเมือง แต่การถูกส่งตัวให้ไปอยู่ในพื้นที่กันดารเช่นนั้นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความเป็นปึกแผ่นและเป็นหนึ่งเดียวของชาวมุสลิมภายใต้แกนนำของ Sheikh Yusuf แต่อย่างใด เมื่อท่านสามารถก่อตั้งชุมชนมุสลิมซึ่งเป็นฐานที่มั่นทางศาสนาแห่งแรกขึ้นมาได้สำเร็จ ฟาร์ม Zandvliet แห่งนั้นจึงกลายเป็นแหล่งรวมตัวของชาวมุสลิมและเป็นแหล่งชุมนุมของบรรดาแรงงานทาสที่หนีเอาชีวิตรอดออกมาได้ในยุคนั้น ปัจจุบันฟาร์มแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันดีในนามของ Macassar นั่นเอง และด้วยอิทธิพลของ Sheikh Yusuf และหลักคำสอนทางศาสนาที่ท่านได้เผยแพร่ในกลุ่มแรงงานทาส เมือง Cape จึงกลายเป็นหนึ่งในดินแดนที่ต่อต้านการล่าอาณานิคมแห่งแรกของ Cape Town นับแต่นั้นเป็นต้นมา

 

อัตลักษณ์ในความเป็นมลายู

โดยปกติแล้วคำว่ามลายูหรือมุสลิมแทบจะใช้แทนนิยามเดียวกันใน Cape Town นอกเสียจากว่าจะพิจารณากันอย่างจริงจังจึงจะพบว่า คำว่ามลายูถูกใช้เรียกกับกลุ่มชาวมลายูที่มีบรรพบุรุษเชื้อสายมลายูตะวันออกเสียมากกว่า นอกจากนี้ประเด็นอัตลักษณ์ยังคงเป็นข้อพิพาทในหมู่ชนแอฟริกาใต้ด้วยกัน โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยที่เป็นกลุ่มเล็กในสังคมที่ถูกทอดทิ้งและเอารัดเอาเปรียบจากชนกลุ่มใหญ่เรื่อยมา ช่วงที่มีการปกครองแบบแบ่งแยกผิวพันธุ์ในอดีตนั้นหลายฝ่ายต่างไม่เห็นด้วยกับนโยบายแบ่งเชื้อชาติของชนชาวผิวขาว จึงทำให้พวกเขาไม่เคยแสดงตัวตนว่าเป็นชาวแอฟริกาใต้เลยแต่อย่างใด

Photo by David Stanley on Flickr

District Six

เป็นย่านชุมชนที่มีประชากรมลายูอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นและเป็นแหล่งพำนักอาศัยของชนชั้นกรรมกรเสียส่วนใหญ่ เราจะเห็นลักษณะความเป็นอยู่ที่มีความหลากหลายตั้งแต่ครอบครัวที่อาศัยในบ้านเดี่ยวไปจนถึงห้องเดี่ยวที่มีสมาชิกในครอบครัวมากถึง 16 คนเลยก็มี  บ้านส่วนใหญ่จะมีห้องสุขาอยู่หลังบ้านและมีที่อาบน้ำเป็นแอ่งใหญ่ในห้องครัว เนื่องจากความแออัดของพื้นที่แห่งนี้จึงทำให้ชุมชนดังกล่าวกลายเป็นบริเวณสลัมไปโดยปริยาย แต่กระนั้นบรรยากาศโดยรวมก็ยังคงความครึกครื้นและอบอุ่นไว้ด้วยเพราะความรักใคร่ปรองดองของผู้คนในพื้นที่ที่อาศัยบริเวณนั้นมานานนับปี น่าเสียดายที่เวลาต่อมาในปี 1966 พื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ของ “ชนผิวขาว”เนื่องจากรัฐบาลมองเห็นว่าเขตชุมชนดังกล่าวตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ จึงทำให้ชาวมลายูส่วนใหญ่ต้องถูกสั่งย้ายให้ไปพำนักกับชนกลุ่มอื่นในย่านที่อยู่อาศัยอื่นแทน

 

ภาษา

ปัจจุบัน ‘Cape Malay’ กลายเป็นถิ่นพำนักของชาวมุสลิมท้องถิ่นและสามารถแบ่งแยกออกเป็นสองกลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มชาว Cape Malay ที่มีภาษาแอฟริกันเป็นภาษาพูด และกลุ่มชาวอินเดียที่มีภาษาอังกฤษในสไตล์ของตนเองเป็นภาษาในการสื่อสารกัน โดยภาษาอาหรับเป็นภาษาทางศาสนาสำหรับทั้งสองกลุ่ม

ภาษาแอฟริกันถือกำเนิดขึ้นจากการปรับประยุกต์ภาษาดัตช์ให้ง่ายขึ้นเพื่อเหมาะใช้ในการสื่อสารระหว่างแรงงานทาสกับเจ้าหน้าที่ชาวดัตช์ในสมัยก่อน กลุ่มมุสลิมที่มีการศึกษาคือชนกลุ่มแรกที่เขียนหนังสือเป็นภาษาแอฟริกันในยุคสมัยนั้น

ชาว Cape Malay จะสื่อสารกันเป็นภาษาแอฟริกันเสียส่วนใหญ่ แต่ก็ยังคงมีการใช้ภาษาอังกฤษหรือสำเนียงท้องถิ่นของทั้งสองภาษานี้บ้าง และแม้ว่าผู้คนใน Cape Malay จะไม่ใช้ภาษามลายูซึ่งเป็นภาษาของบรรพบุรุษมาแต่ก่อนกาล กระนั้นก็ยังมีการนำใช้คำศัพท์และวลีบางคำในภาษามลายูให้ได้ยินกันเรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน

วิถีชีวิตชาว Cape Malay

ชาว Cape Malay ใช้ชีวิตด้วยวิถีอิสลามผสานขนบธรรมเนียมประเพณีมลายู ในทุกคืนวันพฤหัสบดีชาวมลายูจะมีการจุดธูปเพื่อเตรียมตัวรับวันศุกร์ในรุ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมและการเฉลิมฉลองที่มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมผสานกับความเชื่อทางศาสนาเช่นการเฉลิมฉลองครบรอบวันคล้ายประสูติของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.)  คืนอิสรออฺและเมียะรอจ วันเฉลิมฉลองตรุษอีดิลฟิตรีและอีดิลอัฎฮา ฯลฯ

ร่องรอยแห่งอารายธรรมมลายูอันเก่าแก่ยังคงมีให้เห็นทั่วเมือง Cape Town ในปัจจุบัน ชุมชนมลายูใน Cape Malay ยังคงอนุรักษ์ไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นมลายูให้แก่ผืนแผ่นดินแม่อย่างแอฟริกาใต้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ด้วยสถาปัตยกรรม Cape Malay, อาหารพื้นเมือง (เช่น ข้าวต้ม ข้าวเหลือง ซาโมซ่า โรตี  ฯลฯ), ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า, มัสยิด, และความอบอุ่นจากมิตรไมตรีที่ชาวมลายูคอยหยิบยื่นเรื่อยมา เหล่านี้ยังคงเป็นเสน่ห์ที่ช่วยเพิ่มความน่าหลงใหลให้กับเมืองมาตุภูมิอย่างแอฟริกาใต้ตราบจนทุกวันนี้ จึงไม่แปลกใจหากเราจะเห็นภาพชาวมาเลเซียและอินโดนีเซียพากันหลั่งไหลเข้ามาเยี่ยมเยียนดินแดนแอฟริกาใต้ เพียงเพื่อให้ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับรอยต่อแห่งวัฒนธรรม ณ ดินแดนแห่งนั้นด้วยตัวเอง

แปลและเรียบเรียงโดย : Andalas Farr
ที่มา :   The Cape Malay

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Andalas Farr

คุณแม่ลูกสามผู้หลงใหลงานแปลภาษาเป็นชีวิตจิตใจ และรักงานเขียน งานสอนที่เชิญชวนสู่เส้นทางแห่งความดี ไม่ได้เป็นลูกครึ่งแต่รู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ชนิดเห็นประโยคแล้วสมองต้องประมวลภาษาโดยอัตโนมัติ Andalas จบการศึกษาระดับปริญาตรีและโทคณะมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับครอบครัว ลูก และตัวอักษร