fbpx

สมาน อู่งามสิน คนรัก(ของ)หนังสือ

Main-Halal-19-02

นิยามความรักของคุณคืออะไร คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อคนหรือสิ่งที่คุณรักและคุณจะมั่นคงกับคนหรือสิ่งที่คุณรักได้ยาวนานแค่ไหน แน่นอนคำตอบย่อมแตกต่างกันไปตามวาระและทัศนคติหรือแม้กระทั่งมุมมองของแต่ละคน เช่นเดียวกับ สมาน อู่งามสิน Main Halal ของเราฉบับนี้

เขาไม่ได้บอกเราหรอกว่า นิยามความรักของเขาคืออะไร หรือเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อคนหรือสิ่งที่เขารัก แต่จากการได้สัมผัสและพูดคุย เราขออนุญาตให้นิยามความรักแทนเขาว่า ความรักในนิยามของเขาคือการมั่นคงกับสิ่งที่รัก ไม่ว่าจะต้องพบเจอกับอะไรก็ตาม

อย่าเพิ่งตกใจไป เราไม่ได้จะมาชวนไปพูดคุยกับเขาเรื่องความรักที่เขามีต่อคนรัก แต่เราจะชวนเขามาพูดคุยถึงที่สิ่งหนึ่งที่เขาทำให้เราเห็นและมั่นใจว่า เขารักสิ่งๆ นั้นไม่น้อยไปกว่าใคร

“หนังสือ” คือสิ่งที่เขารัก และรักมากจนอุทิศบ้านหนึ่งหลังให้กับการเก็บสะสมหนังสือมากมายจากหลายยุคสมัย หนังสือเก่า หนังสือหายาก หรือจะเป็นหนังสือที่นักสะสมหลายคนตามหา สมาน มีอยู่แทบทุกเล่ม

สมาน อู่งามสิน เกิดและเติบโตริมแม่น้ำเจ้าพระยา วิ่งเล่นและเรียนรู้ในรั้วมัสยิดบ้านอู่ ย่านตลาดบางรักมาตั้งแต่เด็ก  ถึงแม้จะเป็นมุสลิมกรุงเทพฯ แต่สมานก็ไม่ปฏิเสธว่าตัวเขาเองเป็นหนึ่งในลูกหลานของชาวปัตตานีที่ถูกกวาดต้อนมาเมื่อคราวแพ้สงคราม

สมานเริ่มเรียนประถมที่โรงเรียนวัด จากนั้นย้ายมาเรียนมัธยมต้นที่อันยุมันอิสลาม ก่อนจะไปเรียนอีก 3 ปีที่อัสสัมชัญพาณิชย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนคริสเตียนสามโรงเรียน สามศาสนา ไม่ได้ทำให้สมานกลายเป็นเนื้อเดียวกับศาสนาอื่น ศรัทธาของเขายังคงเข้มแข็งอยู่กับอิสลาม และเช่นเดียวกันมันก็ไม่ได้ทำให้เค้าแปลกแยกจากเพื่อนร่วมชั้นเรียนต่างศาสนิกแม้แต่น้อยหรือนี่อาจเป็นคำยืนยันว่า เราสามารถอยู่ร่วมกันได้แม้ว่าเราจะแตกต่างกัน

ระหว่างเรียนที่อัสสัมชัญพาณิชย์ สมานได้มีโอกาสเข้าร่วมกับกลุ่มนักศึกษาในเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ในเดือนตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของชีวิตที่ส่งผลให้เขากลายมาเป็นคนรักหนังสือในปัจจุบัน “วันที่เกิดเหตุการณ์คือวันที่ 13 ผมชักชวนเพื่อนๆให้ไปธรรมศาสตร์ แต่ไม่มีใครเอาด้วย ตอนนั้นผมอายุ 18 – 19 ปี ออดโรงเรียนมันก็ดังกริ๊งๆให้เข้าห้อง แต่ผมตัดสินใจแล้วว่าจะต้องไป ก็เลยหนีโรงเรียน ใส่กางเกงสีขาวเสื้อแขนยาวสีขาวผูกเนคไทสีน้ำเงิน หล่อเนี้ยบไปเลย นั่งรถเมล์ไปสนามหลวงคนเดียว แต่หลังจากนั้นทางโรงเรียนเขาก็จัดรถพานักเรียนมาร่วมชุมนุม คือมากันทั้งโรงเรียน มากันอย่างเป็นทางการ”

สมานอาจบอกได้ไม่ชัดเจนว่า เหตุผลอะไรที่ทำให้เด็กอัสสัมชัญพาณิชย์ที่สอนให้เป็นนักธุรกิจและทำการค้าอย่างเขา ตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ เขาเพียงแค่รู้สึกว่ามีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น และเขาต้องทำบางอย่างเท่าที่จะทำได้ “สิ่งที่เรารู้สึกอยู่ตอนนั้นคือมันไม่เป็นธรรม มันไม่ถูกต้อง แต่หากจะให้อธิบายออกมาในตอนนั้นคงอธิบายไม่ได้ ผมอายุแค่ 18 – 19 ยังไม่เข้าใจเรื่องการเมืองว่ามันคืออะไร แต่ผมเป็นคนเรียนศาสนา สิ่งที่เราได้จากการเรียนศาสนาในวัยเด็กก็คือ มันต้องรักษาความเป็นธรรม ผมรู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรมที่เห็นคนมีปืนจะเอาปืนไปยิงคนมือเปล่า มันไม่ถูกต้อง ถ้ามีวิถีทางที่เราจะช่วยได้ เราก็ต้องช่วย”

“คนที่เรียนธุรกิจ เขาจะสอนเราให้ทำธุรกิจให้มั่งคั่ง ให้เราห่วงตัวเองมากกว่าคนอื่น แต่ผมดันไปห่วงคนอื่นมากกว่าตัวเอง มันสวนทางกับที่เรียนมา มันคนละปรัชญากันเลยนะ มันเหมือนสายน้ำคนละสาย มันไปกันไม่ได้ เขาสอนให้เราเป็นอีกอย่างแต่เราไปทำอีกอย่างหนึ่ง ตรงนี้แหละที่ทำให้เราไม่เหมือนใครในโรงเรียน แล้วมันก็ส่งผลให้เราหันมาอ่านหนังสือและเก็บสะสมหนังสือมาจนถึงทุกวันนี้”

โฉมหน้าศักดินาไทย ของจิตร ภูมิศักดิ์ คือหนังสือเล่มแรกในชีวิตของสมาน เขาเริ่มอ่านมันช่วงปี พ.ศ.2516 และหลงใหลมันในทันที “ผมอ่านหนังสือเล่มนี้วันเดียวจบ วางไม่ได้ อ่านแล้วของขึ้น ทนไม่ได้กับเหตุการณ์แวดล้อมในสังคมในตอนนั้น”

เราได้ยินได้ฟังกันมานานกับประโยคที่ว่า คนไทยอ่านหนังสือปีละแค่ 7 บรรทัด ถึงแม้ในความเป็นจริงมันอาจจะไม่ได้น้อยนิดขนาดนั้น แต่แทบทุกคนก็ยอมรับความจริงว่า คนไทยยังอ่านหนังสือน้อยมากเมื่อเทียบกับบ้านเมืองอื่น และยิ่งกับสังคมมุสลิมที่วัฒนธรรมการฟังเข้มแข็งกว่าการอ่านด้วยแล้ว เชื่อเหลือเกินว่าปริมาณการอ่านหนังสือของคนมุสลิมก็คงยิ่งลดน้อยลงไปอีก

สมานให้ความเห็นว่าสังคมมุสลิมบ้านเรานั้นเติบโตมากับการฟังบรรยายศาสนธรรมมากกว่าการอ่านตำรับตำราวิชาการ ซึ่งในมุมของสมานเขามองว่า แค่การฟังอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ “ผมเห็นคนเขาชอบฟังบรรยายธรรม ฟังเสร็จแล้วเขามาคุยกัน ปรากฏว่าเขาเข้าใจไม่เหมือนกัน ก็ทะเลาะกันเอง ทั้งๆ ที่เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์คนเดียวกัน แต่เขาทะเลาะกันเอง เพราะฟังมาแล้วต่างคนต่างตีความไม่เหมือนกัน ซึ่งการตีความไม่เหมือนกันมันก็มีมาจากหลายสาเหตุ อาจจะมาจากพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกัน ทัศนคติอะไรหลายๆอย่างที่แตกต่างกัน คนหนึ่งบอกว่า ฉันฟังมาอย่างนี้ อีกคนบอกว่าไม่ใช่ ฉันฟังมาอย่างนี้”

“ผมมีความเห็นว่าคนที่ฟังการบรรยายมันไม่มีเครื่องมือในการตรวจสอบความถูกผิด เครื่องมือมันเป็นหนังสือ มันเป็น Textbook หนังสือที่เป็นความรู้ต่างๆ เช่น ฮาดิษบุคคอรี ฮาดิษมุสลิม ตำราต่างๆของอิสลามหรือว่าอีกหลายๆเล่มที่มีอยู่”

จากหนังสือเล่มแรกเมื่อปี พ.ศ. 2516 จวบจนถึงปัจจุบัน สมาน อู่งามสิน กล้าพูดได้ว่า เขาเป็นหนึ่งในคนที่เก็บสะสมหนังสือไว้มากที่สุดในประเทศ หนังสือที่เขาสะสมมีตั้งแต่ตำรับตำราของศาสนาอิสลาม วรรณกรรม ปรัชญา การเมือง ไปจนถึงหนังสือหายากและเก่าแก่อายุนับร้อยปีหลายเล่มจนนับแทบไม่ถ้วน “ผมไม่รู้เลยครับว่ามีจำนวนที่แน่นอนกี่เล่ม หากนับตู้เก็บหนังสือก็มีอยู่ประมาณ 30 – 40 ตู้ และยังมีอยู่ในลังกระดาษที่ผมยังไม่ได้จัดระบบอีกก็มาก ผมว่าน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 10,000 เล่ม”

ซอเฮียะฮฺบุคอรี กับ ซอเฮียะฮฺมุสลิม พิมพ์หลายรอบ หมดเงินไปเยอะมาก พิมพ์ครั้งหนึ่งในเงินเป็นแสนเป็นล้าน แต่ได้เงินกลับมาครั้งละ 300 บาท มันเป็นเบี้ยวหัวแตก

หากใครยังนึกไม่ออกว่าหนังสือหมื่นกว่าเล่มที่อยู่ในตู้สามสิบถึงสี่สิบใบมันมากน้อยขนาดไหน ลองหลับตาแล้วนึกภาพบ้านขนาดร้อยกว่าตารางเมตรที่เต็มไปด้วยหนังสือทั้งหลัง เพราะสมานยอมสละบ้านตัวเองหนึ่งหลังให้กับหนังสือกองโตเหล่านี้ บ้านของสมานจึงเหมือนกับมีห้องสมุดขนาดใหญ่ส่วนตัวไว้ให้เลือกอ่านหนังสือภายในรั้วบ้านกันเลยทีเดียว “ตั้งใจมานานแล้วว่าจะทำเป็นห้องสมุด แต่ยังทำไม่ได้สักที เพราะผมไม่ได้คิดแค่นี้ ผมคิดไปถึงการทำเป็นศูนย์วัฒนธรรม ตั้งใจที่จะทำเป็นห้องสมุดที่เป็นระบบ แต่ว่าเราต้องการพื้นที่ มันต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินงาน แต่ไม่ว่าอย่างไรผมก็อยากจะทำ”

นอกจากห้องสมุดแล้วสมานยังมีความตั้งใจที่จะรวบรวมข้อมูลหนังสือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอิสลามและมุสลิมให้เป็นระบบเพื่อประโยชน์ในการค้นหาข้อมูลและการอ้างอิง ผมกำลังจัดระบบให้มันเป็นเรื่องเป็นราวเพราะว่าผมมีความใฝ่ฝันผมพยามจะรวบรวมหนังสือด้านศาสนา ด้านการเมือง รวมไปถึงปรัชญาและวรรณกรรม เพื่อใช้ในการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้สะดวก ตั้งใจจะทำให้เป็นแบบเอ็นไซโคลพีเดีย” สมานเริ่มเก็บข้อมูลและรวบรวมหนังสือต่างๆ มาแล้ว 3 ปี มีทั้งในส่วนที่เป็นเนื้อหา ในส่วนข้อมูลผู้เขียน และในส่วนข้อมูลของสำนักพิมพ์ โดยเขาตั้งใจจะรวบรวมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ “มันมีหนังสือดีๆที่เกี่ยวข้องกับอิสลามและมุสลิมจำนวนมากในสังคมไทยที่ยังไม่มีใครเก็บ ไม่มีใครดูแล บางครั้งมันก็ถูกทิ้งขว้าง บางคนก็ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามันเคยมี ผมเลยมีโครงการรวบรวมหนังสือเหล่านี้ให้เยอะที่สุดเท่าที่ผมสามารถจะทำได้”

                “ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อ 50 ปีก่อน เสฐียรโกเศศ มูลนิธิ เขาได้จัดพิมพ์หนังสือแปลจากภาษาอาหรับมาเป็นภาษาไทย แต่พวกเราไม่มีใครรู้เลยจนกระทั่งเขานำมา Reprint อย่างเช่น เรื่องโซไรดา อาหรับราตรี และอีกหลายๆ เรื่อง”

Main-Halal-19-03นอกจากจะเป็นนักอ่านและนักสะสมหนังสือตัวยงแล้ว สมานยังทำสำนักพิมพ์ของตัวเองอีกด้วย “ผมทำสำนักพิมพ์ ชื่อ อัล อีหม่าน ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2535 หนังสือเล่มแรกที่พิมพ์คือ ซอเฮียะฮฺ บุคอรี จากนั้นก็พิมพ์ ซอเฮียะฮฺ มุสลิม อีก 2 เล่ม” สำนักพิมพ์ของสมานจัดพิมพ์หนังสือตำรับตำราที่สำคัญในอิสลามหลายเล่ม รวมไปถึงงานกวีในโลกอิสลามที่ขายยาก “ผมพิมพ์บทกวีเยอะ เป็นงานแปล โดยส่วนตัวผมชอบบทกวี ทั้งๆ ที่รู้ว่าพิมพ์แล้วมันเจ๊ง ผมก็ยังอยากจะพิมพ์ ยังไม่คิดเลิก เพราะการพิมพ์หนังสือมันอยู่ในอุดมการณ์ มันอาจขายได้ช้าหน่อย เพราะเศรษฐกิจมันถดถอย แต่ผมก็จะยังคงพิมพ์ต่อไป”

                “ซอเฮียะฮฺบุคอรี กับ ซอเฮียะฮฺมุสลิม พิมพ์หลายรอบ หมดเงินไปเยอะมาก พิมพ์ครั้งหนึ่งในเงินเป็นแสนเป็นล้าน แต่ได้เงินกลับมาครั้งละ 300 บาท มันเป็นเบี้ยวหัวแตก”

สมานเป็นคนเอาจริงเอาจังมากในวงการหนังสือ ทั้งอ่าน ทั้งสะสม แถมยังจัดพิมพ์เองด้วยอีกต่างหาก และนอกจากจะเป็นความรักชอบส่วนตัวแล้ว สมานยังส่งต่อความรักที่เขามีต่อหนังสือให้กับคนอื่นๆ อีกด้วย โดยเขาได้ร่วมกับเพื่อนๆ ในเครือข่ายที่รักชอบหนังสือเหมือนกันในนามเครือข่ายเพื่อนหนังสือ จัดกิจกรรมปล่อยหนังสือขึ้นที่หอศิลป์กรุงเทพมหานคร “เราได้รับความร่วมมือกับสำนักพิมพ์และองค์กรต่างๆ มากมาย ในการนำหนังสือมาแจกให้กับทุกคนฟรีๆ ทุกคนจะได้หนังสือ Pocket Book คนละ 5 เล่ม และ Magazine อีกคนละ 10 เล่ม เอากลับบ้านไปเลยโดยไม่มีเงื่อนไข ขอเพียงแค่ว่าเมื่อคุณอ่านจบแล้ว คุณเบื่อ ให้เอามาคืนเรา เราจะได้นำไปแจกคนอื่นต่อ จัดมาทั้งหมด 12 ครั้ง”

นอกจากกิจกรรมปล่อยหนังสือที่จะส่งต่อความรักหนังสือให้ถึงมือคนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเดือนละครั้งแล้ว สมาน อู่งามสิน ยังเป็นร้านหนังสืออิสลามร้านเดียวที่ยังคงยืนหยัดในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ มาตลอด 20 ปี “ผมถือว่าผมทำหน้าที่ของผม ที่จะทำให้มุสลิมมีความรู้กลับไป ผมกล้าพูดเลยว่าถึงวันนี้ ที่ทำมา 20 ปี รวมแล้ว 40 ครั้ง ครั้งละประมาณ 10 กว่าวัน ผมเห็นการเปลี่ยนแปลง ผมเห็นมุสลิมสนใจอ่านหนังสือมากขึ้น จำนานผู้อ่านมากขึ้น” ฟังแล้วดูมีความหวังว่าวงการหนังสือมุสลิมบ้านเราคงจะเติบโตไปในทางที่ดีนับจากนี้ แต่โลกมันไม่สวยงามและง่ายดายขนาดนั้น ยุคสมัยของทุนนิยมมักโหดร้ายกับเราเสมอ ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้คนที่ทำเรื่องส่งเสริมสติปัญญาอย่างคนขายหนังสือ “และผมกล้าพูดได้อีกว่าที่ผมทำมาทั้งหมด 40 ครั้ง ผมไม่เคยได้กำไรเลย ขาดทุนมาตลอด แต่ผมก็ยังคงต้องทำ เพราะผมถือว่ามันเป็นหน้าที่ จะมีใครรู้บ้างว่าค่าใช้จ่ายของเรามหาศาล  ไหนจะค่าบูทก็หลายหมื่น ค่าใช้จ่ายจิปาถะก็อีกมาก ไหนจะไม่ได้หลับไม่ได้นอน  พักผ่อนไม่พออีก แถมยังมาเจอปัญหาคือคนเขายังอยากได้หนังสือในราคา 20 บาท 30 บาท เหมือนกับจินตนาการเดิมๆ อยากจะได้แบบสมัยของร้าน ส.วงศ์เสงี่ยม เมื่อหลายปีก่อน”

“หากถามว่าเหนื่อยไหม ตอบเลยว่าผมไม่เหนื่อย ผมมีความรู้สึกว่า ในเมื่อคุณไม่สนใจผม ผมก็ไม่สนใจคุณเหมือนกัน ผมก็จะทำในสิ่งที่ผมฝัน ผมฝันว่าผมจะเก็บหนังสือ เก็บไว้เพื่อที่จะนำมาเป็นหลักฐานในประวัติศาสตร์ ฝันว่าจะทำห้องสมุด ฝันว่าจะจัดพิมพ์หนังสือดีๆ ส่วนใครจะอ่านหรือไม่อ่านก็เป็นเรื่องของเขาแล้ว ผมแค่อยากทำในสิ่งที่ตนเองชอบ ก็แค่นั้น”

เป็นเวลา 40 ปีแล้วนับจากหนังสือเล่มแรกที่สมาน อู่งามสิน หลงรักเป็น 40 ปีที่เขาอ่าน เขาสะสม เขาจัดพิมพ์ และพยายามส่งต่อความรักที่มีต่อหนังสือของเขาให้เพื่อนร่วมความคิดได้รู้สึกเช่นเดียวกับที่เขารู้สึก และคงเป็น 40 ปีที่ขมขื่นอย่างมีความสุข เพราะหากใครก็ตามที่ได้ทำในสิ่งที่รักสิ่งที่เชื่อและมั่นคงอยู่กับมัน ไม่ว่าจะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามมากขนาดไหน เขาย่อมมีความสุขไปกับสิ่งเหล่านั้นแน่นอน

ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้นผืนฟ้า มืดดับเดือนลับมลาย
ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน
ดาวยังพราย อยู่จนฟ้ารุ่งราง
(จากบางส่วนของเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา โดยจิตร ภูมิศักดิ์)

ที่มา : Halal Life Magazine ฉบับ 19

[bws_related_posts]

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน