fbpx

เรื่องราวบนดินแดนชมพูทวีป ของเด็กหนุ่มสะละฟีย์ที่มีพ่อเป็นอิควาน

ไม่ใช่เรื่องปกติอย่างแน่นอนที่มหาลัยอิสลามในอินเดียจะมีนักศึกษาจากประเทศอาหรับที่ร่ำรวยมาสมัครเข้าเรียน เพราะถนนทุกสายของนักเรียนศาสนาย่อมมุ่งสู่มักกะฮฺมะดีนะฮฺ

แต่ทว่าก็มีจนได้ บนความไม่ปกติของการสมัครเข้าเรียนนัดว่าของเด็กหนุ่มอาหรับคนนี้ ผมสนใจว่าทำไม

มันเป็นปีที่ผมเพิ่งเรียนจบแต่กลับบ้านไม่ได้ เพราะวิกฤติต้มยำกุ้งในปีนั้น ทำให้การซื้อเงินดอลลาร์ผันผวนจนคับแค้น จากที่ใช้เงิน 25 บาทซื้อ 1 ดอลลาร์ กลับกลายเป็นต้องใช้เงินเกือบ 50 บาท เพื่อให้ได้มา 1 ดอลลาร์ ผมจึงขออยู่ชั้นฮาฟิซไปพลางรอตั๋วเครื่องบินจากทางบ้าน

หลังจากมีความสนิทสนมเป็นเพื่อนกันผมถามเขาว่า ทำไมมาเรียนที่นี่ เขาว่า เขาไม่ได้อยากมาเรียนที่นี่ แต่พ่อของเขาบังคับให้มาใช้ชีวิตในอินเดียสักระยะหนึ่งเพื่อให้เกิด “ความเข้าใจชีวิต” ซึ่งเขาบอกว่า พ่อของเขามีความคิดพิลึกพิลั่น แต่อย่างว่า พวกอิควานก็เป็นอย่างนี้แหละ และสำทับผมว่า คุณอย่าเป็นอิควานนะ พวกนี้หลง ผมจึงถามเขาว่า แล้วคุณเป็นอะไร เขาตอบ “อะนะ สะละฟียฺ”

ผมอยู่ว่างๆ จึงถือโอกาสฝึกภาษาอาหรับกับเขา ถือเป็นจังหวะที่ดี อยู่ๆ ก็มีเจ้าของภาษามานั่งถกเถียงกันทุกเรื่องจากมุมมองที่ผมแหย่เขาให้ประทุทางความคิด อันนอกเหนือไปจากประเด็นอิควาน-สะละฟียฺ ที่เขาดูจะโต้แบบเผ็ดร้อนมากกับประเด็นนี้ ในทุกเรื่องถ้าทุ่มเถียงแล้วเขาพ่ายแพ้ เขาจะบอกว่า “คุณรออะไร เรียนก็จบแล้ว กลับบ้านไปทำงานดะวะฮฺไป” ผมถอยออกจากห้องเขาแต่โดยดี และบอกเขาเป็นครั้งที่เท่าไรจำไม่ได้ “ผมรอตั๋วเครื่องบินไง ระหว่างนี้ขอเถียงกับคุณก่อน”

เขาคบง่าย ใจกว้าง เปิดเผย ร่างกายแข็งแรง กระฉับกระเฉง เขาเล่าว่า เคยติดทหารที่บ้านเขา และได้เงินเดือนๆ ละเกือบสองหมื่นสำหรับพลทหาร

ความที่ว่างๆ ช่วงก่อนมัฆริบ เรามักจะไปข้างนอกมหาลัย ช่วงถนนที่จะข้ามแม่น้ำกุมฏีชันพอสมควร จะมีวัดฮินดูหลายวัด วัดเจ้าแม่กาลี วัดหนุมาน มันเป็นช่วงการเดินทางที่ให้ความรู้สึกที่ยากจะบรรยาย แรกชอร์(สามล้อถีบรับจ้าง)ไม่สามารถปั่นขึ้นเนินสะพานได้ คนถีบต้องลงจากรถมาลากสามล้อด้วยแรงของสองขา ทำให้เราผ่านถนนหน้าวัดแบบใกล้ชิดและช้าๆ จึงได้เห็นวิถีของความเชื่ออีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะไม่มีที่ไหนเหมือนนอกจากดินแดนชมพูทวีป

ตั้งแต่หน้าวัดไปจนถึงตลาด “อะมีนาบาด” เราได้ประทับลงในความทรงจำด้วยภาพนักบวชชาวฮินดู สวมชุดสีแสด วาดสีเป็นลวดลายทางความเชื่อบนใบหน้า และบางคนถือหอกสามง่ามยืนมองพวกเราด้วยความสนใจ บางครั้งก็เห็นผู้คนที่ยากไร้ ปลูกบ้านริมถนนด้วยวัสดุที่พอจะกันแดดกันฝนได้ ภาพเด็กๆ ที่ผมกระเซิงเหนียวเป็นตังเมเก็บขี้วัวขี้ควายมาตากเพื่อนำไปทำเชื้อไฟในครัว ขอทานนั่งยองๆ ริมถนน พวกเขาดูเหมือนเป็นองค์ประกอบที่ต้องมีของตลาด คนขายของนำผักผลไม้มากองบนพื้นดิน เสนอขายด้วยเสียงอึกทึก ในมือมีตาชั่งแบบที่ถ้าพบในบ้านเราคงจะมีคนขอซื้อไปสะสมหรือเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ความรู้สึกบนเส้นทางนั้นเหมือนเราเห็นในหนังอินเดียนน่าโจนส์อะไรเทือกนั้น

หนึ่งในภาพชีวิตริมถนนวันนั้นคงจะมีผลต่อความรู้สึกเขามาก ผมได้ยินเขาพึมพำ “น่าสงสาร พวกเขาแร้นแค้นในดุนยา และต้องไปลำบากในอาคีเราะฮฺอีก”

ที่ดูจะทำให้เขาครุ่นคิดกับชีวิตจนกลายเป็นคนเงียบไปเลย ตอนขากลับมามหาลัยฯ เราแวะกระท่อมริมเขื่อนกั้นแม่น้ำกุมฏี เพื่อดับความสงสัยเสียทีว่าใครกันที่พักในนั้น ถึงเป็นเหตุให้แรกชอร์สามล้อรับจ้างมุสลิมแวะเวียนกันไปหาบ่อยๆ

กระท่อมมีฝาผนังเพียงสองด้าน มีกลิ่นฉุนของปัสสาวะ มีชายคนหนึ่งนอนอยู่บนเตียงเชือก และมีคนถีบสามล้อรับจ้างจากหมู่บ้านมุสลิมที่เราคุ้นเคยกำลังเปลี่ยนผ้าให้เขาอยู่ เราถามเขาว่า “อาป กอน แฮ้?”
เขาตอบว่า ผมเป็นฮาฟิซและกอรี สอนกุรอานให้กับลูกๆ ของสามล้อรับจ้างในหมู่บ้านมุสลิมที่ตั้งอยู่อีกฝั่งของเขื่อนนี้ เมื่อหลายเดือนที่แล้วผมเป็นอัมพฤกต์ ไม่สามารถเดินได้ พวกพ่อๆ ของนักเรียนผม เขามาสร้างกระท่อมไว้ริมถนนตรงนี้ เพื่อพวกเขาคนใดที่ถีบสามล้อผ่านมาทางนี้จะได้หยุดมาส่งอาหารและดูแลความสะอาดให้ผม

เราเงียบ ในใจผมคิด “โอ้ พี่ชายข้อสอบของท่านช่างยากเข็ญนัก ทั้งๆ ที่ท่านดีกว่าเราด้วยการจดจำคัมภีร์ทั้งหมด”

เขาพูดต่อว่า “พวกคุณไม่เชื่อผมใช่มั้ย ผมจำกุรอาน และผมเป็นกอรี ผมจะอ่านให้ฟัง”

แล้วเขาก็อ่านกุรอานประมาณห้านาที ด้วยเสียงที่ดังมาก แม้จะมีความไพเราะ แต่มันเศร้ามากกว่า

เราสองคนหยิบเงินที่มีทั้งหมดในกระเป๋าให้กอรีไปจนหมด

ตั้งแต่นั้นเพื่อนชาวอาหรับดูเศร้า เงียบขรึม ไม่โต้เถียงกับผมอีก

วันหนึ่ง เมื่อผมให้สลามเปิดประตูห้องของเขา ทันใดเขาได้ขว้างบางสิ่งใส่ผมโดยแรง ถึงเขาจะเคยเป็นทหาร แต่ผมก็เคยฝึกรด.(มาตั้งสามปี) ผมรับไว้ได้

มันเป็นก้อนธนบัตรดอลลาร์ที่ถูกขยำจำนวนหนึ่งที่มากจนซื้อตั๋วเครื่องบินให้ผมกลับบ้านได้อย่างสบายๆ

เขาว่า “คุณอย่าอยู่ที่นี่เลย รีบกลับไปทำงานดะวะฮฺที่บ้านคุณเถิด สำหรับเงินผมให้ ไม่ต้องขอบคุณ ไม่ต้องเกรงใจ ที่บ้านผมไม่ลำบากเรื่องนี้ ผมเสียใจเรื่องหนึ่ง ผมน่าจะเชื่อพ่อที่เขาบอกให้ผมเอาเงินมานี่เยอะๆ พ่อบอกว่าให้มาช่วยคนที่ลำบากกว่าเรา”

อีกสัปดาห์เขาก็รีบกลับบ้าน ราวกับเขาจบการศึกษาได้ปริญญาอย่างที่ตั้งใจแล้ว

ผมไปส่งเขาที่สนามบินเมืองลัคเนาว์

ฉากอำลาเขากอดผมแน่น ผมกอดพอเป็นพิธี ผมยังเขินอยู่เรื่องกอด เขาขอบคุณในความเป็นเพื่อน เขาว่า เขาได้อะไรเยอะจากชีวิตในอินเดีย ผมกระซิบบอกเขาว่า

“คุณรู้อะไรมั้ยเพื่อน ผมว่าครั้งนี้ อิควาน ชนะ สะละฟียฺ แล้วล่ะ”

เขาคลายมือที่กอดผม ผมคิดว่าเขาอาจจะโกรธที่ไปกระเซ้าประเด็นอ่อนไหว แต่เขากลับเอามือทั้งสองจับศรีษะผม และจูบหน้าผากผมเสียฟอดใหญ่ จากนั้นก็ก้มตัวลงคว้ากระเป๋าเดินทางหันหลังเดินจากไป

เรื่องโดย : อบู อนัส
ภาพจาก : © Jorge Royan via Wikimedia Commons

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน