fbpx

อัลอัค : ความดีที่แตกต่าง…จุดเริ่มต้นการสมานฉันท์ในสังคม

ผมไม่ปฏิเสธคำกล่าวที่ว่า “ทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี” แต่ประเด็นที่ผมเห็นต่างออกไปก็คือ คำว่า “ดี” ในแต่ละศาสนาไม่เหมือนกันเสมอไป

การที่แนวคิดสมัยใหม่พยายามสร้างค่านิยมว่า ทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี โดยเพิกเฉยต่อการอธิบายต่อคำว่า “ดี” นั้นมีมุมมองที่แตกต่างกัน อาจคิดว่าสามารถทำให้คนไม่ทะเลาะกันในเรื่องศาสนาได้ มันอาจใช้ได้กับพวกที่วางศาสนาบนแนวคิด “เซคคิวลาร์” หรือการถือว่าศาสนาเป็นพึ่งทางใจของชีวิตส่วนตัว แต่มันไม่ได้ส่งผลอย่างที่คิดนี้ต่อศาสนิกที่ปฏิบัติตามศาสนาต่าง ๆ ได้เสมอไป เพราะแนวคิดนี้มีข้อบกพร่องอย่างน้อยสองประการ

ประการแรกศาสนิกที่ปฏิบัติตามศาสนาต่าง ๆ นั้น มักคิดว่าศาสนาที่ตัวถืออยู่ย่อมดีกว่าศาสนาอื่นเสมอ (ก็แน่ละถ้ามันก็งั้นๆเหมือนกัน แล้วเขาจะเลือกนับถือศาสนานั้นๆไปทำไมกัน) อีกทั้งตัวคำสอนของศาสนาทั้งหลายนั้นก็มัก “ฟันธง” อยู่เสมอว่า สิ่งที่เป็นความดีในเนื้อหาของศาสนานั้นเป็น “สัจธรรม” นั่นก็หมายความว่า มันเป็น “ความดี” ที่เหนือกว่าความดีในลัทธิอื่นๆ ฉะนั้น แนวคิดที่ว่าถูกขยายออกจากประโยคที่ว่า “ทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี” มาเป็น “ดี” เหมือน ๆ กันนั้น ขัดแย้งกับธรรมชาติของศาสนาทั้งหลาย

ประการที่สอง คำว่า “ทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี” มักจะนำไปสู่การละเมิดระหว่างศาสนาต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย อันเนื่องจากแนวคิดนี้ทำให้เผลอคิดไปว่าความดีของทุกศาสนาก็เหมือนศาสนาตัวเอง ทำให้เกิดการกำหนด “มาตรฐาน” ของความดี โดยใช้ศาสนาที่ตนนับถือเป็นที่ตั้ง แล้วนำไปสู่การละเมิดศาสนาอื่น ๆ ดังนั้น แทนที่จะสังคมที่วางอยู่บนแนวคิดนี้จะดำรงอยู่อย่างสมานฉันท์ กลับกลายเป็นสังคมที่ก้าวร้าวรุกรานกันตลอดเวลา

มีคนตั้งข้อสังเกตว่า สังคมมุสลิมในยุคแห่งความรุ่งโรจน์ ทั้งในแบกแดดและสเปน (อันดาลุส) คนที่นับถือศาสนาต่างไปจากมุสลิมสามารถดำรงอยู่อย่างอิสระ ไม่ใช่เพียงแค่สามารถปฏิบัติตามพิธีกรรมของพวกเขาได้เท่านั้น แต่ยังสามารถจัดระบอบกฎหมายของพวกเขา เพื่อใช้ในสังคมเล็กที่อยู่ท่ามกลางมุสลิมได้อีกด้วย

มีการตั้งคำถามว่า ทำไมอิสลามที่ถูกมองว่าเริ่มต้นการนำเสนอศาสนาด้วยการแสดงความเป็นสัจธรรม หรืออีกนัยหนึ่งย่อมตีความได้ในทางกลับกันว่า ศาสนาอื่นๆนั้นย่อมไม่ใช่สัจธรรม แต่กลับสามารถสร้างความสมานฉันท์ในสังคมได้ ดังนักประวัติศาสตร์เองก็รู้สึกฉงนที่ชาวยิวสามารถอยู่ในโลกมุสลิมได้อย่างสงบสุขในเมืองใหญ่ ๆ ของโลกมุสลิมในอดีตกาล

ผมคิดว่าแนวคิดที่มุสลิมรับมาจากอัลกุรอานถูกนำไปใช้กำหนดท่าทีที่มีต่อชนกลุ่มน้อยที่มิใช่มุสลิมหรือได้สร้างแบบของความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมกับผู้มิใช่มุสลิม เป็นแนวคิดที่ไม่ได้มาจากประโยคที่ว่า “ทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี”(แล้วความดีก็เหมือนๆกัน) แต่เป็นแนวคิดที่ว่า “ทุกศาสนาสอนความดีที่ต่างกัน” เพราะฉะนั้นแนวคิดที่ถูกขยายออกมาก็คือ “ศาสนาของพวกท่านก็คือของพวกท่าน ศาสนาของฉันก็คือของฉัน”(ความหมายจากอัลกุรอานจากซูเราะฮฺอัล-กาฟิรูน)

นั่นเป็นแนวคิดที่ให้คนต่างศาสนิกอาศัยอยู่ใน “มาตรฐาน” ของตน ทุกฝ่ายก็มิสิทธิคิดได้เต็มที่ว่า ความดีที่ตนยึดอยู่นั้นคือ “สัจธรรม” แต่เป็นสัจธรรมที่มีข้อตกลงร่วมกันว่า ต้องไม่ก้าวร้าวและไม่ละเมิดระหว่างกัน

การอยู่ร่วมกันแบบสมานฉันท์จึงต้องเริ่มจากแนวคิด “ทุกศาสนาสอนความดีที่ต่างกัน” และจะนำไปสู่การเรียนรู้ “ความต่างกัน” เพื่อให้คนแต่ละความเชื่อรู้จักขอบเขตในการปฏิบัติระหว่างกันได้อย่างเหมาะสม

 

ตัวอย่างความต่างกันที่ไปกันคนละเรื่องและเห็นได้ชัดก็คือ วัตถุรูปเคารพต่าง ๆ ที่ศาสนาทั้งหลายมักถือว่าการบูชาคือความดีชั้นสูง แต่อิสลามกลับถือว่าการบูชาวัตถุหรือสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากพระเจ้าที่แท้จริง แม้จะถูกประดิษฐ์ในนามอิสลามหรือเป็นบุคคลระดับศาสนทูตก็ตาม ถือว่าเป็นความเลวร้ายจนทำให้เขาคนนั้นไม่สามารถดำรงความเป็นมุสลิมอยู่ได้อีกต่อไป

เช่นเดียวกัน ความเชื่อเรื่องพระเจ้าก็เป็นสิ่งที่แต่ละศาสนามองต่างกัน ศาสนาหนึ่งมองว่าผู้ที่เชื่อพระเจ้าเป็นความหลง แต่อีกศาสนาหนึ่งกลับเชื่อพระเจ้าหลายองค์เป็นความดีงาม อีกศาสนาหนึ่งอาจเห็นว่าการเชื่อพระเจ้าที่อยู่ในรูปมนุษย์เป็นความเลวร้ายโดยแท้ และอีกศาสนาก็อาจมองการปฏิเสธพระเจ้าเป็นรากฐานของความชั่วร้ายของมนุษย์

เห็นได้ว่า การเชื่อพระเจ้าเพียงประเด็นเดียว ก็มีการมอง “ความดี” ที่แตกต่างกันไปคนละเรื่อง ชนิดที่ไม่อาจหาศาสนาใดที่สอดคล้องกับศาสนาใดได้ แม้แต่ศาสนาที่เชื่อพระเจ้าหนึ่งเดียว เช่น อิสลามกับคริสต์ ก็มีบทอภิปรายกันในเรื่องพระเจ้าที่เผ็ดร้อนไม่น้อย หรือศาสนาที่ไม่อ้างอิงถึงพระเจ้า เช่น พุทธกับเชน ก็มีการวิพากษ์ระหว่างกันตั้งแต่ในอดีตกาล แม้แต่แนวคิดที่ปฏิเสธพระเจ้าหลายสายในโลกตะวันตกก็ปฏิเสธในมุมมองที่ขัดแย้งกันไม่น้อย

ความแตกต่างในการให้ความหมายต่อ “ความดี” เหล่านี้ เป็นเรื่องปกติที่ต้องทำความเข้าใจกัน เพื่อให้รู้จักขอบเขตระหว่างกัน ต้องรู้จักอดกลั้นทางความเชื่อ รวมไปถึงกลุ่มเผยแพร่ศาสนาต่าง ๆ ก็ต้องคำนึงถึงขอบเขตเหล่านี้ และควรนำเสนอศาสนาของตนในเชิงของ “การสนทนาแลกเปลี่ยน” มากกว่าการก้าวร้าวที่เลยเถิด …

แม้แต่การวาดภาพการ์ตูนล้อเลียนท่านนบีมุฮัมมัดในปัจจุบัน ก็ถือว่าเป็นการจงใจละเลยความจริงที่ว่า “ทุกศาสนาสอนความดีที่ต่างกัน” เราจึงได้เห็นว่า พวกนักคิดตะวันตกพากัน “มึน” ว่าทำไมมุสลิมต้องมีปฏิกิริยาที่รุนแรงนัก ก็แค่วาดภาพล้อเลียนเท่านั้นเอง แต่เขาไม่ทราบความจริงว่าในอิสลามแค่วาดภาพปกติของศาสดาทั้งหลายก็ถือว่าเป็นความชั่วที่หนักที่สุดอย่างหนึ่งแล้ว

การให้เกียรติศาสดาของศาสนาหนึ่งอาจต้องนำภาพศาสดานั้น ๆ มาติดไว้ที่บ้านเพื่อบูชา แต่ในอิสลามหากทำเช่นนั้นเท่ากับเขาได้สูญเสียสภาพของความเป็นมุสลิมไปแล้ว … นี่คือ “ความดีที่ต่างกัน”

การวาดภาพล้อเลียนศาสดาของศาสนาต่าง ๆ อาจทำให้ขำขันสำหรับศาสนิกนั้น หรืออาจให้ทำให้คนที่เคร่งครัดรู้สึก “ฉุน” นิดหน่อย แต่ในอิสลามการทำเช่นนั้นมีความหมายเดียวกับการ “ย่ำยี”

ความรู้สึกของผู้คนที่แตกต่างกันในเรื่องความดีและสิ่งที่ตัวเองเคารพนี้เองที่อัลกุรอานไม่อนุญาตให้มีการ “ด่า” ว่าสิ่งเคารพของศาสนาอื่น ๆ แม้ในเนื้อหาของคำสอนอิสลามจะปฏิเสธสิ่งเคารพนั้นอย่างเด็ดขาดก็ตาม

ประเด็นการสมานฉันท์ในสังคมจึงไม่ใช่การหลอมละลายความดีทั้งหมดให้เป็นแบบเดียว แต่เป็นการยอมรับให้มีความต่างกันของความดี ซึ่งการยอมรับความต่างกันนี้มิได้หมายความว่า คนหนึ่งจะต้องสลายความเป็นสัจธรรมที่เขายึดถืออยู่ และมิได้หมายความว่า เขาจะเออออหอหมกไปกับความดีของศาสนาอื่น ๆ ด้วย

 

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน