fbpx

บาเรีย สุธิดา : มุสลิมะห์ที่ก้าวเดินตามฝันสู่การเป็นกราฟฟิกดีไซน์เนอร์

คงมีไม่กี่คนที่ค้นพบตัวตนของตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก รู้ว่าชอบอะไร ถนัดด้านไหน และอยากจะประกอบอาชีพใดในอนาคต วันนี้ Halal Life อยากชวนไปทำความความรู้จักกับ “บาเรีย สุธิดา พูนพาณิชย์” มุสลิมะห์ผู้กล้าเดินตามความฝันการเป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์พร้อมกับยืนหยัดในความเป็นมุสลิมของตัวเอง เธอนำความเป็นอิสลามถ่ายทอดลงในผลงานจนได้รับการยอมรับและมีรางวัลเป็นเครื่องการันตี

“รู้จักโปรแกรมโฟโต้ช็อป จากการทำแฟนอาร์ตแจกตามบอร์ดแฟนคลับศิลปินค่ะ จากนั้นก็เริ่มไปฝังตัวอยู่ตามบอร์ดกราฟิก โดยทำพวกวอลเปเปอร์แจกไปเรื่อยๆ ตอนนั้นด้วยความที่เพิ่งเริ่มก็ใช้แต่พวกบรัชง่ายๆ  อย่างบรัชใบไม้อะไรแบบนี้ ตอนนี้เวลาเปิดดูงานเก่าๆ ก็แอบฮาตัวเองเหมือนกัน” บาเรียเล่าย้อนถึงวันแรกๆ ที่เธอเริ่มฝึกฝนและเรียนรู้ ก่อนจะกลายเป็นเส้นทางแห่งความฝัน

เด็กๆ ในสังคมปัจจุบันอาจเริ่มติวหนังสือกันตั้งแต่เนิ่นๆ ผู้ปกครองบางคนส่งลูกเรียนพิเศษตั้งแต่ชั้นประถม แต่สำหรับเธอคนนี้เพิ่งจะเริ่มฝึกฝนจริงจังเมื่อตอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เธอบอกว่ามันอาจจะช้ากว่าเพื่อนในสมัยนั้น แต่เธอมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ มันจะมีคำว่า Passion เข้ามา ทำให้เธอพัฒนาตัวเองได้เร็ว เธอสู้ไม่ถอยจนสามารถแอดมิชชั่นได้สำเร็จ ในสาขาออกแบบสื่อสาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

“การออกแบบคือการสร้างคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ให้มีคุณค่ามากขึ้น มันทำให้ชีวิตความเป็นอยู่นั้นง่ายขึ้น เรามองศิลปะเหมือนวิทยาศาสตร์นะ มันอยู่รอบตัวเราในชีวิตประจำวัน มันคือศาสตร์ที่วิ่งขนานกันไป ศิลปะต้องการวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ก็ต้องการศิลปะ บางคนมองว่าศิลปะไม่สำคัญ แต่ใครจะไปรู้ว่าศิลปะนั้นจรรโลงใจมนุษย์  บางคนอาจจะไม่รู้ตัวเลยก็ได้ว่าในชีวิตประจำวันของเค้าอยู่กับศิลปะมาตลอด”

เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 4 เธอได้ทำธีสิสหรือโปรเจคก่อนจบการศึกษา และหัวข้อที่เธอตั้งใจทำออกมาคือ “ โครงการออกแบบหนังสือปฏิสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับอิสลาม”  โดยเธอเล่าที่มาที่ไปของโปรเจคนี้ให้ฟังว่า

“อย่างแรกเลย ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าภาพลักษณ์ของอิสลามนั้นติดลบ จากการที่ชื่อของอิสลามเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อการร้ายต่างๆ และที่สื่อนำเสนอทำให้ภาพลักษณ์ศาสนาติดลบในจิตใจของผู้ที่ได้รับข่าวสาร จนเกิดโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Islamophobia ขึ้น

                สอง ในชีวิตประจำวันเรามักถูกตั้งคำถามและข้อสงสัยต่างๆ จากเพื่อนรอบตัวเราที่อยากรู้เกี่ยวกับอิสลาม และยังมีคนอีกมากที่ไม่กล้าถาม เราเลยคิดว่าการนำเสนอข้อมูลที่เขาอยากรู้เป็นเรื่องที่น่าสนใจและสามารถตอบคำถามในข้อสงสัยของเขาได้

                และสุดท้าย เมื่อพูดถึงเรื่องราวของศาสนา คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าต้องเป็นหนังสือวิชาการ ซึ่งมีรูปแบบที่ไม่น่าสนใจและดูน่าเบื่อ ทำให้กลุ่มเป้าหมายไม่เข้ามาหยิบไปศึกษา ทำให้เรื่องศาสนากลายเป็นเรื่องไกลตัวเข้าไปอีก”

เธอจึงตัดสินใจทำธีสิสเกี่ยวกับการให้ความรู้เรื่องอิสลามขึ้นมา โดยการนำเสนอออกมาในธีม Moroccan และเพิ่มเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) เข้าไป เพื่อให้หนังสือเกี่ยวกับศาสนาที่เคยเป็นหนังสือวิชาการน่าเบื่อ กลายเป็นหนังสือที่น่าตื่นเต้น เธออยากทำให้การศึกษาศาสนากลายเป็นเรื่องสนุกและใกล้ตัวมากขึ้น ซึ่งหลังจากที่งานเธอได้แสดงไป ก็ได้การตอบรับที่ดี ทั้งจากคนไทยและคนต่างชาติ

จากนั้นเธอมีโอกาสได้ส่งผลงานนี้ไปประกวดในงาน Degree Show 2016 ซึ่งเธอเชื่อว่าถ้าเอาหนังสือเล่มนี้ออกไปสู่สาธารณะชนมากขึ้น ก็จะเป็นเป็นอีกหนทางที่สามารถทำให้ผู้คนเข้าใจอิสลามได้มากขึ้น และเธอก็ได้รางวัล Best of Graphic Design กลับมา นับเป็นก้าวเล็กๆ ที่น่าภูมิใจของมุสลิมะห์คนหนึ่งที่มีโอกาสได้ขึ้นไปยืนบนเวทีของต่างศาสนิก และนำความเป็นอิสลามในอีกมุมไปบอกกล่าวให้คนวงกว้างได้รับรู้

เมื่อพูดถึงสังคมของนักออกแบบ เราจะนึกภาพของความอินดี้ ความอาร์ทติส หลายคนคงสงสัยว่า หากเป็นมุสลิม โดยเฉพาะมุสลิมะห์แล้วจะมีความเป็นอยู่อย่างไร เรื่องนี้เธอบอกกับเราว่า

“อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ตอนเรียนเราโชคดีที่เพื่อนๆ ใส่ใจ คอยถามเราว่าทำนี่ได้มั้ย กินนี่ได้มั้ย บางครั้งเพื่อนก็ดูแทนเราด้วยนะว่ามีฮาลาลหรือเปล่า มันเป็นเรื่องที่น่ารักมาก บางครั้งเพื่อนก็มีถามเกี่ยวกับศาสนา บางคำถามเรารู้เราก็ตอบ บางคำถามเราไม่แน่ใจมันเหมือนเป็นการทบทวนตัวเอง และหาคำตอบเพื่อไปบอกเพื่อน พอเรียนจบได้ไปใช้ชีวิตในสังคมของการทำงาน เราเลยไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก แต่เราต้องเปิดใจยอมรับในความคิดเห็นต่างๆ ที่เข้ามาด้วยนะ บางครั้งคนต่างศาสนานิกเขาไม่เข้าใจ เข้ามาถามเรามาด้วยอคติ เราต้องตอบกลับไปแบบไม่มีอคติ เพื่อที่จะลบอคติของเค้าออกไป เราคิดว่าเราได้รับความเมตตาจากอัลลอฮฺมาก ที่ได้ใช้ชีวิตในสังคมที่มีความแตกต่างเยอะๆ เพราะทุกคนรอบตัวเราเขาเปิดรับ แต่ตัวเราก็อย่าลืมที่จะเปิดใจด้วย”

นอกจากจะเป็นนักออกแบบที่สร้างสรรค์แล้ว เธอยังมีความคิดที่เปิดกว้าง จนท้ายที่สุด เธอก็ได้มายืนอยู่ในจุดที่ตั้งใจไว้ เธอฝากข้อคิดเล็กๆ เกี่ยวกับความฝัน ให้กับคนที่กำลังพยายามหรือท้อแท้

“ถ้ามีฝันก็ทำมันแค่นั้นเลย อย่าหยุดความฝันของตัวเองด้วยคำพูดของคนอื่น และคนเราไม่จำเป็นต้องมีแค่ความฝันเดียว เราอาจจะมีเป็นร้อยความฝันเพื่อให้ชีวิตมีเป้าหมาย แล้วเราค่อยมานั่งทำตามฝัน ทีละฝัน เบื่อฝันนี้ก็มาทำฝันนี้แก้เบื่อก็ได้นะ ความฝันไม่แพง แต่มูลค่ามันจะเพิ่มขึ้นเมื่อคุณลงมือทำ ส่วนคนที่ไม่มีฝันเราว่าไม่มีหรอก เราเชื่อว่าทุกคนมีฝันแต่แค่ยังหามันไม่เจอ ค่อยๆ ลองหา ค่อยๆ ลองทำ”

จากการทำแฟนอาร์ตและวอลเปเปอร์แจกตามบอร์ด ก้าวสู่กราฟฟิกดีไซน์เนอร์มืออาชีพ ทั้งหมดนี้มาจากการฝึกฝนและมุ่งมั่นลงมือทำ ที่สำคัญคือเธอไม่เคยลืมตัวตนของตัวเอง หวังว่าเรื่องราวของเธอจะเป็นการจุดประกายเล็กๆ ให้กับคนที่มีฝันได้ฝ่าฝันบนเส้นทางของตัวเองต่อไป

 

ติดตามผลงานและติดต่อเธอได้ที่
FB :
https://www.facebook.com/suthida.poonpanich
IG : Bariapoonn
E-mail : barea4862@gmail.com

 

เรื่องโดย : ณัฐญาดา สุขภิญโญ

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน