fbpx

อาฎิล ศิริพัธนะ: ไม่เห็นจะเป็นไรเลย

memories-01-2

ขณะนี้ผมกำลังนั่งคิด ว่าทำไมผมจึงโตขึ้นมาโดยที่ไม่เคยกลัว หรือแสดงอาการรังเกียจ Polygamy (ครอบครัวแบบ หนึ่งพ่อ หลายแม่ หลายลูก) เลย ผมคิดว่าคำตอบแรกๆ ที่ผ่านเข้ามาในใจหลายๆ คนทันทีคือ “เพราะผมเกิดมาในครอบครัวแบบนี้” ซึ่งผมเองก็เกือบจะคล้อยตาม แต่พอหยุดคิดดีๆ ก็พบว่านั่นไม่ใช่คำตอบ ไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง

สาเหตุที่แท้จริงก็คือ “มันไม่มีสาเหตุ”

ใช่แล้วครับ มันไม่มีสาเหตุใดๆ ที่ผมจะเกลียดหรือจะชอบ Polygamy มันแค่เป็นแบบที่มันควรจะเป็นมันไม่สำคัญว่าผมจะคิดยังไงกับมัน

ความสงสัยนี้ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปตอนผมอายุประมาณสิบขวบ ตอนนั้นมีผู้หญิงอีกคนหนึ่งเข้ามาในชีวิต เธอเป็นแม่คนที่สอง เราเรียกเธอว่า “อุมมี” ผมไม่เคยจดจำว่า เจออุมมีครั้งแรกในฐานะแม่และภรรยาอีกคนของแดดดี้นั้นเป็นอย่างไร ที่ผมไม่จดจำ เพราะมันไม่ใช่อะไรที่น่าตื่นเต้นหรือน่าตื่นตระหนก จนถึงขั้นที่ผมต้องจำ

แต่ผมจำได้ว่า อุมมีเป็นหญิงสาวที่เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ เป็นคนที่มีความเมตตาต่อเด็กๆ ผมรู้ตัวอีกที อุมมีก็เป็นแม่ของผมไปแล้ว ในความรู้สึกที่ไม่ต่างไปจากแม่ผู้ให้กำเนิดผมเลย การมีอุมมีในชีวิตอีกคน ทำให้ผมได้มีโอกาสใหม่ๆ มากมายในการเรียนรู้ มันคือการมีที่แตกต่างจากแม่ผู้ให้กำเนิด มันเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้ผมเห็นความหลากหลาย และความงดงามที่แตกต่างของสตรี

ผมมักจะเข้าไปในตัวเมืองเป็นประจำเพื่อไปอยู่กับอุมมีช่วงสุดสัปดาห์ ที่นั่นผมได้ใกล้ชิดเครือญาติ และได้เล่นกับมูญาฮิด น้องชายที่แสนจะน่ารักทะเล้น มันเป็นช่วงแห่งความสุขอีกรูปแบบหนึ่ง จากครอบครัวที่เคยเป็นแค่ครอบครัววิชาการเล็กๆ สู่ครอบครัวขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยปฏิสัมพันธ์

แม่ผู้ให้กำเนิดของผม มักจะให้คำปรึกษากับบรรดาภรรยาในครอบครัว Polygamy ว่า “ให้อดทน และอย่าเอาอารมณ์ร้ายของตนเองไปสอนลูกๆ ให้รังเกียจพ่อเป็นอันขาด”

การเรื่มต้นครอบครัว Polygamy นั้น เต็มไปด้วยบททดสอบ ทั้งจากภายนอกและภายในครอบครัวเอง มีทั้งการยุแหย่ การถูกข่มขู่คุกคาม ความหึงหวง และการล่อลวงจากมารร้าย พร้อมๆ กับความสุขสมบูรณ์ที่เพิ่มขึ้น บางครั้งเต็มไปด้วยการถกเถียงทะเลาะเบาะแว้ง ในทรรศนะของช่วงนั้น ทั้งหมดช่างดูโง่เขลาเสียเหลือเกิน เพราะขณะที่ผมเอง ซึ่งเป็นอนาคตของครอบครัว ไม่เคยจะต่อว่าหรือโกรธเคืองอะไรเลยหากจะมีใครมาเพิ่มเข้ามาครอบครัว แต่ผู้ใหญ่ก็ยังมีเวลาทะเลาะกัน และผู้ใหญ่ข้างนอกก็ช่างนินทาและดูถูกวิถีชีวิตแบบนี้ ซึ่งเด็กอย่างผมมองว่า “ไม่เห็นจะเป็นไรเลย” ซะเหลือเกิน

ผมโตมาด้วยสภาพชีวิตแบบนั้น และยังรู้สึกกับมันเหมือนเดิมคือ “มันไม่เห็นจะเป็นไรเลย”

แม่ผู้ให้กำเนิดของผม มักจะให้คำปรึกษากับบรรดาภรรยาในครอบครัว Polygamy ว่า “ให้อดทน และอย่าเอาอารมณ์ร้ายของตนเองไปสอนลูกๆ ให้รังเกียจพ่อเป็นอันขาด” ท่านบอกว่า ท่านไม่เคยทำแบบนั้น ท่านจึงป้องกันไม่ให้ลูกๆ รังเกียจ Polygamy

นั่นเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบในคำถาม ว่าทำไมผมจึงสบายดีมากกับ Polygamy เสมอ อย่างไรก็ตาม นั่นยังไม่ใช่คำตอบมี่ดีที่สุด คำตอบที่แท้จริงก็คือ “จิตใจของเด็กคนหนึ่งที่ยังใส จะไม่สามารถถูกทำให้หม่นหมองลงได้เพียงเพราะเขาอยู่ในครอบครัว Polygamy เขาจะไม่ถูกทำให้เป็นผู้ยึดติดกับมนุษย์และขับเคลื่อนอารมณ์ด้วยความหึงหวง ในทางตรงกันข้าม เขาจะกลายเป็นมนุษย์ที่มีความอดทน ควบคุมตนเอง พร้อมจะอยู่ร่วมกับผู้ที่แตกต่าง และจะคิดถึงผู้อื่นก่อนเสมอ” สิ่งเหล่านี้เริ่มถูกพิสูจน์ให้เห็นชัด ในตัวของน้องๆ ตัวเล็กๆ ของผมซึ่งโตขึ้นทุกวัน

สุดท้าย ผมก็นึกขึ้นมาได้ว่า มีประสบการณ์ชิ้นหนึ่งในชีวิต ซึ่งช่วยทำให้ผมเข้าใจ Polygamy อย่างมาก อันนี้ต้องยกเครดิตให้แดดดี้

แดดดี้ ซึ่งปกติเป็นผู้ที่มีบุคลิกอ่อนนุ่มกับลูกๆ จะโกรธ และดุเราอย่างจริงจังทุกครั้งที่เราเปิดทีวีไปดูช่องละครน้ำเน่าต่างๆ ท่านจะพูดด้วยน้ำเสียงเจ็บปวดว่า “ลูกไม่มีอะไรสร้างสรรค์กว่านี้จะทำแล้วเหรอลูก?” ประโยคนี้ทำให้ผมสะเทือนใจ และตระหนักในธรรมชาติอันเน่าเฟะของสังคมไทย ซึ่งขับเคลื่อนจิตใจเยาวชนในชาติ ด้วยความเพ้อฝัน ความหึงหวง การยึดติด ความหลง และความเกลียดชัง ในขณะที่ชีวิตที่ดีนั้น จริงๆแล้วมาเพราะความเสียสละ และไม่ยึดว่าตนเองต้องได้สมใจอยาก เหมือนที่ครอบครัว Polygamy ของแดดดี้ สอนผมมาตลอด

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts

อาฎิล ศิริพัธนะ

เด็กหนุ่มชาวไทยจากนครศรีธรรมราช ไปร่ำเรียนปริญญาโทด้านวิศวกรรมอยู่ที่มหาวิทยาลัย King Abdullah University of Science and Technology ในซาอุดิอารเบีย ประเทศที่คนไทยมักคุ้นกับการร่ำเรียนด้านศาสนามากกว่าด้านวิทยาศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยมีมุสลิมจากหลายประเทศมาร่ำเรียน อาดิ้ลจึงได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทัศนคติจากเพื่อนนักศึกษาจากหลายชาติ ด้วยความที่เป็นคนช่างคิดช่างสงสัย อาดิ้ลจึงมักตั้งคำถามกับทุกสิ่งรอบตัว มุมมองที่เขาได้จากการตั้งคำถามท่ามกลางผู้คนมุสลิมหลากเชื้อชาติหลากภาษาจึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจตัวเองของมุสลิมในประเทศไทยอยู่ไม่น้อย