fbpx

ครูแอยังไม่ตาย

วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พุทธศักราช 2548 มูลนิธิสันติชนได้มีการจัดงานวันสันติชนเหมือนดังเช่นเดือนเราะมะฏอนของปีก่อน ๆ แต่บรรยากาศของงานปีนี้ดูจะเหงาหงอยซึมเศร้า ประการหนึ่งอาจเป็นเพราะฝนที่เทหล่นลงมาตั้งแต่ตอนค่ำ อีกประการอาจเป็นเพราะ ครูแอ หรืออาจารย์อิสมาแอล วิสุทธิปราณี ไม่ได้มาบรรยายในงานเหมือนดั่งเคย เนื่องจากครูแอนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลรามคำแหง

แต่ก่อนจะปิดงานวันสันติชนในคืนนั้นโฆษกของงานก็ได้ประกาศข่าวการเสียชีวิตของ ครูแอ!

นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้เวลาก็ล่วงเลยมา 9 ปีแล้วที่ครูแอได้จากโลกไป

แต่คนบางคนไม่เคยตาย…

ครูแอ

ปี : พ.ศ. 2475 – 2500
สถานที่ : บ้านไม้ริมคลองตรงข้ามวัดหนองจอก – โรงเรียนอิสลามอนุเคราะห์

ครูแอ เกิดปี 2475 ที่บ้านไม้ตรงข้ามวัดหนองจอก พ่อของครูแอชื่อนายมุด เป็นมุสลิมที่มีบ้านเดิมอยู่ที่แบนชะโด ส่วนแม่ของครูแอชื่อนางทิม เป็นคนจีนที่เข้ารับอิสลามและได้รับการเลี้ยงดูมาตั้งแต่เด็ก ๆ จากโต๊ะมะห์ แม่ของนายอับดุลกอเดร์ นภากร (พ่อของ อ.ชาฟีอี นภากร)

ครูแอเป็นลูกคนที่หกในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 7 คน ชีวิตในวัยเด็กของครูแอค่อนข้างลำบาก เพราะพ่อเสียชีวิตตั้งแต่ครูแอยังเด็ก โต๊ะทิมแม่ของครูแอต้องทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัว และยึดอาชีพทำขนมขายมาเป็นรายได้หลักของครอบครัว ด้วยเหตุนี้เองครูแอจึงต้องช่วยแม่ทำงานทุกอย่างเพื่อหาเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว จวบจนเมื่อครูแออายุได้ 19 ปี โต๊ะทิมก็เอ่ยปากให้ครูแอไปเรียนศาสนา

แต่นายอิสมาแอล วิสุทธิปราณีในวัย 19 ปี กลับไม่คิดเหมือนแม่ เพราะฐานะที่ยากลำบากของครอบครัว ครูแอจึงอยากจะร่ำเรียนทางสามัญ เพี่อที่จะได้จบออกมาช่วยเหลือครอบครัวทำมาหากิน แต่โต๊ะทิมก็ตอบสั้น ๆ ว่า “จะมีกินหรือไม่มีกินก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าลื้อจะตายก็ให้ลื้อตายในศาสนาก็แล้วกัน”

ด้วยความที่เป็นคนรักแม่ ทำให้ครูแอยินดีทำตามความต้องการของโต๊ะทิมอย่างเต็มใจ โดยครูสอนศาสนาคนแรกของครูแอคือครูอับดุลฆอนี เปล่งผิว ครูสอนอัลกุรอานแถวทดคลองสิบสอง ส่วนครูคนที่สองคืออุสต๊าซดินดะรอวีย์แห่งปอเนาะดินดะรอวีย์ตับลีฆย่านตะเข้ขบ ซึ่งด้วยการคมนาคมที่ไม่สะดวกในสมัยนั้น ทำให้ครูแอต้องพายเรือไปเรียน

“ผมถามว่าเยาะฮฺไปอย่างไรจากหนองจอกนะแต่ก่อนไม่มีรถ เยาะฮฺบอกว่าพายเรือไป พายเรือจากหน้าวัดหนองจอกไปตะเข้ขบ ผมถามว่าแล้วเมื่อไหร่ถึงนะเยาะฮฺ เยาะฮฺบอกว่าครึ่งวัน ออกตีห้า ครึ่งวัน ตัดปลาเค็มไปหนึ่งคืบ กินวันละหนึ่งข้อ ห้าหกวันก็พอดีหนึ่งอาทิตย์แล้วก็กลับบ้าน กลับมาบ้านก็มาเอาปลาเค็มไปใหม่” อุมัร วิสุทธิปราณี บุตรชายคนโตบอกเล่าความมุ่งมั่นตั้งใจในการศึกษาหาความรู้ของครูแอ

จนเมื่อครูอีซา การีมี ศิษย์เอกของครูต่วน สุวรรณศาสน์ อดีตจุฬาราชมนตรี เข้ามาเป็นครูใหญ่โรงเรียนอิสลามอนุเคราะห์ที่กระทุ่มราย หนองจอก แล้วเปิดการเรียนการสอนระดับซานาวีย์ ครูแอจึงตัดสินใจกลับมาเรียนศาสนาที่โรงเรียนใกล้บ้าน

ครูที่โรงเรียนอิสลามอนุเคราะห์ประกอบด้วยครูอีซา การีมี ครูอิสมาแอล โพธิ์กระเจนหรือครูเขียวหวาน  และครูการีม รังสรรค์ ทั้งสามท่านนี้นับได้ว่าเป็นนักวิชาการอิสลามชั้นแนวหน้าในยุคนั้น จึงทำให้ในห้วงปี 2494 – 2500 โรงเรียนอิสลามอนุเคราะห์จึงกลายเป็นแหล่งผลิตนักเรียนศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคกลาง หนึ่งในนั้นก็คือนักเรียนที่ชื่ออิสมาแอล วิสุทธิปราณี

“ครูแอเป็นคนเรียนเก่ง หัวดี เวลาครูสอนหนังสือนะแกจะไม่ค่อยฟังเท่าไหร่ จะนั่งหลับ แกนั่งหลับ แต่ไปถามแกตอบได้ แกหลับตาตั้งใจฟัง แต่พอแกตื่นก็รู้ ที่ครูสอนมานี่ครูแอเก่งกว่าเพื่อน” อิหม่ามสไว สมาน อิหม่ามมัสยิดกลางจังหวัดนครนายก เพื่อนร่วมชั้นเรียบอกเล่าประสบการณ์ในห้องเรียนเดียวกับครูแอให้ฟัง

การเป็นคนเรียนเก่งของครูแอนั้น ส่วนสำคัญนอกจากการตั้งใจฟังในห้องเรียนแล้ว ก็คือการอ่านหนังสือก่อนไปเข้าห้องเรียน ลูก ๆ ของครูแอบอกว่าครูแอจะเล่าให้ฟังเสมอว่าตอนเช้าครูแอจะตื่นตั้งแต่เช้ามืดเพื่อมาช่วยแม่โม่แป้ง ซึ่งขณะที่โม่แป้ง ครูแอก็จะอ่านตำราศาสนาภาษายาวีไปด้วย เมื่อแม่ของครูแอทำขนมเสร็จ ครูแอก็มีหน้าที่พายเรือเอาขนมไปขาย ครูแอก็จะพายเรือไป ขายขนมไป แล้วก็อ่านหนังสือไปด้วย แม้ขณะตอนกลางคืน ครูแอก็จะเอากะลามาหนุนหัวแทนหมอน เมื่อใดที่หัวหล่นจากกะลาจนสะดุ้งตื่น ครูแอก็จะลุกขึ้นมาอ่านหนังสือทุกครั้ง

แต่ที่โรงเรียนอิสลามอนุเคราะห์ก็ไม่ได้ฝึกฝนครูแอแค่เพียงเรื่องความรู้ทางด้านศาสนาเท่านั้น แต่ที่นี่ยังบ่มเพราะทักษะการพูดในที่ชุมชนให้กับครูแอด้วย

“ก็เรียนฝึกพูดกับครูมัดยะมีน แม้นมินทร์ เพราะเขาเป็นครูสอนภาษาไทย กับครูมัด สุวินัย สองคนนี้พูดเก่ง เป็นโฆษก นักปราศรัย ครูแอก็ฝึกกับคนเหล่านี้ เรียนวิธีการพูด เรียนการเน้นแล้วขมวดเรื่อง การจัดเรื่องแล้วก็หามุมที่ให้เข้าใจง่าย ๆ” อ.อันวาร เจริญวงศ์ ข้าราชการบำนาญ เพื่อนนักเรียนสมัยที่โรงเรียนอิสลามอนุเคราะห์บอกเล่าถึงหลักสูตรนอกห้องเรียนที่ครูแอฝึกฝนทุกตอนเย็นหลังเลิกเรียน

ด้วยความที่เรียนเก่งและความสามารถในการพูด จึงไม่แปลกที่เมื่อเรียนอยู่ลำดับชั้นสูงขึ้น ครูแอจึงได้รับหน้าที่ให้ช่วยสอนนักเรียนชั้นปี 1 รวมถึงได้รับมอบหมายให้ออกไปบรรยายตามงานต่าง ๆ ที่เชิญนักเรียนของโรงเรียนอิสลามอนุเคราะห์ไปบรรยายศาสนา และเมื่อโรงเรียนอิสลามอนุเคราะห์ประสบปัญหาในการบริหารจนต้องหยุดการดำเนินงาน ครูอิสมาแอล โพธิ์กระเจน จึงมาเปิดโรงเรียนศาสนศึกษาหรือปอเนาะครูเขียนหวาน ศิษย์เอกอย่างอิสมาแอล วิสุทธิปราณี จึงได้ถูกชักชวนให้มาช่วยสอนหนังสือ แล้วชีวิตการเป็นครูของครูแอจึงเริ่มต้นอย่างจริงจัง

ครูแอ

ปี : พ.ศ. 2500 – 2517
สถานที่ : โรงเรียนศาสนศึกษาครูเขียวหวาน – โรงเรียนอิสลามอนุเคราะห์

ครูแอใช้ชิวิตเป็นครูในโรงเรียนทั้งสิ้น 17 ปี เจ็ดปีแรกเป็นครูน้อยที่โรงเรียนศาสนศึกษา แล้วอีกสิบปีเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนอิสลามอนุเคราะห์

ครูแอเป็นครูที่สอนหนังสือสนุก รวมไปถึงยังเป็นครูที่ใจดีและมีอัธยาศัยกันเองกับลูกศิษย์ด้วย จึงไม่แปลกที่นักเรียนทุกคนจะเฝ้ารอคาบเรียนที่จะได้นั่งเรียนกับครูแอ จึงไม่แปลกที่ถึงแม้จะเป็นวันหยุดเหล่านักเรียนก็จะมักมาขลุกอยู่ที่บ้านหน้าวัดอยู่เสมอ

ส่วนบทบาทของการเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนอิสลามอนุเคราะห์ โรงเรียนสอนศาสนาเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว ครูแอก็ได้ริเริ่มสิ่งต่าง ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นการสอนพูดภาษาอังกฤษ โดยที่ครูแอจ้างเจอรี่ วิลเลี่ยม อดีตทหารจีไอมาเป็นครูสอนติวเข้มให้บรรดาลูกศิษย์ แล้วยังมีการสอนพิมพ์ดีดและวิชาชีพต่าง ๆ นอกจากนั้นครูแอยังประสานงานกับอาจารย์ใหญ่โรงเรียนภักดีนรเศรษฐแล้วจัดให้มีการศึกษาผู้ใหญ่ (หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนในปัจจุบัน) ขึ้นครั้งแรกในเขตหนองจอกที่วัดหนองจอก ซึ่งนักเรียนรุ่นแรกก็จะเป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนอิสลามอนุเคราะห์เสียเกือบหมด

นอกจากบทบาทความเป็นครูสอนศาสนาแล้ว คนรุ่นก่อนยังรู้จักชื่อเสียงของครูแอในฐานะการเป็นนักบรรยายที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วสารทิศด้วย ฉายาครูแอลิ้นทองหรือสาลิกาลิ้นทอง เป็นเครื่องการันตีความสามารถในการบรรยายของครูแอได้เป็นอย่างดี

กิติศัพท์ของครูแอลิ้นทองนั้นทำให้งานน้อยใหญ่สมัยนั้นต้องมีครูแอไปบรรยาย เจ้าภาพแต่ละงานมักจัดครูแอให้บรรยายเป็นคนสุดท้ายเพื่อดึงให้คนอยู่งานจนจบ สถิติการบรรยายยาวนานที่สุดของครูแอคืองานแต่งที่บางบัวทอง ในงานนั้นครูแอบรรยายในหัวข้ออินนาลิลลาฮฺ การบรรยายเริ่มต้นตอนสามทุ่ม ตามกำหนดการการบรรยายจะเสร็จสิ้นไม่เกินห้าทุ่ม แต่ทุกครั้งที่ครูแอจะจบการบรรยาย คนฟังก็ร้องขอให้ครูแอพูดต่อ จนท้ายที่สุดการบรรยายไปเสร็จสิ้นตอนตีสาม !

และในยุคที่ลำตัดกำลังฮิตในประเทศไทยและคนมุสลิมเองก็นิยมชมมหรสพชนิดนี้ แต่เมื่อมีการจัดงานแล้วเปิดให้มีการบรรยายของครูแอประชันกับคณะลำตัด ปรากฏว่าผู้คนต่างเฮโลเลือกมาฟังบรรยายของครูแอลิ้นทอง ไม่มีใครไปดูลำตัดเลยซักคน !

นอกจากนั้นงานแต่งงานในสมัยก่อนที่จะมีการบรรยายศาสนาในคืนวันแรก ก่อนกำหนดวันงานทางเจ้าภาพก็จะมาถามครูแอก่อนว่าว่างวันไหน เพื่อที่จะจัดงานในวันที่ครูแอมีคิวว่างสามารถไปบรรยายในงานแต่งให้ได้ !

แต่ถึงแม้จะมีชื่อเสียงโด่งดังมากขนาดไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ครูแอไม่เคยหยุดก็คือการเรียน แม้จะสวมบทบาทการเป็นครูสอนหนังสือแล้ว ทุกเช้าก่อนสอนหนังสือที่โรงเรียนอิสลามอนุเคราะห์ ครูแอก็จะเลยไปนั่งเรียนตัวต่อตัวกับครูอิมรอน มะกูดี บัณฑิตหมาด ๆ จากมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ที่เพิ่งกลับมาเปิดโรงเรียนศาสนวิทยา ที่อยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนอิสลามอนุเคราะห์นัก รวมถึงการพายเรือไปเรียนกับครูอับดุลเราะห์มาน หมัดเซ็นแห่งปอเนาะแสนแสบ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านตะเซาวุฟในยุคนั้น และเมื่อปี 2511 เมื่อ อ.ชาฟีอี นภากร เดินทางกลับประเทศไทยหลังจากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรแล้ว ทุกวันอาทิตย์ครูแอก็จะนั่งรถเมล์จากหนองจอกไปยังบ้านของ อ.ชาฟีอี ที่กิ่งเพชรเพื่อไปศึกษาศาสนาเพิ่มเติม

แต่งานเลี้ยงก็ย่อมมีวันเลิกรา สรรพสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ชีวิตช่วงนี้ของครูแอได้เกิดการเปลี่ยนแปลงสองประการ ประการแรกคือการย้ายบ้านจากหน้าวัดหนองจอกไปเช่าที่ปลูกบ้านอยู่ตรงด้านข้างไปรษณีย์หนองจอก ประการที่สองโรงเรียนอิสลามอนุเคราะห์ต้องปิดตัวลง

ครูแอ

ปี : พ.ศ. 2517 – 2548
สถานที่ : มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย  – มูลนิธิสันติชน

สถาบันนักศึกษาผู้ใหญ่ธรรมอิสลามก่อตั้งอย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อปี 2517  ท่ามกลางสถานการณ์เสรีภาพเบ่งบานหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 โดยมี อ.ชาฟีอี นภากร และ อ.อิสมาแอล วิสุทธืปราณี เป็นวิทยากรประจำสถาบัน ด้วยความเป็นนักบรรยายที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่เดิมของครูแอ บวกกับความรู้ที่ได้รับเพิ่มเติมจากอาจารย์ชาฟีอี นภากร ครูแอกับครูอีจึงตัดสินใจขึ้นเวทีบรรยายร่วมกันในรูปแบบการสนทนาธรรม

“เขาก็บอกว่าเอางี้ เราออกแบบพระกัน พระเขามีสนทนาธรรม เขาโยนกันไปโยนกันมา มึงโยนถามกูโยนตอบ ครูอีจะเป็นคนถามเป็นคนเถียง ครูแอก็จะยกกุรอานยกหะดีษฟันเลย ครูอีแกมองเห็นว่าครูแอเขามีลีลาการตอบสนุก คนไม่เครียด คนฟังแล้วไม่โมโห” ฮัจยีอับดุลมะนัฟ นภากร พี่ชายของ อ.ชาฟีอี บอกเล่าที่มาที่ไปของสไตล์การบรรยายที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนั้น

นอกจากการบรรยายที่ฟังสนุกและได้ความรู้แล้ว ระบบการจัดการแบบกระจายอำนาจด้วยการสร้างเขตการศึกษาไปตามชุมชนต่าง ๆ ของสถาบันนักศึกษาผู้ใหญ่ธรรมอิสลามก็มีผลทำให้ครูแอและครูมีลูกศิษย์ลูกหาทั่วบ้านทั่วเมือง รวมไปถึงการที่ประเสริฐ มัสซารี ได้ริเริ่มจัดการวิทยุเพื่อสันติชนในปี 2524 ก็ได้ชักชวนสองอาจารย์นักบรรยายไปเป็นวิทยากรประจำรายการด้วย ก็ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของคู่หูแออีได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ

จนกระทั่งปี 2527 ครูแอก็ประสบปัญหาบ้านข้างไปรษณีย์หนองจอกถูกยึดที่ดิน รวมทั้งการถูกโจมตีในหลากหลายเรื่อง บางครั้งเลยเถิดไปถึงขึ้นว่าครูแอรับเงินชีอะฮ์ ครูแอที่ทำงานศาสนามาทั้งชีวิตจึงเริ่มเบื่อหน่ายสังคมมุสลิม จนกระทั่งตัดสินใจจะเลิกบรรยายศาสนา แล้วหันไปทำอาชีพเกษตรกรที่ไร่ในอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

ผู้ที่ช่วยเหลือการงานของอัลลอฮฺ พระองค์ก็จะช่วยเหลือเขา สำหรับครูแอที่ทุ่มเทมุมานะกับการการแผ่อิสลามาตลอดชีวิต เมื่อประสบปัญหาจนทดท้อใจ แต่ในท้ายที่สุดอัลลอฮฺก็ช่วยคลี่คลายปัญหาให้ ครูแอได้ที่พักใหม่เป็นตึกแถวในซอยรามคำแหง 53 จากนั้นตำนานของครูแอและมูลนิธิสันติชนก็เปิดศักราชขึ้นในปี 2527

ครูแอกลายเป็นนักวิชาการประจำสถาบันสันติชนที่มีการเรียนการสอนทุกวันอาทิตย์ที่มูลนิธิสันติชน และมีคิวบรรยายยาวเหยียดตลอดปี

ครูแอกลายเป็นโต๊ะครูที่อัดเสียงบรรยายศาสนาผ่านเทปคาสเซ็ตมากที่สุด ยอดขายทั่วประเทศเดือนละกว่าแสนตลับ

เทปบรรยายครูแอยังถูกแจกไปทั่วประเทศ โดยคุณมนตรี มุขตารี นักธุรกิจบ้านจัดสรรในยุคนั้นได้ทำการแจกจ่ายไปยังบุคคล องค์กร โรงเรียนและมัสยิดที่ทำจดหมายขอมาจากทั่วประเทศ

ครูแอสอนอิสลามเข้าใจง่ายจนมีนักศึกษาต่างศาสนิกจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงมาฟังบรรยาย และเข้ารับอิสลามในท้ายที่สุด จนเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดโครงการอบรมผู้สนใจอิสลามที่มูลนิธิสันติชน และเมื่อนักศึกษามุอัลลัฟประสบปัญหาเรื่องทุนการเรียนเพราะครอบครัวไม่สนับสนุนเนื่องจากเปลี่ยนศาสนามาเป็นอิสลาม นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ครูแอประกาศตั้งกองทุนซะกาตของมูลนิธิสันติชนขึ้นมา

ครูแอเป็นคนคิดหลักสูตรสอนอ่านภาษาอาหรับภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งมุอัลลัฟที่เรียนจนจบหลักสูตร ก็จะสามารถมาเป็นครูสอนอัลกุรอานได้เลย

ช่วงเวลากว่า 20 ปีของครูแอกับมูลนิธิสันติชน นับได้ว่าสร้างคุณูปการมากมายให้กับสังคมมุสลิม แต่วันที่ 12 ตุลาคม 2548 ทุกคนก็ได้รับข่าวร้ายว่าครูแอป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล แต่แม้ยามป่วยไข้สิ่งที่ครูแอกังวลและนึกถึงก็คือภารกิจในการสอนศาสนา อ.อับดุลกอเดร หมัดนุรักษ์ อาจารย์โรงเรียนอิสลามสันติชนบอกเล่าเหตุการณ์ช่วงนั้นให้ฟังว่า

“ตอนนั้น อ.อิสมาแอลกำลังป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล คุณโยธิน ยะก๊บ ก็ไปเยี่ยมในตอนเช้า ก็ปรากฏว่า อ.อิสมาแอลได้พูดกับคุณโยธินว่า โยธินให้กอเดรไปสอนแทนฉันหน่อยที่มูลนิธิของหัจญะฮ์บี๋ (มูลนิธิสนธิอิสลาม) คุณโยธินก็มาบอกผม หลังจากนั้นเขาก็มาพาผมไป พอบรรยายเสร็จเรียบร้อยก็กลับมาบอกกับท่านอาจารย์ว่าผมไปทำอะมานะฮ์ตรงนี้ให้แล้วนะ ท่านก็พยักหน้า แล้วท่านก็หลับไปเลย”

ครูแอ

15 ตุลาคม พศ. 2548 – มิถุนายน 2557

“แกเหนียตสอนหนังสือจนวันตาย วันนั้นบังโยธินไปเยี่ยม แกยังพูดเลยว่า เดี๋ยวหายจากตรงนี้เสาร์หน้าแกก็จะไปสอนที่บ้านครัว” อิซซะห์ วิสุทธิปราณี ลูกสาวคนเล็กของครูแอบอกเล่าความตั้งใจของครูแอในวันที่กำลังอยู่ในห้องไอซียู แล้วอิซซะห์ก็บอกเล่าต่อไปอีกว่า

“แต่ทีนี้อาการของแกก็แย่ขึ้น ๆ บรรยากาศมันก็เริ่มเงียบ ๆ จนกระทั่งแกเสียประมาณห้าทุ่มเศษ ๆ แล้วทางนู้นก็โทรมาบอกว่าบรรยากาศในงานสันติชนวันนั้นมันเงียบ มันเศร้านะ”

วันรุ่งขึ้นข่าวการเสียชีวิตของครูแอก็แพร่กระจายผ่านรายการวิทยุภาคมุสลิม การละหมาดมีขึ้นสองรอบ รอบแรกที่มัสญิดสันติชน รอบที่สองที่มัสยิดอัลฮุดา หนองจอก หะซัน เอื้อฤาชา มุอัลลัฟที่ศึกษาศาสนากับครูแอจนเข้ารับอิสลามบอกเล่าความรู้สึกเมื่อเห็นร่างที่ไร้ชีวิตของครูแอให้ฟังว่า

“แกมีบารมีมากเลยนะ มัยยิตแก เหมือนมีรัศมีกระจายจากตัวแกเลย มัยยัตแกยิ้ม นอนยิ้ม ตอนที่เห็นมัยยัตครูแอ โอ้โฮ น้ำตาร่วงเลย ผมเดินออกเลย อินนาลิลลาฮ์เลย ทำอะไรไม่ถูก ใจหาย”

ครูแอ
มีคนบอกว่าครูแอยังไม่ตาย เพราะทุกวันนี้เรายังคงได้ยินเสียงบรรยายของครูแอผ่านช่องทางต่าง ๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นรายการวิทยุชุมชนอิสลามสันติชน วิทยุภาคมุสลิมหลายคลื่น  วิทยุเสียงตามสายในหลากหลายชุมชนมุสลิม รวมทั้งไฟล์เสียงที่แพร่กระจายไปตามเวบไซต์ต่าง ๆ  รวมไปถึงยังคงมีมุสลิมที่เปลี่ยนแปลงตัวเองเพราะฟังบรรยายครูแอ  และยังมีมุอัลลัฟที่เข้ารับอิสลามเพราะได้ฟังบรรยายของครูแอ แม้ในวันที่ครูแอเสียชีวิตไปแล้ว

“ผมมีโอกาสได้ไปเจอลูกสาวของครูแอโดยบังเอิญ คุยกับแกอยู่พักนึงแล้วแกก็ให้เทปคาสเซตมาม้วนนึง เป็นเทปของครูแอแต่ผมก็ยังไม่รู้จักครูแอหรอก ก็ไปนั่งฟัง ปรากฏว่าเป็นการบรรยายที่ฟังแล้วรื่นหูดี ฟังแล้วเข้าใจง่าย ๆ นั่นก็เป็นความรู้เรื่องอิสลามแรก ๆ เลยของผม ฟังแล้วรู้สึกดีกับอิสลาม” หะซัน ปาลาวัน มุอัลลัฟ พนักงานสถานีโทรทัศน์พอใจชาแนล

“วันหนึ่งเราก็ฟังครูแอจากวิทยุอิสลามสันติชนเพราะบ้านผมอยู่ซอยมหาดไทย จากที่ฟังก็เริ่มเข้าใจว่า เอ้ย มุสลิมมีอย่างนี้ด้วยเหรอ จากคำที่ครูแอพูดแล้วเราเข้าใจ ก็เลยเดินเข้าไปที่สันติชน มาสมัครที่โครงการผู้สนใจอิสลาม”   หะซัน อยู่ร่วม มุอัลลัฟพนักงานบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

“ตอนเป็นเชฟอยู่ที่ออสเตรเลีย เราก็เป็นคนหนุ่มที่ไปนู่นมานี่ตามอำเภอใจ พอมีเพื่อนคนหนึ่งที่มาจากถนนตก เขามาเที่ยวที่ออสเตรเลียเขาก็มาหา เขาบอกว่ามึงมีที่ละหมาดตรงไหนวะ เราก็บอกละหมาดที่บ้าน แต่ก็ไม่ได้ถี่นัก เพื่อนก็บอกลองฟังเทปของอาจารย์คนนี้ดู เทปของครูแอ พอเราฟังไปทุกวัน ๆ จากหน้านึง ชั่วโมงนึง กลายเป็นสองชั่วโมง กลายเป็นทั้งม้วนโดยที่ว่าเราไม่เบรกในการฟังเลย เรารู้สึกว่าเหมือนจะมีแบตที่เข้าไปชาร์ต เราเติบโตมากับในกลุ่มมุสลิม แต่ทำไมเรามาใช้ชีวิตกับพวกฝรั่งที่มันวัน ๆ นึงก็อยู่กับผับอยู่กับบาร์ เราก็เลยรู้สึกว่าเราเดินทางผิดแล้วนะ จากนั้นก็เลยเตาบัตตัว ตอนนั้นเราก็ยังไม่ได้ถามว่าครูแอบ้านอยู่ที่ไหน พอเรารู้สึกว่าเราอยากรู้จักเขา แล้วเราไปถาม เพื่อนก็บอกว่าครูแอเขาเสียชีวิตไปนานแล้ว” เชฟซอและฮ์ ยอมิน เชฟร้านเป็ดย่างตาลีบัน

ยังมีตัวอย่างอีกมากมายของผู้คนที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงผ่านเสียงบรรยายของครูแอ ครูแอในวันที่ปราศจากลมหายใจแต่ยังคงทำงานเผยแผ่อิสลามอย่างไม่เคยหยุดหย่อน

“นบีบอกว่าเมื่อลูกหลานของอาดัมตาย มีอยู่สามอย่างที่จะไม่ตายตามตัวไป ผลบุญจะตามเขาไปตลอด ไหลไปตลอด หนึ่งในสามอย่างนั้นก็คือความรู้ที่ยังประโยชน์ วันนี้ถ้าเราเอาคำสอนของครูแอนี่เอามาเผยแผ่ แน่นอนเหลือเกินผู้ที่มีส่วนในการทำจะได้รับผลบุญด้วย แล้วที่มากไปที่สุดก็คือครูแอ ที่ได้รับผลบุญอย่างต่อเนื่อง”  อ.รอซีกีน อีซา ผู้อำนวยการโรงเรียนอัลฟาติหะฮ์ ศิษย์รักอีกคนของครูแอบอกกล่าวทิ้งท้าย

ครูแอเคยบอกว่าจะสอนหนังสือจนวันตาย แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น จนวันที่ครูแอเสียชีวิตไปแล้วนับสิบปี ครูแอก็ยังคงสอนอิสลามให้แก่ผู้คนหลากหลายอย่างต่อเนื่อง

เพราะคนบางคนไม่เคยตาย แต่ยังคงเป็นตำนานที่ยังหายใจอยู่

เรื่อง: ดาวุด ลาวัง
ตีพิมพ์ใน: Halal Life Magazine ฉบับ 29

อ่านเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไร ?

About author View all posts Author website

Halal Life

Halal Life สื่อออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด และองค์ความรู้ที่ฮาลาล ผ่านเรื่องราว ผ่านมุมมอง และผ่านประสบการณ์ของหลากหลายผู้คน เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบฮาลาลเข้าไว้ด้วยกัน