fbpx

ภาษา การเดินทาง และโลกกว้างของ อัยมี่ อัลอิดรุส

โลกกว้างแค่ตาเห็น ใครคนหนึ่งเคยพูดประโยคนี้เอาไว้ ประโยคสั้นๆ ที่ตีความได้หลายความหมาย ด้านหนึ่ง ประโยคนี้กำลังบอกเราอย่างตรงไปตรงมาว่า สุดท้ายเราแล้วโลกมันก็ไม่ได้มีอะไรมากกว่าที่เราเห็นหรอก ซึ่งจะว่าไปมันก็ไม่ผิดที่ใครบางคนจะเชื่อและยึดถือแบบนี้ แต่ในอีกหลายด้านกับอีกหลายคน กลับมองว่าสิ่งที่ประโยคสั้นๆ นี้กำลังบอกกับเราคือ หากต้องการรู้ว่าโลกนี้มีอะไรเราต้องออกไปมอง ออกไปพบ ออกไปสัมผัส แล้วเราจะรู้ถึงความกว้างที่แท้จริงของโลกใบนี้

หากเป็นเช่นนั้น เราคงจัด อัยมี่ อัลอิดรุส เป็นคนกลุ่มหลังที่เชื่อว่า คนเราต้องออกเดินทางหากอยากรู้ว่าโลกนั้นกว้างขวางแค่ไหน

อัยมี่ อัลอิดรุส เป็นมุสลิมะฮ์รุ่นใหม่ที่มีความรักในภาษาเป็นแรงขับให้ออกเดินทาง แต่สิ่งที่เธอได้รับและเรียนรู้จากการเดินทางไปศึกษาและใช้ชีวิตในต่างแดนนั้นกลับมากกว่าแค่ภาษาที่เธอตั้งเป้าหมายไว้ และจากบทสนทนาที่เกิดขึ้น เราอาจพูดได้ว่า โลกของเธอนั้นอาจกว้างกว่าที่ตาเห็นหลายเท่านัก

และนี่คือเรื่องราวของเธอ…

 

จุดเริ่มต้นการเดินทาง

ปัจจุบันอัยมี่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ที่คณะ English Philology มหาวิทยาลัย Vistula University กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ แต่ก่อนหน้านั้นเธอต้องผ่านบททดสอบในเรื่องการเรียนมาอย่างมากมาย

“หลังจบ ม.6 จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็สอบเข้าศึกษาต่อได้ที่ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ยังไม่ทันเรียนจบภาคการศึกษา ก็ได้รับทุนเต็มจำนวนจากรัฐบาลตุรกีเพื่อไปศึกษาต่อที่กรุงอิสตัลบูล ประเทศตุรกี ในสาขา International Relations ที่ Istanbul Ticaret University เป็นทุนที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทุกอย่าง”

แต่ขณะศึกษาอยู่ที่ตุรกี มีหลายเหตุการณ์ที่เป็นเหตุให้อัยมี่ต้องตัดสินใจอีกครั้ง “ตุรกีตอนนั้นมันความไม่สงบอยู่เป็็นเนืองๆ ทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัยที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้ ไม่ว่าจะจากกลุ่มก่อการร้ายในประเทศ รวมถึงกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ รวมถึงเหตุการณ์รัฐประหารที่เกิดขึ้น เราและเพื่อนต่างชาติอีกหลายคนจึงตัดสินใจย้ายที่เรียน และโปแลนด์ก็เป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับนักศึกษางบน้อยแบบเราๆ”

โปแลนด์เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดี มีค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพที่ไม่สูงมากนัก และที่สำคัญโปแลนด์อยู่ในกลุ่ม EU (European Union)  จึงทำเธอตัดสินใจย้ายมาที่นี่และเลือกเรียนในสาขาที่เธอชื่นชอบจริงๆ นั่นก็คือ English Philology เป็นการเรียนด้านภาษาอังกฤษโดยตรง ถ้าเปรียบเทียบกับในประเทศไทยก็จะคล้ายๆ กับอักษรศาสตร์ ภาษาอังกฤษนั่นเอง

ชีวิตในต่างแดน 

นอกจากเป็นนักเรียนนอกแล้ว อัยมี่ยังเป็นนักเดินทางตัวยง เธอชื่นชอบที่จะท่องเที่ยวพร้อมกับเรียนรู้วัฒนธรรมต่างถิ่นอยู่เสมอ และมันช่วยหล่อหลอมความคิดและเปลี่ยนมุมมองที่เธอมีต่อชีวิตและผู้คน

“การมาใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศทำให้เราได้เรียนรู้ที่จะวางแผนชีวิตและรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่แน่นอนได้ดีขึ้น ก่อนหน้าที่จะย้ายมาเรียนที่โปแลนด์ ตอนนั้นยังอยู่ในฐานะของนักเรียนทุนตุรกี ภาระหน้าที่เราจึงไม่หนักมาก เราแค่ทำหน้าที่ที่เราได้รับมอบหมายให้เต็มที่นั้นคือการตั้งใจเรียนหนังสือ  เราไม่ต้องหาที่อยู่ ดำเนินเอกสารยุ่งยากเท่ากับการที่มาอยู่ที่โปแลนด์ที่เราต้องใช้ทุนตัวเอง

แต่จุดร่วมที่ต้องรับมือเหมือนกันคือ ความเหงา ความโดดเดี่ยว และท้อแท้ในการที่ต้องอยู่ไกลบ้าน เราต้องคอยให้กำลังใจตัวเอง และปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ไม่ใช่แค่สังคมหรือผู้คน แต่รวมถึงสภาพอากาศที่แตกต่างอย่างสุดขั้วด้วย

การมาอยู่ต่างถิ่นแน่นอนว่าเราจะต้องปรับตัว ปรับความคิด และวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับบริบท ทำให้เราใจกว้างที่จะยอมรับความต่างและความหลากหลายของผู้คนในสังคมโลกมากขึ้น ทำให้เราเป็นคนที่ไม่ตัดสินคน ไม่พยายามหาถึงความถูกผิด และท้ายที่สุดคือ “เป็นกลางมากขึ้น” เพราะเราได้เรียนรู้ว่าในแต่ละสังคมมีมาตรฐานในการวัดเรื่องราวเหล่านี้ที่แตกต่างกัน เราเพียงแค่ต้องใจกว้างทั้งต่อตัวเราเองและผู้อื่น เข้าใจความเป็นเค้าเป็นเราในแบบความจริงที่เป็น และนี่แหละคือมุมมองที่ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในต่างแดน”

 

การปรับตัว

สำหรับเรา การปรับตัวไม่ได้หมายความว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราเป็น เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเดิมหรือความเชื่อที่เรามีอยู่เพื่อเป็นแบบเค้าหรือให้เข้ากับเค้าได้ แต่คือการที่เรามีจุดยืนในแบบของเรา และนำเสนอมันออกไปอย่างสร้างสรรค์และภูมิใจ

เหล่านี้จะนำไปสู่การเรียนรู้ในความหลากหลายในเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม และมันคือเสน่ห์อย่างมาก ที่ครั้งเมื่อเกิดการรวมตัวกันของเพื่อนต่างชาติ เราสังเกตเห็นว่าเพื่อนต่างชาติรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้เรียนรู้วัฒนธรรมแปลกใหม่ ซึ่งเราก็รู้สึกเช่นกัน

ฉะนั้นการปรับตัวที่แท้จริงคือการเปิดใจเรียนรู้ความแตกต่างตรงนี้ ในขณะเดียวกันก็อย่าลืมตัวตนของตัวเอง ว่าเราเป็นใครมาจากไหน จุดยืนเราเป็นอย่างไร

ฮิญาบ และคำถาม

ถึงแม้จะได้ไปศึกษาและใช้ชีวิตอยู่ในยุโรปดินแดนที่ขึ้นเรื่องความสมัยใหม่และความเสรี แต่อัยมี่ก็ยังคงเป็นมุสลิมะฮ์ที่เคร่งครัด และยึดมั่นในความเป็นมุสลิมอยู่เสมอ

“อย่างที่รู้กันว่า มุมมองต่อมุสลิมและศาสนาอิสลามค่อนข้างเป็นในเชิงลบทั่วโลกจากกระแส Islamophobia ผู้คนในต่างประเทศรวมถึงในยุโรปที่เราอาศัยอยู่ค่อนข้างจะให้ความสนใจเชิงสงสัย อาจจะมีหวาดระแวงบ้างเมื่อเห็นคนสวมใส่ฮิญาบ สิ่งที่เราทำมาโดยเสมอคือการยิ้มให้ด้วยกับหัวใจที่เต็มไปด้วยความรักและความจริงใจ เรารู้สึกดีใจที่ได้เป็นตัวแทนมุสลิมะฮฺในการนำเสนอความแตกต่างที่สวยงามนี้

อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ขอบคุณอัลลอฮ์ที่เราไม่เคยโดนว่ากล่าวด้วยคำพูดที่ไม่ดี มากสุดก็แค่มองตั้งแต่หัวจรดเท้า แต่ก็รู้สึกดีหากมีคนเข้ามาถามถึงเรื่องราวของศาสนา ซึ่งก็เกิดขึ้นอยู่พอประมาณเมื่อเดินทางไปพักตามโฮสเทล บทสนทนาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับศาสนามักจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ก็มีครั้งนึงที่คิดว่าพีคสุดสำหรับเรา คือตอนที่ยืนละหมาดในสนามบินที่ กรุงมอสโคว, ประเทศรัสเซีย ขณะละหมาดใกล้จะเสร็จในรอกะอัตสุดท้าย เจ้าหน้าที่ตำรวจในสนามบินก็เดินมาไล่ และพูดเป็นภาษารัสเซียน้ำเสียงแข็งกร้าวตามแบบฉบับโซเวียต ด้วยความที่เราไม่สามารถเข้าใจในภาษาก็ได้แต่เดาว่า เขาคงไม่อนุญาตให้ประกอบศาสนกิจ เป็นครั้งแรกที่เจอเลยทำตัวไม่ถูก ตัดสินใจละหมาดให้เสร็จ และขอโทษเขาเป็นภาษาอังกฤษ คุณเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำหน้าไม่พอใจ พร้อมกับโบกมือไล่เราให้ออกจากบริเวณดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นมุมที่ลับตาคนที่สุดแล้วในสนามบิน ก็เลยแปลกใจที่ยังโดน”

 

ศรัทธา และคำอธิบาย

“เราจะเป็นคนที่ไม่พยายามพูดเรื่องศาสนาขึ้นมาก่อน หากอยู่ท่ามกลางกลุ่มเพื่อนที่มีความหลากหลายทางความเชื่อ แต่จะเป็นคนที่แสดงออกและมีจุดยืนชัดเจน เพราะเรามองว่าหากอยู่ในบริบทที่มีความหลากหลายตรงนี้ การพูดในประเด็นศาสนาออกไปอาจจะทำให้คนที่รับฟังรู้สึกกระอักกระอ่วนและลำบากใจ และอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งได้ เราจึงใช้การกระทำเพื่อให้พวกเขาเกิดความสงสัย เช่นทำไมต้องละหมาด ทำไมต้องคลุมฮิญาบ ทำไมต้องถือศีลอดเป็นต้น เมื่อเกิดคำถามเหล่านี้เราก็จะสามารถอธิบายได้อย่างเต็มที่ และคนที่รับฟังก็จะรู้สึกเปิดใจ”

ภาษา ประตูสู่การเรียนรู้

หากเป็นคนที่อยากเดินทาง อยากเรียนรู้โลก อยากเข้าใจในวัฒนธรรมที่หลากหลายมากขึ้น อัยมี่มองว่าแค่ภาษาอังกฤษคงไม่เพียงพอ  เพราะแต่ละประเทศต่างก็มีภาษาเป็นของตัวเอง และการที่จะเข้าใจผู้คนและวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ได้มากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาษาที่ใช้เฉพาะของประเทศนั้นๆ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ตัวเธอเองจึงเลือกที่จะศึกษาภาษาอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย

“ตอนนี้เราเรียนรู้ทั้งหมด 5 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ ตุรกี ฝรั่งเศส และจีน แต่ถามว่า ที่คล่องจริงๆ ก็คงเป็นไทย อังกฤษ และตุรกี นอกนั้นคือกำลังพยายามฝึกฝนเรียนรู้อยู่ และค้นพบว่าการเรียนรู้หลายภาษาช่วยในการออกเสียงและจดจำภาษาต่อไปที่เรียน เป็นการต่อยอดในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจุดประสงค์ไม่ได้มีอะไรมากมายไปกว่าความชอบและความฝันที่อยากจะเป็น Polyglot แปลเป็นไทยคือคนที่สื่อสารได้หลายภาษา”

การฝึกฝนภาษาเป็นทักษะที่อาศัยระยะเวล อย่าเริ่มต้นจากความคิดที่ว่า ภาษาเป็นเรื่องยาก หรือ เราไม่เก่งพอ เราทำไม่ได้ แต่ให้มองว่า เราแค่ยังฝึกฝนไม่มากพอ และเราจะเก่งขึ้นได้แน่ๆ แค่เราตั้งใจ  ไม่ปฎิเสธว่ามันยาก เพราะมันเป็นทักษะที่ไม่ง่ายหากไม่ได้ฝึกฝนมาตั้งแต่เด็กๆ แต่อยากให้พยายามตั้งเป้าหมายเป็นระยะๆ จากเล็กไปใหญ่เป็นช่วงๆ อย่าพึ่งมองไปยังเป้าหมายที่ใหญ่เกินไป ไม่อย่างนั้นเราจะท้อและล้มเลิกกลางคัน

สำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์หรือคนที่อยู่ระดับเริ่มต้น อาจจะตั้งเป้าหมายไม่ใหญ่จนเกินไป เช่น สามารถอ่านนิทานเด็กได้อย่างเข้าใจ ทั้งโครงสร้างประโยคและคำศัพท์ หรือสื่อสารกับชาวต่างชาติเบื้องต้นได้ อย่างน้อยๆ คือฟังรู้เรื่อง เป็นต้น

นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญคือ ควรพยายามเรียนรู้อย่างสนุก หาสื่อที่ทำให้เรารู้สึกเพลิดเพลินในการเรียน พยายามปรับความคิดให้เรารู้สึกว่าภาษาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต เอาตัวเราเข้าไปคลุกคลีกับเค้า ไม่ว่าจะโดยรูปแบบ Passive อย่างการฟังสื่อต่างๆ ที่เป็นภาษานั้นๆ  และพยายามฝึกเรียนรู้แบบ Active นั่นคือพยายามฝึกพูดถ่ายทอดออดมา ไม่ว่าจะโดยอัดวิดีโอไดอารี่ก็ดี หรือที่ดีกว่าคือหาเพื่อนต่างชาติเพื่อพูดคุยสนทนาแบบ Real Life Situation

ทั้งนี้ทั้งนั้นเลเวลและจุดประสงค์ของการเรียนรู้ภาษามีหลากหลายระดับมาก เราควรเข้าใจจุดประสงค์ของการเรียนรู้ภาษาของตัวเราเองให้ได้ตั้งแต่แรก เช่น ฝึกฝนเพื่อใช้สื่อสารเบื้องต้น หรือฝึกฝนเพื่อการสอบ เป็นต้น เพื่อที่จะเข้าใจรูปแบบและวิธีการฝึกฝนในลำดับต่อไป ฝึกไปเรื่อยๆ แล้วแต่ความถนัด ไม่ต้องยัดเยียดให้กับตัวเองจนเกินความพอดี และทุกคนจะได้เข้าใจว่าเราไม่ได้เรียนรู้แค่ภาษา แต่เรากลับได้เรียนรู้วัฒนธรรมอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย”

 

ความฝันและสิ่งที่อยากทำ 

“ความฝันที่เราตั้งไว้มักจะเปลี่ยนแปลงตลอด รวมถึงสิ่งที่อยากทำในอนาคตด้วย เช่นเมื่อตอนเด็ก มีความฝันที่อยากไปต่างประเทศมาก อยากเดินทางไปหลายประเทศ เลยบอกตัวเองว่าอาชีพที่จะทำให้เราได้เดินทางอย่างที่ฝันไว้คงต้องหนีไม่พ้นนักการทูต เลยมุ่งมั่นที่อยากจะเป็นนักการทูตมาก จนพอโตขึ้นมีโอกาสได้เดินทางไปยังที่ต่างๆ ในหลากหลายประเทศ ความฝันและความต้องการก็เริ่มเปลี่ยนไป เราอาจจะเป็นคนในยุค Gen Y ที่อยากมีอิสระ อยากทำงานโดยไม่ผูกมัดกับองค์กร

ตอนนี้ที่วางแผนไว้คือ อยากเริ่มสร้างแบรนด์ของตัวเอง เริ่มจากธุรกิจเล็กๆ เกี่ยวกับฮิญาบ และเครื่องแต่งกายมุสลิมะฮฺ ในสไตล์แบบ Minimal ที่เน้นความเรียบง่าย ในโทนสีที่สุภาพ นุ่มนวล ซึ่งต้องขอบคุณประสบการณ์ที่เคยอยู่ในประเทศตุรกี ทำให้มีโอกาสศึกษาเรื่องผ้า แฟชั่น และ เทรนด์การแต่งกายของมุสลิมะฮฺที่นั่น เลยเกิดไอเดียและแรงบันดาลใจที่อยากจะทำสิ่งนี้ โดยเลือกใช้ผ้าที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ และไลฟ์สไตล์ของคนในอาเซียนบ้านเรา

อีกเรื่องที่วางแผนอยากจะทำหลังเรียนจบคือ อยากเปิดสถาบันสอนภาษาอังกฤษ ในรูปแบบที่ทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจการเรียนภาษาจากมิติของธรรมชาติภาษาจริงๆ ไม่ใช่แค่ในตำราเรียนและผ่านการกดดันจากข้อสอบวัดผลต่างๆ”

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

Azlan

กองบรรณาธิการรุ่นเล็ก